ซีอีโอใหม่ “การบินไทย” เรียกคืนความเชื่อมั่น “ผู้ถือหุ้น-ลูกค้า”

ชาย เอี่ยมศิริ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

เป็นก้าวย่างสำคัญและท้าทายอย่างยิ่งสำหรับ “ชาย เอี่ยมศิริ” ลูกหม้อคนสำคัญของการบินไทย ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) คนแรกของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2565 โดยมีผล 1 ก.พ. 2566

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “ชาย เอี่ยมศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลังจากเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการถึงทิศทางการดำเนินงาน รวมถึงเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

เร่งเรียกคืน “ความเชื่อมั่น”

“ชาย” บอกว่า ที่ผ่านมา “การบินไทย” ขาดความเชื่อมั่นอย่างมาก เนื่องจากมีตัวเลขขาดทุนสะสมสูงมาก แต่สถานการณ์วันนี้การบินไทยกลับมาอยู่ในภาวะที่อยู่รอดและดำเนินธุรกิจต่อไปได้แล้ว มีกระแสเงินสดมากพอ

เป้าหมายต่อไปคือ ต้องดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมาย 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.สร้างความเชื่อมั่นให้กลุ่มผู้ถือหุ้นว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ และกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นได้

รวมถึงการนำการบินไทยไปสู่สายการบินแห่งชาติอีกครั้ง และ 2.สร้างความเชื่อมั่นผู้โดยสาร เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทเน้นเรื่องการลดต้นทุนและลดค่าใช้จ่าย เพื่อประคองธุรกิจทำให้ส่งผลกระทบต่อการบริการ

“ปีนี้เรามีเป้าหมายว่าจะทำให้การบริการของเรากลับมาดีโดยเร็วที่สุด และตอนนี้ก็ยืนยันว่าบริการโดยรวมของการบินไทยได้ปรับตัวดีขึ้นแล้ว โดยผู้บริหารได้ติดตามทุกประเด็นปัญหาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้บริการกลับมาสู่ภาวะปกติ รวมทั้งวางรากฐานการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป”

ปรับองค์กรสู่เอกชนเต็มตัว

นอกจากนี้ ยังมีแผนปรับปรุงระบบบริหารจัดการใหม่ หรือ reprocess จากการเป็นรัฐวิสาหกิจสู่การเป็นองค์กรเอกชนเต็มตัว เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคาดว่าจะเสร็จภายใน 3 เดือน ทั้งนี้ เพื่อนำองค์กรเข้าสู่การแข่งขันอย่างเต็มรูปแบบ ผลักดันรายได้สู่เป้าหมาย เพื่อให้การฟื้นฟูเป็นไปตามแผน

“ชาย” บอกด้วยว่า การบินไทยเป็นองค์กรที่เคยทำรายได้ได้สูงถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี และลดลงเหลือ 1.6-1.7 แสนล้านบาท โดยในปี 2565 ที่ผ่านมาคาดว่ารายได้รวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท โดยมีจำนวนที่นั่ง หรือ capacity รวมประมาณ 65% ของปี 2562

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่า “การบินไทย” สามารถใช้ asset ได้มีประสิทธิภาพขึ้น รวมถึงมีศักยภาพด้านการขาย การตลาด และการหารายได้ที่ดีขึ้นด้วย

เช่าเครื่องบินเพิ่มอีก 9 ลำ

สำหรับปี’66 ซี่งเป็นปีแรกที่เข้ามาบริหารงานในฐานะซีอีโอนี้ “ชาย” บอกว่า บริษัทตั้งเป้าเพิ่มจำนวนที่นั่ง หรือ capacity เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 40% โดยปัจจัยสำคัญคือ จำนวนเครื่องบินที่มีจำกัด

“ตอนนี้เรามีเครื่องบินใช้งานอยู่ 41 ลำ ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับรองรับดีมานด์ที่กลับมา เราต้องหาเครื่องบินเข้ามาเสริม โดยนำเครื่อง A330 และ B777-200 ER ซ่อมกลับมาใช้งาน 8 ลำ รวมเป็น 49 ลำ ไม่รวมไทยสมายล์ 20 ลำ”

