รู้จักโรค ฝีดาษลิง ผู้เชี่ยวชาญแปลกใจ ระบาดในกลุ่มคนที่ไม่เคยไปแอฟริกา

ฝีดาษลิง
Monkeypox, a disease (Cynthia S. Goldsmith, Russell Regner/CDC via AP)

จากกรณีที่ องค์การอนามัยโลก จัดประชุมฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 20 พ.ค. เพื่อหารือเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสฝีดาษลิงแล้วหลังจากพบการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวในยุโรปเกิน 100 รายแล้ว

แต่ผู้เชี่ยวชาญของไทยระบุว่า ไม่ควรตื่นตระหนกกับเชื้อดังกล่าว แต่ควรเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง รวมทั้งการนำสัตว์ต่างถิ่นเข้าสู่ประเทศไทย

วันที่ 20 พฤษภาคม บีบีซีไทย รายงานข้อมูลเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงจากข้อมูลของ หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขของไทย และองค์การอนามัยโลก

โรคฝีดาษลิงเกิดจากไวรัสฝีดาษลิง ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ แต่ว่ามีความรุนแรงน้อยกว่ามาก และผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ

ฝีดาษลิง
อนุภาคเชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพอกซ์วิริเด (Poxviridae) จัดอยู่ในจีนัสไวรัสออร์โธพอกซ์ (Orthopoxvirus) เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด เช่น ไวรัสวัคซิเนีย (vaccinia virus), ไวรัสฝีดาษวัว (cowpox virus), ไวรัสวาริโอลา (variola virus) เป็นต้น

เชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษคน หรือไข้ทรพิษ ส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ห่างไกลในประเทศทางตอนกลางและตะวันตกของทวีปแอฟริกา ใกล้บริเวณที่เป็นป่าดิบชื้น

โดยมีไวรัสสองสายพันธุ์หลักคือ แอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ส่วนใหญ่คนติดโรคฝีดาษลิงจากสัตว์ฟันแทะและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่มีโอกาสน้อยในการแพร่จากคนสู่คน

เผยออกอาการหลังติดเชื้อ12วัน

ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังติดเชื้อประมาณ 12 วัน อาการเบื้องต้นมีหลายอย่าง รวมถึง มีไข้, หนาวสั่น, ปวดหัว เจ็บคอ บวม ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ,ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลียและซึมเซา

เมื่อไข้ทุเลาลง อาจเกิดผื่นขึ้น มักจะเริ่มจากบนใบหน้าก่อน จากนั้นจะลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ส่วนใหญ่จะพบที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า

ฝีดาษลิง
This 1997 image provided by the CDC during an investigation into an outbreak of monkeypox in the Democratic Republic of the Congo (CDC via AP)

ผื่นนี้อาจจะมีอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง และมีการเปลี่ยนแปลงหลายขั้น ก่อนที่ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา รอยโรคนี้อาจทำให้เกิดแผลเป็นตามมา

อาการป่วยกินเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้

เชื้อฝีดาษลิงติดต่อกันอย่างไร

ฝีดาษลิงอาจแพร่กระจายได้เมื่อมีการเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางรอยแตกบนผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หรือผ่านทางตา จมูก หรือปาก

โรคฝีดาษลิง พบในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงรวมทั้งคนก็อาจติดเชื้อได้

คนสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ เป็นต้น

การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิด แต่มีโอกาสน้อยมากในการแพร่จากคนสู่คน

ยังไม่เคยมีการระบุว่า ฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่เชื้อโรคสามารถส่งต่อกันได้ผ่านการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

นอกจากนี้เชื้อโรคนี้ยังแพร่กระจายด้วยการสัมผัสกับวัตถุที่ปนเปื้อนไวรัสชนิดนี้ อย่าง ผ้าปูที่นอนและเสื้อผ้า

A patient, whose skin displayed a number of lesions due to what had been an active case of monkeypox.   (CDC via AP)

อัตราการตายสูงอยู่ในกลุ่มเด็กเล็ก

ผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง บางครั้งคล้ายกับอาการของโรคอีสุกอีใส (chickenpox) และหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์

ฝีดาษลิง อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้ในบางกรณี และเคยมีรายงานว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตมาแล้วหลายคนในแอฟริกาตะวันตก

โดยอัตราการตายสูงสุดอยู่ในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจสูงถึง10%

เคยระบาดบ่อยที่ไหน อย่างไร

มีการพบเชื้อไวรัสนี้ครั้งแรกในลิงที่ถูกขังไว้ และนับตั้งแต่ปี 1970 (พ.ศ.2513) มีรายงานการระบาดเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ใน 10 ประเทศของทวีปแอฟริกา

ปี 2003 (พ.ศ.2546) เคยมีการระบาดเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการพบโรคนี้นอกแอฟริกา คนไข้หลายคนติดโรคจากการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์คล้ายหนู ที่ติดเชื้อมาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กหลายชนิดที่มีการนำเข้ามาในสหรัฐฯ รวมแล้วมีรายงานผู้ติดเชื้อจำนวน 81 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต

ปี 2017 (พ.ศ.2560) ไนจีเรียเผชิญกับการระบาดที่มีหลักฐานบันทึกไว้ขนาดใหญ่ที่สุด ราว 40 ปี หลังจากที่ไนจีเรียพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงที่ได้รับการยืนยันรายสุดท้าย การระบาดครั้งนั้นมีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อราว 172 ราย และ 75% ของเหยื่อ เป็นผู้ชายอายุระหว่าง 21-40 ปี

ไม่มีวิธีรักษา-แต่มีวัคซีนป้องกัน

ขณะนี้ไม่มีวิธีรักษาฝีดาษลิง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วยการป้องกันการติดเชื้อ

การรับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคน ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ได้ผล 85% ในการป้องกันฝีดาษลิง และบางครั้งก็ยังคงมีการใช้วัคซีนนี้อยู่ มีรายงานว่า สเปนกำลังเตรียมสั่งซื้อวัคซีนโรคฝีดาษหลายพันโดสเพื่อป้องกันโรคฝีดาษลิง

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การได้รับวัคซีนหลังสัมผัสกับเชื้อโรคฝีดาษลิง อาจช่วยป้องกันโรคนี้ได้ หรืออาจทำให้มีความรุนแรงของโรคลดลง

This 2003 electron microscope image shows a monkeypox virion. (Cynthia S. Goldsmith, Russell Regner/CDC via AP)

ระบาดไม่เหมือนในแอฟริกา

ด้านสำนักข่าว เอพี รายงานคำกล่าวของ โอเยวาลี โมโมรี นักไวรัสวิทยา อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ไนจีเรีย และเป็นสมาชิกของหลายคณะกรรมการของ WHO ว่า ประหลาดใจมากที่ปรากฏว่าเชื้อระบาดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในหลายประเทศยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือ ส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มที่ไม่เคยไปทวีปแอฟริกามาก่อน ผิดจากเดิมที่พบว่าเชื้อจจะเกี่ยวข้องกับพื้นที่แอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตก

“ผมตะลึงมาก ทุกวันที่ตื่นขึ้น ผมจะได้เห็นข่าวว่า มีการพบเชื้อในประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น นี่ไม่ใช่ลักษณะการระบาดแบบที่เราเคยเห็นในฝั่งแอฟริกาตะวันตก” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

ทั้งนี้ ปกติแล้ว ที่ไนจีเรียจะพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง เฉลี่ยปีละ 3,000 คน ส่วนใหญ่ระบาดในพื้นที่ชนบทที่ชาวบ้านใกล้ชิดกับหนูและกระรอก


ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่พบเชื้อแล้วในอังกฤษ สเปน โปรตุเกส อิตาลี สหรัฐอเมริกา สวีเดน แคนาดา จากนั้นเมื่อวันศุกร์ที่ 20 พ.ค. พบเพิ่มที่ ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม ไปจนถึงประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิกอย่าง ออสเตรเลีย

ด้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอังกฤษ ตรวจสอบอยู่ว่า เชื้อที่พบในสหราชอาณาจักรแพร่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ด้วยหรือไม่ พร้อมแจ้งให้หมอและพยาบาลตื่นตัวสำหรับกรณีต้องสงสัย แต่ยืนยันว่าความเสี่ยงที่จะระบาดในประชากรทั่วไปยังไม่มี