แล็บจีนโคลนนิ่ง “ลิง” ได้เป็นครั้งแรก! หวังใช้ศึกษาโรคในมนุษย์ นักวิทย์หวั่นไม่ถูกจริยธรรม

บีบีซีรายงานว่า ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ในประเทศจีน สามารถโคลนลูกลิง 2 ตัว ได้เป็นครั้งแรก โดยใช้เทคนิคเดียวกันกับการโคลนแกะดอลลี่

โดยลิงทั้งสองตัวเป็นลิงแสมชื่อจงจงและหัวหัว เกิดเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนในประเทศจีน

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ประชากรลิงที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกัน จะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยเกี่ยวกับโรคในมนุษย์ อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์หลายคนกล่าวว่า งานนี้ก่อให้เกิดความกังวลต่อจริยธรรม เนื่องจากเหมือนกำลังนำโลกเข้าใกล้การโคลนมนุษย์

เฉียง ซัน จากสถาบันประสาทวิทยาแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่า ลิงที่เกิดจากการโคลนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการเป็นโมเดลสำหรับศึกษาโรคที่มีพื้นฐานมาจากพันธุกรรม รวมทั้งมะเร็งบางชนิด และความผิดปกติของระบบเผาผลาญและระบบภูมิคุ้มกัน

“มีคำถามมากมายเกี่ยวกับชีววิทยาของไพรเมท ซึ่งจะสามารถศึกษาได้จากโมเดลใหม่นี้” เฉียง ซัน กล่าว

ทั้งนี้ จงจงมีอายุ 8 สัปดาห์ ส่วนหัวหัวมีอายุ 6 สัปดาห์ ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่า ตอนนี้พวกมันกำลังกินอาหารทางขวด และเจริญเติบโตปกติดี โดยคาดว่าจะมีลิงโคลนนิ่งเกิดอีกในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

ศาสตราจารย์โรบิน โลเวล-แบดจ์ จากสถาบันฟรานซิส คริก ในลอนดอน กล่าวว่า เทคนิคที่ใช้โคลนจงจงและหัวหัวยังเป็นขั้นตอนที่ไม่มีประสิทธิภาพและเป็นอันตราย ซึ่งงานชิ้นนี้ไม่ได้เป็นการก้าวไปสู่การสร้างวิธีการสำหรับการโคลนมนุษย์

ด้านศาสตราจารย์แดร์เรน กริฟฟิน แห่งมหาวิทยาลัยเคนต์ กล่าวว่า วิธีนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการเข้าใจโรคมนุษย์ แต่ก็เพิ่มความกังวลในเรื่องจริยธรรม

“การพิจารณาอย่างรอบคอบจำเป็นมากในขณะนี้ เพื่อกำหนดกรอบจริยธรรมของการทดลองดังกล่าว” ศาสตราจารย์กริฟฟินกล่าว

ทั้งนี้ แกะดอลลี่ที่นักวิทยาศาสตร์โคลนได้ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน เป็นผลงานของสถาบันโรสลินในเอดินเบอระ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์โคลนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยใช้ adult cell ที่นำมาจากเต้านม

จากนั้นก็มีการโคลนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นโดยใช้เทคนิคการถ่ายฝากนิวเคลียสของเซลล์ร่างกาย (somatic cell nuclear transfer technique) ซึ่งมีทั้ง วัว, หมู, สุนัข, แมว, หนูไมซ์และหนูแรท

ส่วนจงจงและหัวหัวถือเป็นไพรเมทที่ไม่ใช่มนุษย์ตัวแรกที่โคลนผ่านวิธีนี้