อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต มูลค่าพุ่ง 5 แสนล้าน

กชสร โตเจริญธนาผล
กชสร โตเจริญธนาผล

แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารโลกเปลี่ยน ผู้บริโภคเน้นอาหารคุณค่าโภชนาการสูง ดีต่อสุขภาพ ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผู้ประกอบธุรกิจด้านการจัดแสดงสินค้าและกิจกรรมสำหรับการเจรจาธุรกิจระดับโลก เผยผู้ผลิตสินค้าอาหารไทยพร้อมปรับตัวรับเทรนด์ใหม่ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าสินค้าอาหารส่งออกไทยได้ 20-30% พร้อมรับการเติบโตปี 2570 ที่คาด “สินค้าอาหารแห่งอนาคต” จะมีมูลค่าแตะ 500,000 ล้านบาท

กชสร โตเจริญธนาผล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย และผู้จัดงาน ProPak Asia 2025 กล่าวถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food Industry) ว่าไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าอาหารสำคัญของโลก อุตสาหกรรมอาหารมีสัดส่วนถึง 24.6% ของ GDP

ข้อมูลจากสถาบันอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยว่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยปี 2567 มีมูลค่าถึง 1,638,445 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนสินค้าอาหารที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น

ได้แก่ ข้าว อาหารสัตว์เลี้ยง ปลาทูน่ากระป๋อง ซอส-เครื่องปรุงรส อาหารพร้อมทาน และผลิตภัณฑ์มะพร้าว ซึ่งจากข้อมูลจะเห็นว่าสินค้าอาหารส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโภคภัณฑ์ หรือแปรรูปขั้นต้นเท่านั้น

“หากต้องการพัฒนาคุณภาพ เพิ่มมูลค่า และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าอาหารไทย ก็ต้องก้าวสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต โดยมีกุญแจสำคัญคือนวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหาร (Food Innovation & Technology)”

ADVERTISMENT

อุตสาหกรรมแห่งอนาคตนั้น นอกจากตอบสนองผู้บริโภคที่ต้องการอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพแล้ว ต้องเพียงพอต่อประชากรโลก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย ปัจจุบันสัดส่วนของกลุ่มอาหารแห่งอนาคตไทยมีเพียง 11% ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมด

“หากนำนวัตกรรมมาพัฒนาแปรรูปจะสร้างมูลค่าการส่งออกอาหารได้เพิ่มถึง 20-30% โดยในปี 2570 คาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตของไทยจะมีมูลค่าถึง 500,000 ล้านบาท”

ADVERTISMENT

3 ผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคต

1.อาหารโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) เช่น เนื้อจากพืชและโปรตีนจากแมลง

2.อาหารเพื่อสุขภาพและชะลอวัย (Functional & Medical Food) เช่น อาหารเสริมโปรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ อาหารสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วย อาหารบำรุงสมองและภูมิคุ้มกัน

3.อาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Sustainable & Upcycled Food) เช่น อาหารจากโปรตีนสาหร่ายและจุลินทรีย์ อาหารจากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร อาหารที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Food Tech & Smart Food) เช่น อาหารที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

ด้าน เชษฐ เมฆทวีกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มที ฟู๊ด ซิสเทมส์ จำกัด ผู้นำเข้าเครื่องจักรในอุตสาหกรรมอาหารจากสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ สำหรับกลุ่มธุรกิจอาหาร เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม และอาหารสัตว์เลี้ยง เปิดเผยว่า

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว อย่างการใช้ระบบ Automation ทำให้กระบวนการผลิตดีขึ้น หรือระบบสนับสนุน Smart Factory 4.0 เช่น การเข้าถึงข้อมูลเครื่องจักร กระบวนการผลิต ทำให้ผู้ผลิตเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้ได้ต่อเนื่องในอนาคต

นอกจากทางบริษัทจะมีการนำเข้าเทคโนโลยีเครื่องจักรใหม่ ๆ มานำเสนอแก่ลูกค้าเพื่อปรับปรุงการผลิตแล้ว ยังมีการขยายธุรกิจไปในด้าน R&D สำหรับ Automation รวมถึง AI เพื่อรองรับตลาดในอนาคตต้องการลดต้นทุน การปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานในสายธุรกิจอาหาร

“การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตนั้น จำเป็นต้องนำข้อมูลด้านต่าง ๆ มาช่วยวิเคราะห์ ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นในการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจถึงแนวโน้มของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ”

อุตสาหกรรมอาหารยุคใหม่

อัคเซล อาร์ราส ประธานบริษัท เอฟพีที ฟู้ด โพรเซสส์ เทคโนโลจี จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการผลิตอาหาร เทคโนโลยีการแปรรูป เครื่องจักร วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ และโซลูชั่นที่ครบวงจรสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโต๊ะอาหารกล่าวว่า

แนวโน้มของอุตสาหกรรมอาหาร นอกจากจะมุ่งเน้นไปสู่ความยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และความปลอดภัยทางอาหารแล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตเป็นเป้าหมายของอุตสาหกรรมอาหารยุคใหม่

จำเป็นต้องลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา การนำโซลูชั่นและเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต การใช้ AI มาวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน และปรับปรุงประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางอาหาร การตรวจสอบย้อนกลับ และความยั่งยืนในการยกระดับมาตรฐาน คุณภาพ และเพิ่มมูลค่าสินค้าอาหารให้เป็นที่ต้องการของตลาดโลก

โดยในส่วนของการพัฒนานวัตกรรมของบริษัทนั้น ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เช่น ระบบติดตามแบบไร้กระดาษ i-Box RFID ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดของเสีย และรักษาคุณภาพอาหาร

ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้ถูกนำไปใช้ทั้งในอุตสาหกรรมการแปรรูปเนื้อสัตว์ การผลิตนม และการผลิตอาหาร นอกจากนั้น บริษัทยังได้ลงทุนในศูนย์วิจัยและพัฒนาที่ทันสมัยในสิงคโปร์ ในการพัฒนาอาหารแห่งอนาคตร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารจากสถาบัน Temasek

ผลจากการลงทุนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจอาหารไทย ในขณะเดียวกันก็มีส่วนร่วมในระบบอาหารที่ยั่งยืนมากขึ้นสำหรับอนาคต

สำหรับงาน ProPak Asia 2025 ได้ยกอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตมาเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญ เป็นเวทีให้ผู้ประกอบการอาหารและผู้ผลิตอาหารทางเลือก ผู้ผลิตวัตถุดิบ นักวิจัย ผู้พัฒนาเทคโนโลยี นักลงทุน และสตาร์ตอัพด้าน FoodTech ได้มีการสร้างเครือข่ายใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือและเพิ่มโอกาสเข้าถึงนักลงทุนและบริษัทอาหารที่สนใจในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต รวมถึงตลาดต่างประเทศในการขยายการส่งออกสินค้าอาหาร

ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเจ้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการผลิตที่ทันสมัยจากทั่วโลกมาร่วมจัดแสดงกว่า 2,000 ราย จาก 42 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีแปรรูปและการผลิตอาหาร (ProcessingTechAsia) เครื่องจักรอัตโนมัติ หุ่นยนต์ช่วยผลิต (Food Robotics) AI & IoT สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร

เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน (PackagingTechAsia) บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล Smart Packaging โซลูชั่นด้านความปลอดภัยอาหาร (Lab&TestAsia) ระบบตรวจสอบคุณภาพอาหาร พร้อมเปิด Future Food Corner ที่จะนำเสนอแนวโน้มและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโซลูชั่นที่เป็นตัวกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต