รางวัลออสการ์ น่าเชื่อถือแค่ไหน?

Photo by Kevin Winter/Getty Images

Never Written : เรื่อง

รางวัลออสการ์ (Oscar) หรือรางวัลอะคาเดมี (Academy Awards) เป็นรางวัลทางภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยความเป็นรางวัลที่มีอายุเก่าแก่กว่า 90 ปี และเหล่าผู้ตัดสินที่เป็นสมาชิกใน The Academy of Motion Pic-ture Arts and Sciences (AMPAS) ล้วนเป็นบุคลากรในแวดวงภาพยนตร์ทั้งสิ้น จึงเป็นเครื่องการันตีว่า ภาพยนตร์ ผู้กำกับ นักแสดง ผู้เขียนบท และทีมงานเบื้องหลังต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัลออสการ์นั้นได้รับการยอมรับจากคนในวงการภาพยนตร์จริง

แต่ถึงอย่างนั้น รางวัลอันทรงเกียรตินี้ก็มีข้อกังขาในความน่าเชื่อถือหรือคุณภาพ เนื่องด้วยจำนวนสมาชิก AMPAS ที่มีจำนวนมาก แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่ากรรมการเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือ และมีความซื่อตรงมากพอในการโหวตให้คะแนน

มีข้อมูลจาก The Hollywood Reporter คาดการณ์ว่าในปัจจุบัน AMPAS มีจำนวนสมาชิกที่เป็นคนในวงการภาพยนตร์มากถึง 9,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับการประกาศรางวัลอื่น เช่น ลูกโลกทองคำ (Golden Globes) ที่มีผู้ตัดสินจากสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในฮอลลีวูดเพียง 93 คน หรือรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ที่มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพียง 8 คนเท่านั้น

แน่นอนว่ายิ่งมีผู้ตัดสินมาก ก็ยิ่งตรวจสอบยาก ทำให้ถูก “ล็อบบี้” ได้ง่าย มีข้อมูลจากเว็บไซต์ Vox สื่อจากประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า เหล่าสตูดิโอต่าง ๆ ในฮอลลีวูดลงทุนจ้างนักกลยุทธ์และที่ปรึกษาเพื่อโฆษณาและทำให้ภาพยนตร์ของตนเป็นที่คุ้นเคยในหมู่ผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียง หรือแม้กระทั่งการปล่อยฉายภาพยนตร์ในช่วงเวลาที่ใกล้จะมีการตัดสินรางวัลเพื่อความสดใหม่ในสายตาของผู้ตัดสิน ทำให้ภาพยนตร์มีโอกาสชนะรางวัลออสการ์มากขึ้น

Photo by Christopher Polk/Getty Images

ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2016 มีบทความจากเว็บไซต์ Variety ระบุว่า เหล่าสตูดิโอมีการใช้จ่ายเงินราว 3-10 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการล็อบบี้ผู้มีสิทธิออกเสียงใน AMPAS ให้เลือกภาพยนตร์ของตัวเอง และยังมีที่นิตยสาร The New York-er ยังลงบทความให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เงินในการล็อบบี้ผู้มีสิทธิออกเสียงการโหวตรางวัลออสการ์ว่าอาจมีการใช้เงินสูงถึง 15 ล้านดอลลาร์ และยังมีโบนัสให้อีกด้วย หากหนังได้รางวัล

อีกประเด็นที่น่าคิดคือ ในแต่ละปี หากนับเฉพาะภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่มีภาพยนตร์เข้าฉายเฉลี่ยถึงปีละประมาณ 700 เรื่อง ซึ่งหากมองในทางทฤษฎี ก็มีความเป็นไปได้ที่คนคนหนึ่งจะสามารถดูภาพยนตร์ได้ครบทั้ง 700 เรื่องเพื่อเลือกเรื่องที่ตัวเองเห็นว่าดีที่สุด แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เหล่าสมาชิกยังประกอบอาชีพในวงการภาพยนตร์ที่ต้องใช้เวลาและสมาธิในการทำงาน จะมานั่งชมภาพยนตร์ทั้ง 700 เรื่องให้หมดนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ แล้วการโหวตจะยุติธรรมต่อภาพยนตร์เรื่องอื่นที่ไม่ถูกรับชมได้อย่างไร ยังไม่นับว่ายังมีภาพยนตร์ที่ไม่ได้ผลิตจากฮอลลีวูดอีกนับพันเรื่องในแต่ละปี

