เปิดงบการเงินดูความร่ำรวย แมนฯ ยูฯ ทีมที่จะถูกซื้อด้วยสถิติ “ดีลใหญ่สุดของวงการกีฬา”

เปิดงบการเงินแมนฯ ยูฯ
สนามโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด/ Oli SCARFF / AFP

ถึงแม้ไม่ได้ครองถ้วยแชมป์พรีเมียร์ลีกมาหลายปี ส่วนแชมป์ยุโรปนั้นไม่ต้องพูดถึง แต่สิ่งที่ปีศาจแดง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยังเหนือกว่าใครในบรรดาสโมสรฟุตบอลอังกฤษก็คือ ความร่ำรวยมั่งคั่ง 

และไม่ใช่แค่ร่ำรวยเหนือกว่าใครในสหราชอาณาจักร แต่ยังเป็นสโมสรฟุตบอลที่รวยอันดับต้น ๆ ของโลก ในช่วงที่ผลงานในสนามยังดีหรือไม่เพลี่ยงพล้ำมากนัก ตำแหน่ง “สโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก” ก็อยู่ในมืออย่างต่อเนื่องแบบสวย ๆ   

ตอนนี้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กำลังอยู่ในสปอตไลต์ของข่าวธุรกิจ เพราะหลังจากที่ตระกูลเกลเซอร์ เศรษฐีอเมริกันที่เป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดของสโมสรมานาน 17 ปีประกาศว่าต้องการขายกิจการสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็มีข่าวว่ามีมหาเศรษฐีมากหน้าหลายตาสนใจเข้าซื้อ 

มีข่าวว่าผู้ที่สนใจซื้อแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีอยู่ 5 ราย ได้แก่ เซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ (Sir Jim Ratcliffe) มหาเศรษฐีชาวอังกฤษซึ่งเป็นแฟนฟุตบอลตัวยง, กลุ่มธุรกิจไม่เปิดเผยชื่อจากสหรัฐอเมริกา, Qatar Sports Investments กลุ่มทุนจากกาตาร์ซึ่งเชื่อมโยงกับราชวงศ์, กลุ่มทุนจากซาอุดีอาระเบีย และ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) นักธุรกิจจอมปั่นที่เข้าไปวงการไหนก็สร้างความปั่นป่วนที่นั่น 

สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ว่าสองผู้ท้าชิงที่มีความจริงจังและมีความเป็นไปได้ที่จะคว้าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไปมากที่สุดก็คือ จิม แรตคลิฟฟ์ กับกลุ่มทุนจากกาตาร์ 

ตามรายงานของ Reuters อ้างคำบอกเล่าของแหล่งข่าวว่า ตระกูลเกลเซอร์ต้องการขายในราคาสูงถึง 7,000 ล้านปอนด์ 

และ Reuters คาดว่า ดีลนี้จะเป็นดีลใหญ่ที่สุดเท่าที่วงการกีฬาเคยมีมา

การยื่นเสนอราคาซื้อจะหมดเขตในเวลา 22.00 น. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ตามเวลาอังกฤษ ซึ่งตรงกับช่วงเช้ามืดวันที่ 18 กุมภาพันธ์ตามเวลาประเทศไทย 

ก่อนที่เราจะได้ทราบกันว่าใครจะเป็นเจ้าของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คนใหม่ จะเป็นคนที่ถูกใจแฟน ๆ ปีศาจแดงหรือไม่ “ประชาชาติธุรกิจ” ขอชวนเปิดงบการเงิน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ดูว่าสโมสรนี้มีความร่ำรวย ความปัง มีจุดแข็งและโอกาสทางธุรกิจอย่างไรบ้าง ที่ทำให้บรรดาผู้มั่งคั่งหมายปองอยากได้ไปครอบครอง

รายได้ปีละมากกว่า 500 ล้านปอนด์ แต่รายจ่ายก็สูง

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แบ่งที่มาของรายได้ออกเป็น 3 ส่วน คือ Commercial เช่น ขายของที่ระลึก ค่าสปอนเซอร์,  Broadcasting ส่วนแบ่งลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด และ Matchday รายได้จากตั๋วให้เข้าชมการแข่งขัน รวมถึงการขายอาหารเครื่องดื่มในสนาม   

ผลประกอบการของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ใน 5 ปีงบการเงินล่าสุด
(มายเหตุ : ประชาชาติธุรกิจค้นจากงบการเงินที่สโมสรเผยแพร่อย่างเป็นทางการ)

-ปีงบการเงิน 2022 (1 กรกฎาคม 2021-30 มิถุนายน 2022) รายได้ 583 ล้านปอนด์ ขาดทุน 115.5 ล้านปอนด์ 

-ปีงบการเงิน 2021 (1 กรกฎาคม 2020-30 มิถุนายน 2021) รายได้ 494 ล้านปอนด์ ขาดทุน 92 ล้านปอนด์ 

-ปีงบการเงิน 2020 (1 กรกฎาคม 2019-30 มิถุนายน 2020) รายได้ 509 ล้านปอนด์ ขาดทุน 23 ล้านปอนด์

-ปีงบการเงิน 2019 (1 กรกฎาคม 2018-30 มิถุนายน 2019) รายได้ 627 ล้านปอนด์ กำไร 19 ล้านปอนด์ 

-ปีงบการเงิน 2018 (1 กรกฎาคม 2017-30 มิถุนายน 2018) รายได้ 590 ล้านปอนด์ ขาดทุน 38 ล้านปอนด์

เปิดงบการเงิน แมนฯ ยูฯ


อย่างที่เราทราบกันว่าในปี 2020-2022 ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผลประกอบการในปีการเงิน 2020-2022 ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน 

รายงานที่จัดทำโดย KPMG เผยแพร่เมื่อปี 2021 ระบุว่า ในฤดูกาลแข่งขัน 2019-2020 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรฟุตบอลที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้รายได้จากการดำเนินงาน (operating revenue) หดหายมากที่สุดเป็นอันดับ 7 ในบรรดาสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ในยุโรป โดยรายได้ลดลง 18.5% กำไรลดลง 47.9% จากปีงบการเงินก่อนเกิดโควิด-19 

สำหรับปีการเงิน 2023 (1 กรกฎาคม 2022-30 มิถุนายน 2023) ฝ่ายบริหารสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คาดว่าจะทำรายได้ 610 ล้านปอนด์ และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 140 ล้านปอนด์ 

ซึ่งหากยก EBITDA ขึ้นมาโชว์แบบนี้ ก็คาดได้ว่าเบ็ดเสร็จแล้วน่าจะยังไม่มีกำไร คงยังขาดทุนเหมือนปีที่ผ่านมา 

มูลค่าสโมสรสูงอันดับต้น ๆ ของโลก

ถึงแม้จะขาดทุนมาหลายปี แต่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งการประเมินมูลค่าที่ว่านี้จะประเมินจากหลายองค์ประกอบ อย่างเช่น มูลค่าแบรนด์สโมสรนั้น ๆ ทรัพย์สินและหนี้สินที่สโมสรมี รวมไปถึงมูลค่าของนักเตะในทีม   

นิตยสารฟอร์บส (Forbes) ประเมินแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรฟุตบอลที่มูลค่าสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ในปี 2022 ด้วยมูลค่า 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,700 ล้านปอนด์ (คำนวณ ณ เดือนพฤษภาคม 2022) ส่วนในปี 2021 ฟอร์บสประเมินว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีมูลค่า 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก 

ก่อนหน้านั้น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เคยเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงอันดับ 1 ของโลกในปี 2017 และ 2018 ด้วยมูลค่า 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 4,123 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ 

ยิ่งถ้าย้อนไปดูในยุคที่อยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และยังไม่ห่างหายจากความสำเร็จในสนาม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ครองตำแหน่งสโมสรฟุตบอลที่มูลค่าสูงที่สุดในโลกติดต่อกันตั้งแต่ปี 2007 ถึงปี 2012 ก่อนเสียบัลลังก์ให้ราชันชุดขาว เรอัล มาดริด ในช่วงปี 2013-2016 แล้วทวงตำแหน่งคืนมาได้ในปี 2017-2018 ก่อนจะเสียตำแหน่งไปอีกครั้งในปี 2019 และจนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถทวงตำแหน่งกลับคืนมาได้อีก

ทำไมใคร ๆ ก็อยากครอบครอง

ในรายงานของ Reuters มีความเห็นน่าสนใจของ แอนดี้ คูร์รี (Andy Currie) หุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัทที่ปรึกษาและบริการทางการเงิน Alantra ในสหราชอาณาจักร ที่อธิบายถึงดีลนี้ว่า สำหรับผู้ซื้อที่มีศักยภาพ สโมสรฟุตบอลอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถือเป็น trophy assets หรือสินทรัพย์หายากเป็นพิเศษ ที่มีแรงผลักดันคือ ความรู้สึกพิเศษเฉพาะตัวของการได้ครอบครอง เป็นเหตุผลคล้ายกับการที่นักสะสมยอมจ่ายเงินจำนวนมากซื้อภาพวาด 

“ผมมีลูกค้าที่ซื้องานศิลปะโดยเชื่อว่ามันจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่การจ่ายเงินหลายสิบล้านสำหรับงานศิลปะนั้นไม่ได้มีเหตุผลเรื่องกำไรและขาดทุนเพียงอย่างเดียว มันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของผู้ซื้อกับแบรนด์ และการที่ผู้ซื้ออยากมีส่วนร่วมกับแบรนด์นั้นแค่ไหนมากกว่า” 

ความเห็นของ แอนดี้ คูร์รี ระบุเหตุผลในด้านการให้คุณค่าทางความรู้สึก แต่เหตุผลทางธุรกิจน่าจะมีน้ำหนักมากกว่า หรืออย่างน้อยก็ไม่น้อยไปกว่ากัน 

มัลคอล์ม เกลเซอร์ (Malcolm Glazer) ซื้อแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมื่อปี 2005 ด้วยเงิน 790 ล้านปอนด์ หรือ 947  ล้านดอลลาร์สหรัฐในเวลานั้น 

17 ปีกว่าที่ผ่านมาตระกูลเกลเซอร์ได้กำไรไปเกินจะนับ และราคา 7,000 ล้านปอนด์ที่พวกเขาต้องการจะขายในเวลานี้คิดเป็นเกือบ 900% ของราคาที่ซื้อมา แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว ราคาที่ขายได้จริงอาจไม่ถึงตัวเลขที่พวกเขาอยากได้ แต่มันก็เป็นกำไรมากกว่า 500% แน่ ๆ  

ตัวเลขบ่งชี้ชัดว่าสโมสรฟุตบอลแห่งนี้เป็นโอกาสในการทำเงิน 

แม้ขาดทุนบ่อย แต่แบรนด์แข็งแกร่ง มีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก

จุดแข็งของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เราสามารถวิเคราะห์เองได้ง่าย ๆ ก็คือ ฟุตบอลเป็น soft power ที่ทรงพลังที่สุดในโลก ไม่มีทางเสื่อมพลังและมนต์ขลังลงในเวลาอันใกล้หรือแม้แต่อีกสี่ห้าชั่วอายุคน 

นั่นหมายความว่า ใครได้ครอบครองสโมสรฟุตบอลย่อมมีโอกาสทำเงินไปอีกยาว ๆ หากไม่อยากขายเอากำไรก็ส่งต่อเป็นมรดกชั้นดีไปให้ลูกหลาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสโมสรฟุตบอลที่มีแฟนบอลมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และเป็นแบรนด์ที่มีพลังทางการตลาดอย่างสูง ย่อมมีทางหาเงิน-เก็บกินผลประโยชน์ได้ไปอีกนาน 

ส่วนในภาพรวมของวงการฟุตบอล ก็มีความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่บอกว่า ความต้องการซื้อสโมสรในพรีเมียร์ลีกกำลังเติบโต ส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากรายรับที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทั่วโลก ศักยภาพในการพัฒนาสนามใหม่พร้อมขายสิทธิ์การตั้งชื่อสนามให้กับแบรนด์ต่าง ๆ  และโอกาสในการทำข้อตกลงกับสปอนเซอร์ทั่วโลก 

