การบินไทย เร่งแผนยุบรวม แก้ปม ไทยสมายล์ ขาดทุนสะสมพุ่ง 2 หมื่นล้าน

การบินไทย
Photo by Jack TAYLOR / AFP

“การบินไทย” เดินหน้าปรับโครงสร้าง แก้ปมไทยสมายล์ขาดทุนสะสมพุ่ง 2 หมื่นล้าน เร่งแผนยุบรวม หวังลดต้นทุนบริหาร เพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องบิน คาดอีก 2 เดือนสรุปผล ยันสิ้นปีนี้เหลือรหัสการบิน TG แค่แบรนด์เดียว ตั้งเป้าปี’66 ขนส่งผู้โดยสาร 12 ล้านคน มีรายได้รวม 1.3-1.4 แสนล้าน

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผน และนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกันเปิดเผยถึงแผนการยุบสายการบินไทยสมายล์ว่า หลังจากบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงและปรับโครงสร้างองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง

ส่งผลให้ขณะนี้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งรายได้จากการขายบัตรโดยสาร การขนส่งคาร์โก้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการบริหารต้นทุนจากการปรับโครงสร้างองค์กรที่ลดลง

โดยแผนการยุบสายการบินไทยสมายล์นั้นเป็นหนึ่งในแผนการปรับโครงสร้างของธุรกิจการบินที่บรรจุอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการที่ระบุว่า ท้ายที่สุดแล้วบริษัทการบินไทยจะเหลือเพียงแบรนด์ “การบินไทย” และให้ทำการบินภายใต้รหัส TG เพียงแบรนด์เดียว

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และหมุนเวียนการใช้เครื่องบินในเครือทั้งหมดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการสินทรัพย์ให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการหมุนเวียนเครื่องบินที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด กล่าวคือปัจจุบันเครื่องบิน A320 ที่ไทยสมายล์ทำการบินอยู่นั้นมีจำนวนชั่วโมงการใช้งานเฉลี่ย 9 ชั่วโมง

หากควบรวมแล้วจะทำให้บริษัทสามารถหมุนเครื่องไทยสมายล์มาทำการบินในเส้นทางของการบินไทยด้วย ซึ่งจะทำให้มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 12-13 ชั่วโมง หรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องบินได้อีกราว 30%

ขณะเดียวกันยังช่วยแก้ปัญหากรณีการบินไทยมีเครื่องบินไม่เพียงพอกับดีมานด์ตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันบริษัทไม่สามารถนำเครื่องบินของสายการบินไทยสมายล์มาทำการบินได้ เพราะในทางกฎหมายนั้น ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate : AOC) ของการบินไทยและไทยสมายล์ ยังถือว่าเป็นคนละสายการบิน

ตอนนี้กำลังศึกษารายละเอียด รวมถึงข้อดี ข้อเสีย เพราะมีกระบวนการขั้นตอนเยอะทั้งภายนอกและภายใน คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในอีก 2 เดือนข้างหน้า และน่าจะดำเนินงานปรับโครงสร้างได้เรียบร้อยภายในสิ้นปีนี้

หลังจากนั้นเราจะทำการบินในรหัส TG เพียงรหัสเดียว ไม่มีรหัส WE ของสายการบินไทยสมายล์แล้ว และในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านนี้ ในส่วนของเส้นทางบินภายในประเทศและเส้นทางบินระยะใกล้ที่เดิมทำการบินโดยไทยสมายล์นั้น จะยังใช้เครื่อง A320 ที่เป็นสีส้ม และมีโลโก้การบินไทย ส่วนเครื่องแบบของลูกเรือจะมี 2 แบบ คือ สีม่วง และสีส้ม

“อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวทุกอย่างจะดำเนินการภายใต้ ‘การบินไทย’ แบรนด์เดียวเท่านั้น และยูนิฟอร์มก็จะเป็นสีม่วงสีเดียวเช่นกัน ซึ่งในแผนฟื้นฟูมีการเขียนไว้ชัดเจนว่า สุดท้ายแล้วจะเหลือแบรนด์เดียว และที่สำคัญ เราเชื่อว่าหลังรวมกันแล้ว เราจะมีกำไรมากขึ้น” นายปิยสวัสดิ์ย้ำ

