อาการของโรค “โควิด-19” จากไวรัสโคโรน่า 2019 เป็นอย่างไร

ภาพ: Lauren DeCicca/Getty Images

ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้เกิดผู้ติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจที่เรียกว่า “โควิด-19” (COVID-19) เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่จากคนสู่คนได้

เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ อาการ และ วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า เอาไว้ รวมถึงวิธีปฏิบัติตนเมื่อมีอาการป่วยในช่วงนี้

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิด โดยส่วนใหญ่ติดต่อผ่านทางละออกเสมหะ จากการไอ จาม น้ำมูก และน้ำลาย

ดังนั้น ประชาชนจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ผู้มีอาการป่วย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้น้ำยาแอลกอฮอล์ 60% ล้างมือ และไม่นำมือมาสัมผัสบริเวณตา จมูก และปาก

อาการ โควิด-19

ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก ระบุว่า อาการของผู้ป่วย โควิด-19 ส่วนใหญ่จะมีอาการ ดังนี้

  • มีไข้
  • มีอาการไอแห้งๆ
  • มีอาการหายใจลำบาก เหนื่อยหอบ
  • บางรายมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ

ทั้งนี้ อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด ได้แนะนำเพิ่มเติมว่า ผู้ได้รับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะเริ่มแสดงอาการออกมาภายใน 1-14 วัน โดยอาการเริ่มแรกส่วนใหญ่จะเริ่มจากมีไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจหอบเหนื่อย ถ่ายเหลวท้องเสีย หากผู้ป่วยมีร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ จะทำให้มีความรุนแรงถึงขั้นวิกฤตและเสียชีวิตได้

เมื่อมีอาการป่วย ควรทำอย่างไร

กรมควบคุมโรคแนะนำว่าผู้ที่มีอาการป่วยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ควรปฏิบัติดังนี้

  • ควรพักผ่อนอยู่ที่บ้าน งดเดินทาง หลีกเลี่ยงที่ชุมชน
  • ปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชู่ทุกครั้งที่ไอหรือจาม
  • ทิ้งกระดาษทิชชู่ลงในถังขยะทุกครั้ง
  • ทำความสะอาดเชื้อโรคบนสิ่งของ และผิวสัมผัสต่างๆ เป็นประจำ

นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีอาการป่วยหลังจากเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เหนื่อยหอบ ต้องไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง รวมถึงใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้อื่น

โรคนี้รุนแรงแค่ไหน

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ Hfocus.org ไว้เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ว่า จากข้อมูลที่มีอยู่ พบว่าผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง โดยมีเพียงประมาณ 15% ที่มีอาการขั้นรุนแรง ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ราว 2%


ทั้งนี้ นพ.ธีระ ได้กล่าวเสริมว่า แม้อัตราเสียชีวิตไม่มาก แต่ต้องป้องกันอย่างจริงจัง เนื่องจากพบว่ามีการติดต่อค่อนข้างง่าย และสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่แน่นอน