เยือนถิ่นสุราษฎร์ฯ ล่องเขื่อนเชี่ยวหลาน ไหว้พระธาตุไชยา กราบพุทธทาสภิกขุที่สวนโมกขพลาราม

โดย กนกวรรณ มากเมฆ ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์ – Spinoff

 

เมื่อเอ่ยถึง จ.สุราษฎร์ธานี แหล่งท่องเที่ยวที่ใครๆ ก็นึกถึงในทันทีก็คงจะเป็น “เกาะสมุย” ที่เที่ยวเชิงนิเวศที่มีชื่อเสียงของจังหวัด แต่อย่างที่รู้กันว่าอุปสรรคของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศก็คือฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงมรสุม ทำให้สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ทั้ง 4 จังหวัดในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ที่ประกอบไปด้วย จ.สุราษฎร์ธานี, ชุมพร, นครศรีธรรมราช และ จ.พัทลุง จัดแคมเปญ “มหาจตุธรรมธาตุแดนใต้” เพื่อนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวบนบกแห่งใหม่โดยใช้แนวทางท่องเที่ยว 4 พระบรมธาตุใน 4 จังหวัดเป็นแกน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ฝั่งอ่าวไทย โดยในครั้งนี้ ได้พาคณะเดินทางไปสัมผัสกับสุราษฎร์ธานีและชุมพร ซึ่งในตอนแรก ผู้เขียนจะขอเริ่มที่สุราษฎร์ธานีกันก่อน

เริ่มต้นจากสนามบินดอนเมืองในตอนเช้า เรานั่งเครื่องบินไปลงที่สนามบินสุราษฎร์ธานี ก่อนที่ไกด์ท้องถิ่นจะพาคณะของเราเริ่มต้นทริปด้วยการชมวิวธรรมชาติที่ไม่ใช่ท้องทะเลของสุราษฎร์กันที่ “เขื่อนรัชชประภา”

ใช้เวลาประมาณ 40 นาที รถมินิบัสพาเรามาหยุดอยู่ที่ท่าเรือริมเขื่อนรัชชประภา หรือที่หลายคนรู้จักกันอีกชื่อว่า “เขื่อนเชี่ยวหลาน” ซึ่งตั้งอยู่ใน ต.เขาพัง อ.บ้านตาขุน น้ำสีเขียวอมฟ้า รายล้อมไปด้วยภูเขา ทำเอาเราอดใจไม่อยู่ รีบลงไปที่ท่าเรือ ขอแตะน้ำเย็นๆ สักนิด ก่อนจะขึ้นเรือมุ่งหน้าสู่ “แพเดอะกรีนเนอรี่ พันวารีย์” ไปกินมื้อเที่ยงท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติโอบล้อมที่เขื่อนเชี่ยวหลานแห่งนี้

ระหว่างทางบนเรือ ทุกคนตื่นตาไปกับทัศนียภาพรอบด้านจนลืมอากาศร้อนจัดแต่ฟ้าครึ้มเหมือนฝนจะตกไปเสียสนิท น้ำสีเขียวเวอร์ริเดียนมองเพลิน ตัดกับภูเขาหินปูนมีต้นไม้สีเขียวแซมที่มีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ

มาถึงแพกรีนเนอรี่ ที่พักเงียบสงบในทำเลที่มีภูเขาโอบล้อมด้านหลัง มีน้ำของเขื่อนกว้างใหญ่เหมือนทะเลสาบอยู่ด้านหน้า นำเสนอเมนูมื้อเที่ยงต้อนรับพวกเราด้วยอาหารใต้อย่าง คั่วกลิ้งหมู, แกงไก่, ยำเส้นบุก ผสมกับอาหารที่กินได้ทุกคนอย่าง ปลาทอด ผัดผักรวม รสชาติกลมกล่อมทุกเมนูแบบไม่ต้องบรรยายมาก

