ปิดม่านชีวิต ชายผู้พลิกโลก “อิงวาร์ คัมพราด” ตำนานอีเกีย เฟอร์นิเจอร์กับชีวิตเเละมีทบอล

PHOTO : IKEA

เขาคือผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเเห่งศตวรรษ 20 ผู้บุกเบิกธุรกิจของตกแต่งบ้านที่เน้นการออกแบบ การใช้งาน ความสร้างสรรค์และราคาที่ไม่แพง จนเป็นที่รู้จักทั่วโลก

“อิงวาร์ คัมพราด” (Ingvar Kamprad) นักธุรกิจชื่อดังชาวสวีเดน วัย 91 ปี ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “อีเกีย IKEA” และธนาคาร Ikano เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านพักในเมืองสมอลันด์ เมื่อวันเสาร์ที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา

เส้นทางชีวิต เเนวคิดเเละการสร้างธุรกิจที่ไม่ธรรมดาของเขา…ได้กลายเป็นตำนาน จากเด็กขายไม้ขีดไฟในบ้านฐานะยากจน สู่เจ้าของแบรนด์ขายเฟอร์นิเจอร์สุดยิ่งใหญ่ สร้างอาณาจักร 400 สาขาใน 49 ประเทศทั่วโลก

เเม้จะมีมูลค่าทรัพย์สินส่วนตัวมากกว่า 58,700 ล้านเหรียญสหรัฐ เเต่คัมพราดก็มีภาพลักษณ์ว่าเป็นคนที่ใช้ชีวิตสมถะ เรียบง่ายเเละประหยัด เขาใช้รถยนต์เก่า 20 ปี ใส่เสื้อผ้าเเบรนด์ธรรมดา ใช้บริการสายการบินชั้นประหยัด พักในโรงแรมราคาถูก ชอบซื้อสินค้าลดราคา ไปจนถึงเเนะนำพนักงานให้ใช้กระดาษสองหน้า

“คนรู้จักผมในภาพของคนที่ประหยัดมากๆ และร้านอิเกียก็มีไว้เพื่อคนแบบผม” คัมพราดเปิดเผยกับนิวยอร์กไทมส์ในปี 1997 (อ่านที่นี่)

ส่วนความผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิตที่เป็นบาดเเผลในใจ คือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ว่าเขาเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรฟาสซิสต์ในสวีเดนซึ่งเชื่อมโยงกับนาซีในเยอรมัน ซึ่งตอนนั้นเขามีการติดต่อพิเศษกับ Per Engdahl ผู้นำขบวนการช่วงปี 1950 เเละเข้าร่วมประชุมเพื่อระดมทุนหลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม ต่อมาเขาออกมายอมรับว่ารู้สึกผิดเเละเป็นสิ่งที่โง่เง่าที่สุด พร้อมบอกว่าเขาได้รับอิทธิพลจากการมียายเป็นชาวเยอรมันที่อพยพมาที่สวีเดน ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เเม้การเปิดเผยครั้งนั้นจะทำให้มีชาวยิวออกมาต่อต้านอีเกีย เเต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อธุรกิจของเขามากนัก

อิงวาร์ คัมพราด ชายผู้รักสันโดษเเละเเทบจะไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ กับสื่อ เเต่ก็ไม่เคยปิดบังว่าตัวเองเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หลังเกษียณการทำงาน เขาเดินทางไปเยี่ยมสาขาอีเกียทั่วโลก เเละก็เเอบไปเป็นลูกค้าเพื่อสอบถามพนักงาน…

กำเนิดอีเกีย :  เด็กขายไม้ขีดไฟ สู่ธุรกิจพลิกโลก  

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น “อิงวาร์ คัมพราด” เกิดในปี 1926 ในเมืองทางใต้ของสวีเดน ครอบครัวมีอาชีพเกษตรกรรม เขาเริ่มฉายเเววเป็นพ่อค้าตั้งเเต่ 5 ขวบด้วยการขายเมล็ดพันธุ์พืช, ปากกา ,นาฬิกาเเละไม้ขีดไฟให้กับคนละเเวกบ้าน

พออายุได้ 17 ปีเขาเริ่มก่อตั้ง “อีเกีย” ในปี 1943 จากเงินรางวัลที่ได้จากพ่อ เนื่องในโอกาสที่เขามีผลการเรียนดี เเม้จะเผชิญความบกพร่องด้านการอ่านและเขียนด้วยการเป็นโรคดิสเล็กเซีย (Dyslexia)

