
การแข่งขันฟุตบอล “ยูโร 2024” ณ ประเทศเยอรมนี ที่จะเปิดสนามในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ ใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในการแข่งขันฟุตบอล “ยูโร 2024” นี้ คือ มันเป็นการแข่งขันฟุตบอลที่มีเป้าหมายที่จะเป็นการแข่งขันกีฬาที่ยั่งยืน-รักษ์โลก และเป็นการแข่งขันฟุตบอลยูโรที่ยั่งยืนที่สุดตลอดกาล เพื่อที่จะเป็นต้นแบบให้กับการจัดการแข่งขันกีฬาอื่น ๆ ต่อไป
แนวคิดการจัดการแข่งขันที่ยั่งยืนเป็นแนวคิดที่สมาคมฟุตบอลเยอรมัน หรือ เดเอฟเบ (DFB) ใช้ในการเสนอตัวเข้าชิงสิทธิการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันยูโร 2024 มาตั้งแต่ต้น แล้วร่วมกันพัฒนากับสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า (UEFA) ต่อมา หลังจากที่เยอรมนีได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ
สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ระบุว่า ยูโร 2024 มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นแบบอย่างการจัดการแข่งขันกีฬาอย่างยั่งยืน และเป็นแรงผลักดันสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมชาวเยอรมันและยุโรป
“เราต้องการให้ยูโร 2024 เป็นตัวอย่าง เป็นการสร้างแบบจำลองที่ยั่งยืนที่จะนำไปใช้กับทุกการแข่งขัน” มิเคเล อูวา (Michele Uva) ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของยูฟ่ากล่าว
ด้วยวิสัยทัศน์และเป้าหมายดังกล่าว ยูฟ่าร่วมกับสมาคมฟุตบอลเยอรมัน และหน่วยงานสาธารณะอื่น ๆ กำหนดกลยุทธ์ ESG ของ “ยูโร 2024” ประกอบด้วย 3 เสาหลักที่เชื่อมกันกับการดำเนินงาน 11 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย 28 หัวข้อ 48 เป้าหมาย และ 83 ตัวชี้วัดประสิทธิภาพ
“ความยั่งยืน” ซึ่งผู้จัดหมายมั่นให้เป็น “ดีเอ็นเอของทัวร์นาเมนต์” ได้ถูกบูรณาการเป็นเสาหลักพื้นฐานของการดำเนินการจัดการแข่งขันยูโร 2024 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเดินทาง เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการจัดการแข่งขันโดยส่วนใหญ่มาจากการเดินทาง-ขนส่งถึง 80%
ยกตัวอย่างการดำเนินงานเพื่อให้ยูโร 2024 เป็นการแข่งขันกีฬาที่ยั่งยืน เช่น
-การออกแบบตารางการแข่งขันและสนามกีฬาที่จัดการแข่งขันให้ช่วยลดระยะทางในการเดินทางสำหรับทีมฟุตบอลและแฟนบอล
-การส่งเสริมให้ทีมฟุตบอลและแฟนบอลเดินทางโดยรถไฟแทนการเดินทางโดยเครื่องบิน โดยยูฟ่าสนับสนุนค่าโดยสารรถไฟ 25% ผ่าน “อินเตอร์เรล” (Interrail) ซึ่งเป็นระบบตั๋วรถไฟร่วมสำหรับการเดินทางใน 33 ประเทศในยุโรป
-การจัดเตรียมบริการขนส่งสาธารณะในเมืองที่จัดการแข่งขันและเมืองข้างเคียงเพื่อให้บริการฟรีสำหรับผู้มีตั๋วเข้าชมการแข่งขัน
-การใช้พลังงานหมุนเวียนในสนามกีฬาและสำนักงานดำเนินการจัดการแข่งขัน
-ภาชนะสำหรับใส่อาหารที่ใช้ในสนามกีฬาและพื้นที่สาธารณะสำหรับชมการแข่งขันจะเป็นแบบใช้ซ้ำได้ทั้งหมด
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าเจ้าภาพและยูฟ่าจะตั้งเป้าเอาไว้ดีก็ตาม แต่เป้าดังกล่าวก็เป็นเป้าที่ท้าทายมาก และเป้าหมายนี้จะบรรลุได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับผู้มีส่วนรับผิดชอบหลักต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือ ทีมฟุตบอลของแต่ละชาติเองว่าจะให้ความร่วมมือเรื่องการเปลี่ยนวิธีการเดินทางมากน้อยเพียงใด
ตามการคำนวณของสหพันธ์ยุโรปเพื่อการขนส่งและสิ่งแวดล้อม (Transport & Environment : T&E) หากทีมฟุตบอลของทุกชาติไม่เดินทางโดยเครื่องบินเลยและเดินทางโดยรถไฟหรือรถโค้ชแทน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 60% ของประมาณการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของทัวร์นาเมนต์นี้
แต่ล่าสุด ตามการรายงานของยูโรนิวส์ (Euro News) ณ วันที่ 4 มิถุนายนนี้ มีทีมฟุตบอลทีมชาติเพียง 3 ชาติเท่านั้นที่ให้คำมั่นว่าจะเดินทางโดยรถไฟหรือรถโค้ช คือ เยอรมนี โปรตุเกส และสวิตเซอร์แลนด์ จากทีมชาติที่เข้าแข่งขันทั้งหมด 24 ชาติ