และปีนี้มีแผนนนำเครื่อง A350 มาเสริมฝูงบิน 6 ลำ (เช่าดำเนินการ) ซึ่งจะทยอยเข้าตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป นอกจากนี้ยัง อยู่ระหว่างการเจรจาเครื่องลำตัวกว้างอีก 3 ลำ ซึ่งคาดว่าจะรับเข้ามาประมาณปลายปีนี้ หรือต้นปี 2567 ซึ่งจะทำให้การบินไทยมีฝูงบินรวมในปี 2567 รวม 58 ลำ

“ปี 2566 นี้เราคาดว่าจะสามารถทำอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร หรือ cabin factor เฉลี่ยที่ราว 80% และมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท”

ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างทำแผนจัดหาเครื่องบินระยะยาว เพื่อรองรับการดำเนินงานในปี 2569-2570 อีกจำนวนหนึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปราวกลางปีนี้

ส่วนเครื่องบินเก่าที่ยังรอการขายนั้น ปัจจุบันมี 22 ลำ ได้แก่ B777-300 จำนวน 6 ลำ B777-200 จำนวน 6 ลำ ซึ่งทั้ง 2 รุ่นมีอายุใช้งานมากกว่า 20 ปี A340 จำนวน 4 ลำ อายุเฉลี่ย 17 ปี และ A380 จำนวน 6 ลำ อายุใช้งาน 10-12 ปี

จ่อปักหมุดจีน 5 เมืองหลัก

“ชาย” บอกว่าจำนวนเครื่องบินที่รับเพิ่มขึ้นมานี้ จะนำมาใช้เพื่อรองรับการขยายตัวของดีมานด์ทั้งในตลาดยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะตลาดจีนที่เปิดประเทศเต็มรูปแบบแล้ว

อย่างไรก็ตาม “การบินไทย” มีแผนเพิ่มเส้นทางบินใหม่และเพิ่มความถี่เส้นทางบินที่มีอยู่แล้วสู่จีนจาก 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 31 มีนาคม 2566 นี้ โดยทำการบินสู่ 5 เมืองใหญ่คือ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กว่างโจว คุนหมิง และเฉิงตู ส่วนตลาดอื่นนั้นยังคงเน้นเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่ให้บริการอยู่เป็นหลัก ทั้งญี่ปุ่น, ยุโรป ฯลฯ

“แม้ว่าขณะนี้ดีมานด์ความต้องการเดินทางจะมีสูง แต่ในฝั่งของซัพพลายก็ยังคงมีปัญหา ไม่มีเครื่องบินใหม่ออกสู่ตลาด ทำให้คาดว่าราคาบัตรโดยสารสายการบินจะยังคงสูงต่อเนื่อง”

มั่นใจออกแผนฟื้นฟูก่อนกำหนด

ซีอีโอการบินไทยยังอัพเดตความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูด้วยว่า หลังจากที่ขอแก้ไขแผนเมื่อ 20 ตุลาคม 2565 ขณะนี้แผนฟื้นฟูได้ดำเนินการไปแล้วราว 60-70% ทำให้คาดว่าการบินไทยจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟู ได้เร็วกว่ากำหนดเดิมที่ระบุไว้ปลายปี 2567

เนื่องจากผลประกอบการที่ฟื้นกลับมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเปิดประเทศเมื่อกลางปี 2565 โดยผลการดำเนินงานของการบินไทยกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็น term loan 1.25 หมื่นล้านบาท และอีก 1.25 หมื่นล้านบาท สำหรับใช้เป็นทุนหมุนเวียน

พร้อมย้ำว่า ณ ปัจจุบัน “การบินไทย” ยังมีกระแสเงินสดอยู่กว่า 3 หมื่นล้านบาท รวมถึงสินทรัพย์รอการขายอีกจำนวนหนึ่งด้วย…