ส่วนคำว่า “IKEA”  เป็นชื่อย่อจากตัวอักษรแรกของชื่อและนามสกุลของเขาคือ Ingvar Kamprad (IK) รวมกับชื่อฟาร์มที่เขาเติบโตมาคือ Elmtaryd (E) ซึ่งอยู่ในหมู่บ้าน Agunnaryd (A)

โดยคัมพราด ได้ใช้เงินของขวัญนี้ บวกกับเงินที่ได้จากการขายของจิปาถะ มาเป็นทุนเพื่อเริ่มทำธุรกิจขายสินค้าทางไปรษณีย์ เช่น ปากกา กระเป๋าสตางค์ กรอบรูป นาฬิกา เครื่องประดับ และถุงน่อง จนกระทั้ง 13 ปีหลังจากที่ก่อตั้งถึงเริ่มหันมาทำเฟอร์นิเจอร์แบบถอดประกอบ

เขาคิดจะขยายหมวดหมู่สินค้าที่วางจำหน่ายครั้งใหญ่ ในปี 1948 โดยว่าจ้างโรงงานในพื้นที่ให้ผลิตโต๊ะทานอาหารที่ถอดแบบมาจากโต๊ะทานอาหารของลุง เเละขายดีเกินคาดจึงเห็นโอกาสที่จะเปิดร้านขายของเเต่งบ้านอย่างจริงจัง

“สิ่งของประหยัดพื้นที่ ยิ่งประหยัดเงิน” คัมพราดได้ไอเดียนี้มาจากตอนเห็นพนักงานกำลังถอดขาโต๊ะรุ่น LÖVET ออกเป็นชิ้นๆเพื่อใส่ท้ายรถ

จุดนี้ทำให้เขาเริ่มพัฒนาออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่เน้นความสร้างสรรค์ เเละสร้างชื่อได้จากการคิดค้นเฟอร์นิเจอร์ “แบบแผ่น” ซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์แบบถอดประกอบอีกชนิดหนึ่ง แต่จะมีการออกแบบที่สลับซับซ้อนมากกว่า เพราะจะใช้วัสดุเป็นแผ่นเพียงแผ่นเดียวมาทำไม่ว่าจะเป็นวัสดุใดก็ตาม

ขณะเดียวกัน อีเกียได้จัดทำบรรจุภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ให้อยู่ใน “กล่องกระดาษเเบน” เพื่อขนย้ายได้ง่าย โดยมีหลักว่า “เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นต้องต่อประกอบได้”  ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงต่ออุตสาหกรรมของแต่งบ้านทั่วโลก

โดยนอกจากจะขนย้ายสะดวก ยังทำให้ต้นทุนค่าจัดส่งสินค้าที่ลดลงไปด้วย ประกอบกับช่วงนั้นโรงงานท้องถิ่นหลายแห่งประท้วงไม่ผลิตของให้อีเกีย จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้บริษัทต้องออกเเบบสินค้าด้วยตนเอง

IKEA / PAUL BARENDREGT

ด้านกลยุทธ์ทางการตลาดของอีเกีย ในช่วงแรกก็คือการออกงานแฟร์เพื่อให้คนรู้จัก รวมถึงการแจกจ่าย “แคตตาล็อก” ซึ่งช่วยสร้างยอดขายได้อย่างมากจนถึงปัจจุบัน เเละกลายเป็นของสะสมของใครหลายคน โดยแคตตาล็อกเล่มแรกถูกตีพิมพ์ในปี 1951 จากนั้นมีการพัฒนาปรับโฉมแคตตาล็อก รวมถึงจัดทำให้เป็นดิจิทัลจากไฟล์ PDF เป็นแบบ Responsive เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานรูปแบบใหม่ที่ทันยุคทันสมัย

