ไทยเตรียมดำเนินคดีพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐฯ ทวงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญกลับประเทศ

บอร์ดติดตามโบราณวัตถุฯเผยผลติดตามทับหลังปราสาทหนองหงส์-ทับหลังปราสาทเขาโล้นอยู่ในขั้นตอนเตรียมการดำเนินคดีกับพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา ทำหนังสือแจ้งสำนักสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิฯติดตามโบราณวัตถุ 32 รายการคืนสู่ไทย มอบกรมศิลป์ทำแผนปฏิบัติการ-บัญชีโบราณวัตถุที่หายไปจากไทยเพื่อติดตามกลับคืน

วันที่ 21 พ.ค. 2562 ที่ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ครั้งที่ 2/2562 ว่า ที่ประชุมได้รับรายงานความคืบหน้าการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบผลสรุปการรับคืนโบราณวัตถุกลับคืนสู่ประเทศ ช่วงรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี 2557- ปัจจุบัน มีจำนวนทั้งหมด 8 ครั้ง จากสหรัฐ 7 ครั้งและออสเตรเลีย 1 ครั้ง รวมโบราณวัตถุที่ได้รับคืนทั้งหมด 704  รายการ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรายงานคืบหน้าการติดตามโบราณวัตถุในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยที่เป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญได้แก่  ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว รวม 2 รายการที่จัดแสดง ณ Asian Art Museum เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ขณะนี้เข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอนของกฎหมายสหรัฐอเมริกาแล้ว โดยสำนักสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigation: HSI) สหรัฐอเมริกา ได้แต่งตั้งอัยการเพื่อเตรียมการดำเนินคดีกับ Asian Art Museum ที่มีรัฐบาลท้องถิ่นซาน ฟรานซิสโก เป็นผู้ดูแล

ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยได้ทำหนังสือถึงสำนักสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ  32 รายการ ประกอบด้วย ชิ้นส่วนโบราณสถานของไทย  5  รายการ เช่น ทับหลังจากปราสาทหินพิมาย เสาติดผนังและประติมากรรมรูปม้าจากปราสาทพนมรุ้ง และประติมากรรมกลุ่มประโคนชัย 18 รายการที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงโบราณวัตถุ 9  รายการที่จัดแสดง ณ Norton Simon Museum เพื่อติดตามกลับคืนสู่ประเทศไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้กรมศิลปากรไปจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยฯในช่วงที่ผ่านมา เพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี อีกทั้งให้กรมศิลปากรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการติดตามคืนโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย พร้อมกันนี้ให้จัดทำบัญชีโบราณวัตถุและศิลปวัตถุทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่มีข้อมูลและหลักฐานชัดเจนว่า มีแหล่งกำเนิดในประเทศไทยและสูญหายไปจากประเทศไทยและต้องติดตามกลับคืนสู่ประเทศไทยทั้งในรูปแบบของหนังสือและสื่อออนไลน์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก