ทุกตัวละครคือจิ๊กซอว์! “ออกญาฯนิรุตติ์” ชื่นชมนางเอก…ผู้กำกับคือผู้ปิดทองหลังพระที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง

นลิศา เตชะศิริประภา / ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

“เจ้าเป็นคนกำเริบ ไม่รู้จักกาลเทศะ วาจาพิกลพิการ ฟังไม่รู้ความ จิตใจหยาบกระด้าง ไม่มีเมตตาข้าทาสบริวาร ไม่เอาการเอางาน ขี้คร้านตัวเป็นขน ดีแต่แต่งตัวนั่งชะม้อยชายตาหน้าขาว น่ารำคาญ”

ประโยคเด็ดของพี่หมื่น หรือ หมื่นสุนทรเทวา รัวด่าแม่การะเกด แบบไม่หยุดหายใจ ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ พี่หมื่นแร็พฟีเวอร์” ถูกนำมาสร้างเป็นมีมสร้างสีสันบนโลกออนไลน์

“บุพเพสันนิวาส” ละครป๊อปอาร์ตที่สร้างออกมาได้อย่างลงตัว หยิบยกคนในปัจจุบันเข้าไปผสมผสานชะโงกดูประวัติศาสตร์ครั้งอดีตได้ถูกจริตคนในสังคม

นอกจากพระเอก-นางเอกที่รับบทโดย โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ และ เบลล่า-ราณี แคมเปน แล้ว ก็ยังมีตัวละครอื่นที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนให้ละครเรื่องนี้ดำเนินต่อไปได้…

“ออกญาโหราธิบดี” อีกหนึ่งตัวละครที่สำคัญที่มีตัวตนจริงในประวัติศาตร์ เป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งในวงการแต่งหนังสือในสมัยพระนารายณ์มหาราช เป็นผู้นิพนธ์ “หนังสือจินดามณี” ในปี พ.ศ.2215 ซึ่งเป็นหนังสือแบบเรียนเล่มแรกของไทย ที่รับบทโดยพระเอกรุ่นใหญ่มากความสามารถอย่าง “นิรุตติ์ ศิริจรรยา” หรือ “อาหนิง” ในวัยย่าง 71 ปี นักแสดงอาชีพที่โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงมามากกว่า 40 ปี

PRACHACHAT PHOTO

ความสุขุม เก่ง ใจดี ของท่านออกญาฯในละครเป็นเช่นไร ตัวตนจริงๆ ของอาหนิงนั้นก็เป็นเฉกเช่นนั้น เขาบอกกับเราว่า ไลฟ์สไตล์ของตัวเองไม่มีอะไรน่าสนใจ เป็นวิถีชีวิตปกติ ทุกวันยังทำงาน ว่างก็กลับบ้านจันทบุรี มีความสุขกับธรรมชาติ (อ่าน >> Smart, Tall and Handsome “หนิง-นิรุตติ์” ออกญาโหราธิบดีในยุคดิจิทัล)

นอกจากจะเป็นนักแสดงมากความสามารถที่ถูกยกให้เป็น “พระเอกตลอดกาล” แล้ว เขายังเคยเป็นมนุษย์เงินเดือนที่อยู่ในวงการสื่อสารมวลชนอย่างนักข่าว เป็นผู้ประกาศข่าวอ่านข่าวอยู่ช่อง 5 ด้วย…ทุกวันนี้เขาเป็นนักจัดรายการวิทยุคลื่น 96.5 เมกะเฮิรตซ์ พูดคุยทุกเรื่องทั้งเศรษฐกิจ สังคม ยกเว้นการเมือง

ชื่นชม “แม่การะเกด” ทำกระแสแรง

เมื่อพูดถึงละครอิงประวัติศาสตร์ “บุพเพสันนิวาส” แล้วนั้น เขากล่าวกับเราด้วยน้ำเสียงปลื้มใจ

“ผมดีใจที่คนสนใจและเริ่มรู้คุณค่ากับสิ่งที่จะหายไปจากสังคมไทย” และว่า เป็นละครที่ดูสนุก ไม่เคยมีใครทำแนวแบบนี้ ทำให้คนดูมีอารมณ์คล้อยตาม ซึ่งต้องชื่นชมนางเอกเพราะถ้าไม่มีนางเอกคนนี้ ละครเรื่องนี้ก็จะไม่มีกระแสแรงมากถึงขนาดนี้

“นางเอกเป็นตัวชักนำคนในยุคปัจจุบันหรือในโลกดิจิทัลให้ไปยืนที่ระเบียงแล้วชะโงกลงไปดูคนสมัยพระนารายณ์ว่าเขาอยู่กันยังไง เขากินกันยังไง พูดกันยังไง แล้วก็นำเอาภาษาใหม่เข้าไปพูดไปผสม”

‘อาหนิง’ คือ อาหนิง ไม่ใช่ออกญาโหราธิบดี…

เขาระบุอย่างชัดเจนถึงบทบาทของออกญาโหราธิบดีในละครกับตัวตนของเขาเองนั้นว่า “มันต้องแตกต่างกันอยู่แล้ว เพราะผมไม่มีคาแร็คเตอร์ของออกญาฯ ผมเป็นตัวผม แต่ผมถูกใส่เข้าไปเพื่อทำให้เหมือน เพื่อให้เลียนแบบ ซึ่งจริงๆ ผมก็ไม่รู้ว่าเหมือนหรือเปล่า แต่ผมพยายามเข้าใจบทให้มากที่สุด เข้าใจในเรื่องราว รวมถึงทำความเข้าใจบทออกญาฯกับนักแสดงคนอื่นๆ เขาด้วย เพราะถ้าเราเข้าใจไปคนเดียว ตัวละครออกญาโหราธิบดีมันก็จะเข้ากับคนอื่นไม่ได้ ละครมันก็ไม่สามารถไปได้”

ผู้กำกับคือผู้ปิดทองหลังพระ

“ผมต้องเป็นทุกอย่างที่รับบทมาแล้ว ผู้กำกับต้องมาเป็นตัวแสดงตัวนั้นด้วยเพราะถ้าหากเรานอกลู่นอกทางไป เขาจะได้ดึงเรากลับมา ไม่มีใครเก่ง ผู้กำกับการแสดงเก่งที่สุดต้องเป็นทุกตัวละคร ทั้งอีจวง อีผิน อีปริก…เป็นผู้ที่ปิดทองหลังพระที่ใครไม่ค่อยได้พูดถึง ทุกๆ เรื่องที่ภาพยนตร์หรือละครมันไม่ใช่แค่นักแสดง ทุกอย่างที่มันมารวมกันได้คือการตกผลึกของผู้กำกับการแสดงนี่ต่างหาก และคนที่ช่วยเขาเขียนบทด้วย” เขากล่าวต่อ

สำหรับละครบุพเพสันนิวาส ที่ร่ายมนตร์ “กฤษณะกาลี” กับคนไทยทั้งประเทศนั้น เป็นฝีมือของผู้กำกับอย่างใหม่-ภวัต พนังคศิริ และได้คนดูแลเนื้อหาด้านประวัติศาตร์อย่างอาจารย์วิโรจน์ ศรีสิทธิ์เสรีอมร

ไม่น่าจะทำภาคสอง…ไม่เคยเห็นอะไรดีกว่าอันแรก

ส่วนกระแสการสร้างละครบุพเพสันนิวาสภาคสองนั้น เขามองว่า ไม่น่าจะมี เพราะว่าเขาไม่เคยเห็นอะไรที่สอง สาม สี่ แล้วมันจะดีเท่ากับอันแรก ให้อันที่หนึ่งมันเป็นอย่างนี้แล้วให้มันตายไป อย่าให้มีอะไรมาว่าสองมาสู้หนึ่งไม่ได้

คำบอกเล่าของเขาที่ไม่ว่าจะได้รับแสดงเป็นบทอะไร หรือตัวละครตัวไหน จะเป็นพระเอก นางเอก หรือแค่ตัวประกอบกตาม ต่างก็เป็นจิ๊กซอว์ให้กับละครเรื่องนั้นๆ ให้สามารถดำเนิต่อไปได้อย่างสมบูรณ์

และคำว่านักแสดงอาชีพ กับอาชีพนักแสดง..ที่ฟังดูแล้วจะเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ มาถึงตรงนี้ “อาหนิง-นิรุตติ์ ศิริจรรยา” ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขานั้นคือ “นักแสดงอาชีพ” ตัวจริง