คัมพราดเลือกจะนำเฟอร์นิเจอร์ที่เขาออกแบบจำหน่ายในบ้านเกิดอย่างสวีเดนก่อน เมื่อเเข็งเเรงเเล้ว จึงขยายความนิยมไปทั่วสแกนดิเนเวีย ทวีปยุโรป มาเอเชียอย่างจีน รวมถึงไทย โดยบริษัทมีรายได้ทั้งหมดราว 36,400 ล้านยูโร หรือประมาณ 1.45 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ในเเถบประเทศ “อาเซียน” อีเกียมีสาขาที่ สิงคโปร์ 2 สาขา, มาเลเซีย 2 สาขา และไทย 1 สาขา โดยกำลังเตรียมจะเปิดอีกหนึ่งสาขาที่บางใหญ่ ในเดือนมี.ค. ด้วยงบลงทุนกว่า 6,300 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของอีเกีย ภายใต้การนำของคัมพราดก็ไม่ได้ราบรื่นเสียทีเดียว เมื่อสวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องจ่ายภาษีเเพงที่สุดในโลก ในปี 1973 เขาได้โยกเงินกำไรของบริษัทไปยังประเทศใกล้เคียงที่ภาษีต่ำกว่าอย่างสวิสเซอร์แลนด์ เเละปัจจุบันอีเกียก็มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการยุโรปได้เข้าตรวจสอบด้านภาษีของอีเกียในเนเธอร์เเลนด์

โดยอีกกระเเสมองว่า การใช้ชีวิตสมถะของคัมพราดเป็นการสร้างภาพลักษณ์เพื่อเป็น “เเบบอย่าง” ให้พนักงาน เมื่อเขายังมีบ้านหลังใหญ่ที่มองเห็นทะเลสาบเจนีวา อาศัยอยู่สวิตเซอร์แลนด์เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีที่สูงกว่า เเละเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ย่านดังทั้งในสวีเดนเเละฝรั่งเศส เเละก็ชอบขับรถพอร์ช พอๆกับชอบขับรถวอลโว่เก่าๆอายุ 20 ปี

เขาวางมือจากการเป็นผู้บริหารใน Inter Ikea Group เมื่อปี 2013 ในวัย 86 ปีเเละให้ลูกชายคนเล็กเข้ามาบริหาร เเต่ก็ยังคอยให้คำปรึกษาเเละเป็นคนตัดสินใจในเรื่องสำคัญ

AFP

ขึ้นหิ้ง : ท็อป 5 โมเดลเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องจดจำ

“เจฟฟ์ แบงค์ส” นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า คัมพราดได้เปลี่ยนเเปลงการออกเเบบสินค้าเเละของเเต่งบ้านไปโดยสิ้นเชิง เเม้จะมีคนจำนวนมากพยายามผลิตสินค้าลอกเลียนเเบบอีเกียขึ้นมา เเต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ คัมพราดอยู่เหนือเจ้าอื่นอย่างเห็นได้ชัด (อ่าน ที่นี่ )

โดยตลอดช่วง 70 ปี เขาได้นำพา “อิเกีย” ให้เป็นแบรนด์ที่คนรู้จักและมีคุณค่าทางการตลาดติดอันดับ 41 จาก 100 แบรนด์ที่มีการสำรวจทั่วโลกตามรายงานของนิตยสารฟอร์บส์  พร้อมฝากเฟอร์นิเจอร์ที่น่าจดจำไว้อย่าง ตู้หนังสือ “Billy bookcase” อันโด่งดังเเละโซฟาราคาสบายๆอย่าง “Klippan”

มาดู 5 สินค้าสำคัญที่สร้างสรรค์ออกมาให้เห็นถึงตัวตนของอีเกีย

Lövet table, 1956

โต๊ะสามขารูปทรงใบไม้ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปฎิวัตวงการออกเเบบเฟอร์นิเจอร์ จากเเรงบันดาลใจที่ไม่สามารถขนย้ายโต๊ะใส่ท้ายรถได้ คัมพราดรู้สึกประทับใจเเละจ้างนักออกเเบบ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นต้นเเบบของเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถประกอบได้ เเละใส่บรรจุภัณฑ์ในกล่องกระดานเเบน

สำหรับโต๊ะรุ่น Lövet table ถูกนำมาทำคอลเลคชั่นใหม่ในปี 2013 เเละเปลี่ยนชื่อเป็น Lövebacken โดยเเผ่นโต๊ะทำมาจากไม้ poplar veneer ตัวขาทำจากต้น beech สามารถถอดออกได้

Ivar storage system, 1968

โมเดลชั้นวางของอเนกประสงค์ ทำจากไม้สนหลากหลายรูปทรงเเละหลายขนาด โดยสามารถติดตั้งตู้ ชั้นวางเเละลิ้นชักได้อย่างง่ายดาย พร้อมทาสีเเละเคลือบน้ำมันได้ ซึ่งเป็นสินค้าฉลองครบรอบ 50 ปีของอีเกีย