อิ่มแล้วต่างคนต่างหามุมเก็บบรรยากาศสวยๆ กันเต็มที่ ก่อนจะมาฟังประวัติของเขื่อนเชี่ยวหลานที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้กักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน, ผลิตไฟฟ้า, บรรเทาอุทกภัย รวมไปถึงแก้ไขน้ำเสียและผลักดันน้ำเค็ม แต่สิ่งที่น่าสนใจคือระหว่างการสร้างเขื่อน ในช่วงที่ปล่อยน้ำเข้าสู่เขื่อน ที่เกิดเหตุการณ์น่าสลดใจ เมื่อการปล่อยน้ำเข้ามาทำให้สัตว์ป่าหลายชนิดที่อาศัยอยู่ในบริเวณอพยพไม่ทัน จึงมีสัตว์ป่าล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยที่แพเปิดคลิปวิดีโอวินาทีที่ “สืบ นาคะเสถียร” ช่วยกวางที่กำลังจะจมน้ำขึ้นมาบนเรือเพื่อทำ CPR แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตมันไว้ได้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง สร้างความหดหู่ใจให้เราเล็กๆ

ปัจจุบันนอกจากภารกิจของเขื่อนดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว เขื่อนเชี่ยวหลานยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง มีแพที่พักทั้งของรัฐและเอกชนให้บริการ ซึ่งของเอกชนก็ต้องมีรูปแบบตามข้อกำหนดของรัฐด้วย

จากแพเดอะกรีนเนอรี่ พันวารีย์ เรานั่งเรือไปยังจุดชมวิวยอดฮิตอย่างบริเวณ “เขาสามเกลอ” ที่มีภูเขาหินปูน 3 ลูก ตั้งเป็นแท่งเรียงกัน สวยงามจนได้รับฉายาว่าเป็น “กุ้ยหลินเมืองไทย”

ดื่มด่ำกับบรรยากาศธรรมชาติกันแล้ว เรานั่งเรือกลับไปที่ท่าเรืออีกครั้ง เพื่อเดินทางไปยังสถานที่อื่น เรียกได้ว่าเป็นทริปเขื่อนเชี่ยวหลานแบบสั้นๆ แต่ภาพความสวยงามของธรรมชาติยังตราตรึง จนคิดว่าเราจะต้องกลับมาที่นี่อีกครั้งเพื่อนอนค้างเห็บบรรยากาศหมอกยามเช้าที่เขื่อนให้ได้

จุดหมายถัดไปของเราอยู่ที่ “วัดถ้ำสิงขร” อ.คีรีรัฐนิคม ใช้เวลาเดินทางจากจุดลงเรือเขื่อนเชี่ยวหลานสักพัก ตัววัดอาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมาก แต่เรียกได้ว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง ด้วยพบโบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญหลายชิ้น ตั้งแต่ใบเสมาหินทรายที่อยู่บริเวณอุโบสถที่สร้างจากไม้ทั้งหลัง

ที่สร้างความตื่นตาให้กับเราทุกคนคือ เมื่อเดินเข้าไปบริเวณถ้ำภายในวัด นอกจากจะพบพระพุทธรูปปูนปั้นปางป่าเลไลยก์และพระพุทธรูปปางมารวิชัยลงรักดำประดิษฐานบนแท่นแล้ว ยังพบลวดลายจิตรกรรมฝาผนังบนเพดานถ้ำ และมีการนำถ้วยชามไปประดับงานจิตรกรรมด้วย นอกจากนี้ ภายในถ้ำยังแบ่งออกเป็นหลายคูหา พบเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายชิ้น เช่น หม้อสามขา, เครื่องมือขวานหินขัด และยังพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินกลางบริเวณโพรงถ้ำอีกด้วย

ส่วนด้านหน้าของปากถ้ำจะมีเจดีย์ก่ออิฐถือปูนเลียนแบบพระบรมธาตุไชยา ประดับตกแต่งด้วยเครื่องถ้วยชามทั่วทั้งองค์ เรือนธาตุเจดีย์มีซุ้มทิศ (ซุ้มจระเข้นำ) ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานห้ามสมุทร ปางห้ามญาติ และปางห้ามแก่นจันทน์ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง

เราใช้เวลาอยู่ที่วัดถ้ำสิงขรกันครู่ใหญ่ อากาศสุราษฎร์ฯเดือนกรกฎาคมเรียกว่าร้อนใช้ได้ ถึงแม้จะนั่งอยู่ในร่มไม้ แต่ก็มีเหงื่อซึมๆ ให้พอเหนียวตัว เป็นอากาศร้อนๆ ชื้นๆ เหมือนฝนจะตก แนะนำว่าพกมาพัดลมมือถือมาด้วยน่าจะดีมาก

หนีความร้อนเข้าไปพักผ่อนในตัวเมืองสุราษฎร์ฯ ก่อนที่เช้ามาจะไปกินเมนูมื้อเช้าของชาวใต้อย่าง “ติ่มซำ” โดยร้านที่เราไปกินมีชื่อว่า “เจ็กบั๊กแต้เตี๊ยม” อยู่ถนนดอนนก 7 เมนูคล้ายๆ กับร้านติ่มซำอื่นๆ พิเศษกว่าคือแทนที่จะให้เราจิ้มกับจิ๊กโฉ่ว ที่ร้านแนะนำให้เราจิ้มน้ำจิ้มของที่ร้าน ออกคล้ายๆ ซอสพริก แต่ส่วนตัวเราชอบจิ๊กโฉ่วมากกว่า

มาดูเมนูที่เราสั่งกันมาบ้าง นอกจากขนมจีบและซาลาเปาแล้ว อื่นๆ เรียกว่าอะไรบ้างเราก็เรียกไม่ถูก แต่กินได้หมดทุกอย่าง ส่วนรสชาติกลางๆ ไม่ถึงกับอร่อยตราตรึงแต่ก็ใช้ได้ทีเดียว สนนราคาอยู่ที่เข่งละ 15 บาท ใครไปสุราษฎร์ธานีก็อย่าลืมแวะไปชิมกันได้

อิ่มท้องแล้วก็เดินทางสู่จุดหมายของแรกของเราในวันนี้ที่ “สวนโมกขพลาราม” หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดธารน้ำไหล” ตั้งอยู่ใน อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เป็นวัดที่ “ท่านพุทธทาสภิกขุ” (พุทธทาส อินทปัญโญ) สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

เดินเข้ามาภายในสวนโมกข์ บรรยากาศร่มรื่น เย็นสบาย แวดล้อมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ มีนักเรียน ประชาชน แวะเวียนมาที่นี่หลายคนทีเดียว เราเดินทางไปพบ “พระประสิทธิ์ ปสิทธิโถ” ซึ่งท่านได้เล่าประวัติของสวนโมกขพลารามให้ฟังว่า เกิดขึ้นจากแนวคิดของ “ท่านพุทธทาสภิกขุ” ที่ระหว่างศึกษาอยู่ที่กรุงเทพฯ ในปลายปี พ.ศ.2474 มีแนวคิดต้องการจะสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมขึ้น เพื่อส่งเสริมความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา จึงปรึกษากับน้องชาย และตกลงกันว่าพื้นที่ อ.ไชยา น่าจะเหมาะสม จึงออกหาสถานที่จนมาพบกับวัดร้างชื่อวัดตระพังจิต เป็นบริเวณที่มีป่ารก มีต้นโมกและต้นพลาเป็นพืชเด่น จึงนำมาตั้งเป็นชื่อสถานที่แห่งนี้

พระประสิทธิ์ ปสิทธิโถ

พระประสิทธิ์พาเราชมสถานที่ต่างๆ ในวัด ไม่ว่าจะเป็นกุฏิของท่านพุทธทาส ม้านั่งประจำของท่านพุทธทาส และใช้ในการเทศนาธรรมให้แก่ผู้ที่แวะเวียนมา นอกจากนี้ ยังมีห้องที่ท่านเคยพักขณะอาพาธ รวมไปถึงห้องที่ท่านมรณภาพด้วย ก่อนจะพาเราไปศาลาธรรมโฆษณ์อนุสรณ์ ที่รวบรวมผลงานหนังสือของท่านพุทธทาส พร้อมกราบสักการะพระพุทธรูปในศาลา ที่ใต้ฐานมีอัฐิของท่านพุทธทาสอยู่ด้วย

เสร็จแล้วเราเดินผ่าน ลานหินโค้ง ซึ่งเป็นลานที่ใช้จัดกิจกรรมของวัด ทั้งทำบุญใส่บาตรหรือบรรยายธรรม เป็นต้น

มาถึงจุดสุดท้ายของสวนโมกขพลาราม ที่ถือเป็นอีกจุดสำคัญ กับส่วนที่เรียกว่า “โรงมหรสพทางวิญญาณ” เป็นอาคารที่มีความแปลกและน่าสนใจไม่น้อย เพราะภายในเต็มไปด้วยภาพวาดสอนธรรมะและภาพปริศนาธรรมต่างๆ ที่เราพบพระภิกษุคอยอธิบายธรรมะจากภาพเหล่านั้น ไขข้อกระจ่างความสงสัยให้กับผู้เข้าชมได้เป็นอย่างดี

ออกจากโรงมหรสพทางวิญญาณ เราเดินสูดอากาศในบริเวณวัด รอบๆ เต็มไปด้วยป้ายข้อคิดและธรรมะจากท่านพุทธทาส หลายชิ้นสอนใจ หลายชิ้นเตือนสติเราได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเองจะ “เปิดใจ” มากน้อยแค่ไหนด้วยเช่นกัน

เรากราบลาพระประสิทธิ์ และออกเดินทางสู่จุดหมายถัดไป ที่เป็นจุดหมายหลักของทริปนี้อย่าง “วัดพระบรมธาตุไชยา” ที่ห่างจากสวนโมกข์ไม่ไกลนัก

ถึงที่วัด เราถอดรองเท้าและเข้าไปในบริเวณพระบรมธาตุ พบกับ “กรวิชญ์ ผ่องฉวี” ยุวมัคคุเทศก์เมืองไชยา ที่เล่าข้อมูลของวัดพระบรมธาตไชยาให้ฟังว่า เป็นโบราณสถานที่สำคัญของ จ.สุราษฎร์ธานี โดยเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เลื่อนชั้นเป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ.2500 ซึ่งในสมัยนั้นมีพระธรรมโกศาจารย์ หรือพุทธทาสภิกขุ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส โดยให้รองเจ้าอาวาสดูแลวัดนี้แทน

ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญคือองค์พระบรมธาตุไชยา สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.1300 ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนาในนิกายมหายาน ปัจจุบันพระบรมธาตุมีอายุประมาณ 1,200 กว่าปี ที่สำคัญคือถือเป็นพระบรมธาตุองค์เดียวของประเทศไทยก็ว่าได้ ที่มีความสมบูรณ์ในลักษณะที่ยังเป็นองค์เดิม คือยังไม่ถูกสร้างครอบ และยังไม่พังทลาย

ภายในพระบรมธาตุไชยานั้นบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามตำนานเล่าต่อกันมาว่า บริเวณนี้เคยเป็นสระบัวมาก่อน ล้อมรอบด้วยนาข้าว ซึ่งจะมีชาวนาเอาวัวมาผูกไว้ให้กินหญ้า จนกระทั่งช่วงหน้าแล้งที่น้ำลดลง ปรากฏว่ามีซากปรักหักพังต่างๆ ปรากฏขึ้นมาเหนือผิวน้ำ มีวัตถุคล้ายแผ่นกะลามะพร้าวอ่อนลอยอยู่เหนือผิวน้ำ ซึ่งเชื่อกันว่าสิ่งนั้นคือพระบรมสารีริกธาตุ ชาวบ้านจึงร่วมกันนำเอาต้นผักบุ้งที่ขึ้นอยู่รอบสระบัวผูกเป็นเชือกต่อกัน แล้วคล้องพระบรมสารีริกธาตุนั้นไว้ เพื่อแสดงให้รู้ตำแหน่งว่าอยู่ตรงนี้ ต่อมาจึงร่วมกันสร้างพระบรมธาตุองค์นี้ ครอบพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งจะตรงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือหลักฐานทางวิชาการที่ว่าการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในยุคโบราณจะกระทำเหมือนกับอินเดียโบราณ คือ จะมีการเตรียมพื้นที่ที่จะสร้างพระธาตุเจดีย์ไว้ก่อน และอาจจะมีการทำเป็นเนินดินหรือขุดเป็นหลุมลงไป และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และเครื่องพุทธบูชา เครื่องหอมต่างๆ ประดิษฐานวางลงไป แล้วจึงปิดปากหลุม แล้วสร้างฐานเจดีย์ทับลงตรงนั้น

ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุชิ้นส่วนได้อย่างชัดเจนว่าพระบรมสารีริกธาตุเป็นชิ้นส่วนไหน เนื่องจากลักษณะคล้ายกับชิ้นส่วนในร่างกายมนุษย์ 3 ส่วน คือ กะโหลกศีรษะ, กระดูกสะบักตรงไหล่ และกระดูกเชิงกรานตรงสะโพก