ยิ่งไปกว่านั้น แม้กระทั่งภาพยนตร์ที่เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมยังมีสมาชิกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ชมภาพยนตร์ทุกเรื่องที่เข้าชิง ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 2014 สำนักข่าว Los Angeles Times ได้พูดคุยกับคณะกรรมการ 2 คนที่ไม่เคยชมภาพยนตร์เรื่อง “12 Years a Slave” แต่ก็ยังโหวตภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวให้ชนะไปตามกระแสเท่านั้น หรือในปี ค.ศ. 2015 มีผลสำรวจจาก The Hollywood Reporter ระบุว่า ราว 6% ของคณะกรรมการไม่เคยชมภาพยนตร์แม้แต่เรื่องเดียวที่เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนั้นเลย หรือแม้กระทั่งในงานประกาศรางวัลครั้งล่าสุด มีคณะกรรมการ 2 คนที่ลงคะแนนโหวตไม่เคยชมภาพยนตร์ในสาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยมเลย

Photo by Christopher Polk/Getty Images

 

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าคิดคือ ความไม่หลากหลายในการตัดสินรางวัล ทั้งด้านเชื้อชาติและเพศ ซึ่งเป็นที่มาของแฮชแท็ก #OscarsSoWhiteและ #OscarsSoMale

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเด็นความไม่หลากหลายทางเชื้อชาติเห็นได้จากจำนวนคนผิวสีที่เข้าชิงรางวัลออสการ์มีน้อย โดยเฉพาะในปีนี้ที่มีจำนวนน้อยมาก สวนทางกับ The USC Annenberg Inclusion Initiative ที่เปิดเผยว่า มีภาพยนตร์ถึง 31 จาก 100 เรื่องที่ทำรายได้สูงสุดในปี 2019 มีนักแสดงนำไม่ใช่คนผิวขาว ซึ่งเพิ่มขึ้น 14% จากปี 2018 และเพิ่มขึ้นถึง 138% จากในปี 2007 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการพูดคุยกันถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติของรางวัลออสการ์

ถึงแม้ว่าทางอะคาเดมีจะพยายามเพิ่มจำนวนสมาชิกเพื่อความหลากหลายมากขึ้น จนในปัจจุบันมีสมาชิกเพศหญิง 32% เพิ่มจาก 25% ในปี 2015 หรือสมาชิกที่เป็นคนผิวสี (รวมทั้งคนเอเชีย) ขึ้นมาเป็น 16% เพิ่มจาก 8% ในปี 2015 แต่ด้วยตัวเลขดังกล่าว ก็ยังคงแสดงให้เห็นว่าทางอะคาเดมีมีสมาชิกส่วนมากเป็นเพศชายและผิวขาวอยู่ดี และยังคงสะท้อนออกมาให้เห็นจากรายชื่อผู้เข้าชิงว่าออสการ์ยังคงเป็นพื้นที่ของคนผิวขาวอยู่เช่นเคย เพราะล่าสุด ผู้เข้าชิงในสาขาการแสดงหลักอย่างนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม และนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม สาขาละ 5 คน รวมเป็น 20 คนนั้น มีเพียง 1 คนเท่านั้นที่เป็นคนผิวสี คือ ซินเธีย เอริโว (Cynthis Erivo) จากภาพยนตร์เรื่อง Harriet อีก 19 คนที่เหลือเป็นคนผิวขาวทั้งสิ้น


อย่างไรก็ดี ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวไปเป็นเพียงแง่มุมอีกด้านของรางวัลออสการ์ ซึ่งแน่นอนว่าในทุกเวทีที่ต้องใช้ “มนุษย์” เป็นผู้ตัดสิน ย่อมต้องเกิดคำถามขึ้นมาถึงความน่าเชื่อถือเป็นธรรมดาอยู่แล้ว แต่ในภาพรวม รางวัลออสการ์ก็ยังคงเป็นรางวัลที่ผู้คนทั่วโลกติดตามและให้ความสนใจเช่นเคย