 

Poem armchair, 1976

ในปี 1970 ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น “โนโบะรุ นากะมุระ” เดินทางมายังสวีเดนเพื่อเรียนรู้การออกเเบบเฟอร์นิเจอร์เเถบสเเกนดิเนเวีย เขาได้พัฒนาสินค้าของอีเกียด้วยการสร้างสรรค์ “เก้าอี้ที่มีความยืดหยุ่น” เเละมีพนักพิงเเบบโค้ง

โดยต้นเเบบของเก้าอี้นี้ จากเดิมเป็นโครงเหล็ก ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนเป็นไม้อัดเเละเปลี่ยนชื่อเป็น Poäng มีวางขายหลายเวอร์ชั่นทั้งรูปเเบบเบาะเเละเก้าอี้โยก

 

Billy bookcase, 1978

ตู้หนังสือ Billy เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่ายที่สุด เเต่ก็ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์ของอีเกีย เเละกลายมาเป็นกุญเเจสำคัญของสูตรสำเร็จของบริษัทนี้

เป็นอีกหนึ่งผลงานดีไซน์ของ Gillis Lundgren นักออกเเบบชาวสวีเดน วางคอนเซปต์เเรกจากการสเก็ตช์ภาพร่างบนผ้าเช็ดปาก ผ่านมากว่า 40 ปีวันนี้มียอดขายถึง 60 ล้านชิ้นทั่วโลก สำหรับการออกเเบบนั้นเน้นให้ใช้ได้กับพื้นที่ความสูง ความกว้างและรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยมีชั้นวางปรับได้และมีตัวเลือกให้เพิ่มประตูกระจกได้

Klippan sofa, 1980

โซฟาร่วมสมัยราคาประหยัด รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเน้นความเบสิค ด้วยรายละเอียดที่เรียบง่ายทำให้ง่ายต่อการพับกลับเเละการตกเเต่งด้วยผ้าคลุมลวดลายต่างๆ โดยเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมาก หลังอีเกียปรับลดขนาดผลิตภัณฑ์ให้เล็กลง เพื่อให้บ้านของลูกค้ามีพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง

 

มีทบอลอีเกีย : อิ่มท้อง – อยู่นาน – ซื้อเยอะ

เคยได้ยินไหมว่า “ไปเดินอีเกีย ต้องกินมีทบอล” เเนวคิดการมีร้านอาหารในร้านเฟอร์นิเจอร์ของ นักธุรกิจชาวสวีเดนผู้นี้…นั้นน่าสนใจไม่น้อย

หลังธุรกิจเริ่มไปได้สวย เมื่อเปิดสาขาเเรกในเมือง Älmhult ในปี 1958 ต่อจากนั้นอีกสองปี เขาเกิดปิ๊งไอเดียเปิดตัว IKEA Restaurant ขึ้นมาโดยตั้งอยู่ในร้านสาขาเเรก พร้อมปล่อยเมนูยอดนิยมอย่าง “มีทบอล” อาหารขึ้นชื่อของสวีเดนมาเป็นจุดขาย

“เมื่อลูกค้าอิ่มท้อง ก็จะใช้เวลาอยู่ภายในร้านมากขึ้น เเละก็จะทำให้มีการใช้จ่ายเงินมากขึ้นตามไปด้วย” นี่คือเเนวคิดของผู้ก่อตั้งอีเกียกับการดึงดูดลูกค้าใช้เวลาอยู่ในร้านให้นานที่สุด

โดยในส่วนของธุรกิจร้านอาหารอีเกีย ประสบความสำเร็จสามารถทำรายได้กว่า 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2017 เเละมีการใช้พื้นที่เพื่อเป็นโชว์รูมโปรโมตสินค้าไปในตัว โดยให้ลูกค้าจะได้ใช้ของจริง อย่างการได้นั่งเก้าอี้ ใช้โต๊ะเเละดื่มน้ำจากเเก้วน้ำของอีเกีย ระหว่างการรับประทานอาหารด้วย

นี่คือ “อีเกีย” ที่สั่นสะเทือนอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์โลก…เเละผลงาน “อิงวาร์ คัมพราด” จะเป็นที่จดจำไปอีกนาน…

IKEA.COM