สิ่งที่พิเศษของพระบรมธาตุไชยาคือ มีวิธีการก่ออิฐที่พิเศษ ที่เรียกว่า “ก่ออิฐแต่ไม่สอปูน” คือการนำอิฐขึ้นมาก่อ แล้วขัดผิวให้เรียบเสมอกัน จากนั้นใช้ยางไม้ทาลงไปเป็นกาวเพื่อเชื่อมอิฐแต่ละแผ่นให้ยึดติดกัน โดยที่อิฐแต่ละแผ่นจะผสานกันแบบไม่เห็นรอยต่อ ซึ่งปัจจุบันยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ายางไม้ที่ใช้เป็นยางไม้อะไร ทั้งนี้ จะเจอลักษณะการก่ออิฐแบบนี้ได้ที่อาคารบริวารที่ปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ส่วนปัจจุบัน มีการฉาบปูนลงไปที่องค์พระบรมธาตุไชยา แต่ช่างจะยังเผยให้เห็นบริเวณที่เป็นเนื้ออิฐเดิมอยู่

บริเวณองค์พระบรมธาตุไชยายังมีน้ำล้อมรอบ ซึ่งเกิดจากการขุดลอกส่วนฐานเดิมในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาภายหลังมีตาน้ำผุด ซึ่งตัวตาน้ำจะอยู่ในบ่อทองเหลืองสี่เหลี่ยมทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยน้ำตรงนี้จะใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รวมทั้งพระราชพิธีมหามงคลทั่วไป โดยใช้กันมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ซึ่งเวลาจะมีพระราชพิธี ทางวัดจะทำการขัดทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ

มองไปที่โดยรอบขององค์พระบรมธาตุ จะมีส่วนที่เรียกว่า “พระระเบียงคต” สร้างในสมัยกรุศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งมีพระพุทธรูปที่แกะสลักจากเนื้อศิลาทรายแดง หรือหินทรายแดง ลงรักและปิดทอง แต่ละองค์มีขนาดแตกต่างกัน ซึ่งพระพุทธรูปเหล่านี้เป็นพระพุทธรูปที่คนโบราณสร้างถวายเป็นพุทธบูชา โดยบ้านหลังหนึ่งก็สร้างถวายไว้องค์หนึ่ง เพื่อสืบทอดพระศาสนา และเชิญอัฐิของบรรพชนบรรจุไว้ที่ใต้ฐาน ตามความเชื่อที่ว่า หากลูกหลานมากราบพระ ก็เหมือนมากราบบรรพบุรุษด้วย ปัจจุบันเฉพาะในเขตพระระเบียงคต มีพระพุทธรูปอยู่ราว 180 องค์

ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ภายในบริเวณพระระเบียงคต ยังมีพระพุทธรูปที่เรียกว่าเป็นรูปแบบเฉพาะสกุลช่างไชยา คือ มีลักษณะที่ยอดพระเกศจะเป็นมวยผม และมีแผ่นคล้ายๆ ใบไม้หรือใบโพธิ์อยู่ข้างหน้ามวยผม จากปกติที่บริเวณเศียรพระพุทธรูปทั่วไปจะเป็นพระรัศมีเปลวเพลิง ซึ่งศิลปะแบบนี้ในประเทศไทยเราจะเจอที่ไชยาที่เดียวเท่านั้น

เต็มอิ่มกับเรื่องราวที่น่าสนใจกันแล้ว ยุวมัคคุเทศก์ของเราก็พาทุกคนสักการะพระธาตุพร้อมทำพิธีห่มผ้าพระธาตุด้วย โดยปกติงานห่มผ้าพระธาตุที่ถือเป็นงานใหญ่ของวัด จะจัดขึ้นในวันวิสาขบูชา

เราหามุมเก็บภาพกันอีกพักใหญ่ ก่อนจะเดินทางสู่จุดหมายถัดไปของทริปใน จ.ชุมพร เรียกได้ว่าทริปสุราษฎร์ธานีครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศภาพจำจากทะเล มาสู่เรื่องราวของศิลปะ วัฒนธรรม ธรรมะ และธรรมชาติ ที่น่าสนใจไม่แพ้ทะเลเลยทีเดียว ส่วนทริปในชุมพรจะเป็นอย่างไร ติดตามต่อได้ตอนหน้า