เปิดงบการเงิน แมนฯ ยูฯ
REUTERS/ Phil Noble

ในงบการเงินปี 2022 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ประเมินจุดแข็งของตัวเองไว้หลายข้อ ข้อแรกคือ การเป็นหนึ่งในทีมกีฬาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก 

ข้อที่สอง คือ การเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกและมีผู้สนับสนุนจำนวนมากทั่วโลก ด้วยจำนวนผู้ติดตาม 1,100 ล้านคน 

“ฐานผู้ติดตามของเรานั้นกว้างและหลากหลาย อยู่เหนือวัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ ภาษา กลุ่มทางสังคมและประชากรศาสตร์ และเราเชื่อว่าความแข็งแกร่งของแบรนด์ของเรานั้นไปไกลกว่าโลกกีฬา”  

ข้อถัดมา คือ มีความสามารถในการสร้างรายได้จากแบรนด์ได้อย่างประสบความสำเร็จ “ด้วยความนิยมและคุณภาพของแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก ทำให้เราเป็นพันธมิตรทางการตลาดที่น่าสนใจสำหรับบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก ชุมชนผู้ติดตามของเราแข็งแกร่งในประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging market)  ซึ่งช่วยให้เราสามารถนำเสนอสื่อและช่วยสร้างการเติบโตแก่พันธมิตรของเราในตลาดเหล่านี้” 

ซึ่งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ตระหนักว่าต้องรักษาและพัฒนาแบรนด์และชื่อเสียงของสโมสรอยู่เสมอ เพื่อการเติบโตทางธุรกิจ 

“หากเราไม่สามารถรักษาและพัฒนาปรับปรุงแบรนด์กับชื่อเสียงของเรา โดยเฉพาะในตลาดใหม่ ๆ หรือหากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้แบรนด์และชื่อเสียงของเราเสียหาย ความสามารถในการขยายฐานผู้ติดตาม ผู้สนับสนุน และพันธมิตรทางการค้า หรือการขายผลิตภัณฑ์ของเราในเชิงปริมาณ อาจอ่อนแอได้” 

อีกข้อที่น่าสนใจ คือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มองตนเองว่า มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการตลาดที่ดี ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้ในหมวด Commercial ได้ดี

และยังมีข้อที่พูดถึงการมีสื่อที่แข็งแกร่งของตัวเอง ซึ่งความแข็งแกร่งนั้นก็เชื่อมโยงโดยตรงกับจำนวนผู้สนับสนุนและติดตามสโมสร อย่างที่ระบุไว้ในข้อต้น ๆ แล้ว 

ในโลกของฟุตบอล เราอาจจะได้เห็นในข่าวว่าแฟน ๆ ในท้องถิ่นยังคาดหวังอยากให้ทีมฟุตบอลเป็นทีมของท้องถิ่น ไม่ขึ้นอยู่กับธุรกิจมากนัก แต่ในยุคนี้ก็ต้องยอมรับว่า ทีมกีฬาของคนท้องถิ่นแบบนั้นเหลือน้อยเต็มที

และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เดินอยู่แถวหน้าของบรรดาสโมสรฟุตบอลที่เป็นธุรกิจเต็มตัวมานานหลายปีแล้วซึ่งก็เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่า การเป็นสโมสรใหญ่ที่มีเงินมากกว่าย่อมมีโอกาสสร้างความสำเร็จในสนามได้มากกว่าทีมเล็กที่มีเงินน้อย ดังนั้น การบาลานซ์ระหว่างฟุตบอลกับธุรกิจให้ไปด้วยกันได้ดี จึงเป็นความท้าทายของผู้บริหารที่ต้องรับผิดชอบทั้งต่อความคาดหวังของแฟน ๆ และต่อความคาดหวังของเจ้าของ-ผู้ถือหุ้นไปในเวลาเดียวกัน