ขณะที่นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย กล่าวถึงผลการดำเนินงานของบริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ส จำกัดว่า ปี 2565 บริษัท ไทยสมายล์ฯ มีผลประกอบการขาดทุนรวม 4,248 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวที่ฉุดให้ผลประกอบการของบริษัท การบินไทย และบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 252 ล้านบาท

ขณะที่งบฯเฉพาะบริษัทของการบินไทยมีกำไรสุทธิ 2,697 ล้านบาท ทั้งนี้ หากโฟกัสเฉพาะงบฯของบริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ส จำกัด พบว่ามีตัวเลขขาดทุนสะสมถึงปัจจุบันรวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท (จัดตั้งบริษัทเมื่อ 17 ตุลาคม 2556)

นายชายกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ปัจจุบันการบินไทยมีฝูงบิน 44 ลำ และไทยสมายล์ 20 ลำ รวมเป็น 64 ลำ และมีแผนรับเพิ่มอีก 6 ลำ และอยู่ระหว่างซ่อมบำรุงเครื่องเก่ามาใช้งานอีก 1 ลำ สิ้นปีนี้บริษัทจะมีฝูงบินรวมกันเป็น 71 ลำ

ทั้งนี้ คาดว่าปี 2566 นี้ บริษัทและบริษัทย่อยจะมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารรวมที่ 12 ล้านคน และมีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาท

ด้านนายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์กล่าวว่า ปัจจุบัน (ตารางการบินฤดูร้อน ปี 2566) การบินไทยให้บริการเที่ยวบินสู่ 39 เส้นทางบินทั่วโลก ส่วนสายการบินไทยสมายล์ให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศ 10 เส้นทางบิน และเส้นทางบินระหว่างประเทศระยะใกล้อีก 13 เส้นทางบิน

ปีนี้บริษัทมีความพร้อมในการเพิ่มความถี่เที่ยวบินในหลายเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางบินยุโรป ออสเตรเลีย รวมถึงเอเชีย อาทิ โตเกียว (นาริตะ และฮาเนดะ) โอซากา โซล ไทเป ฮ่องกง สิงคโปร์ กัลกัตตา มุมไบ เป็นต้น พร้อมทั้งมีแผนกลับมาให้บริการเส้นทางบินเพิ่มเติมในเส้นทางสู่จีนอีกครั้งในเดือน มี.ค. 2566 นี้ ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง เฉิงตู กว่างโจว เพื่อรองรับการเดินทางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ตอนนี้เราเริ่มจัดตารางบินใหม่แล้ว โดยทำการบินสู่ 6 เมืองหลักในยุโรปทุกวันแล้ว ยกเว้นเส้นทางสู่แฟรงก์เฟิร์ต (เยอรมนี) และลอนดอน (อังกฤษ) ที่ทำการบิน 2 เที่ยวบินต่อวัน เช่นเดียวกับออสเตรเลียที่ให้บริการ 2 เที่ยวบินต่อวัน ส่วนเส้นทางเอเชีย เราก็มีแผนเพิ่มเส้นทางบินและความถี่สู่ญี่ปุ่น จีน เกาหลี และอินเดีย นอกจากนี้ยังมีเส้นทางสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่มีดีมานด์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน” นายกรกฎกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีรายได้ (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) จำนวน 97,514 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 341% จากปี 2564 มีกำไรจากการดำเนินงาน 11,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 171% EBITDA (หลังหักค่าเช่าเครื่องบิน) 19,689 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,002% มีกระแสเงินสดรวม 34,042 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 565% และมีกำไรสุทธิ 2,697 ล้านบาท ลดลง 95%


ทั้งนี้ หากรวมบริษัทย่อยพบว่าบริษัทมีรายได้รวม 105,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 342% มีกำไรจากการดำเนินงาน 7,797 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% EBITDA (หลังหักค่าเช่าเครื่องบิน) 17,241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 736% มีกระแสเงินสด 34,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 526% และขาดทุนสุทธิ 252 ล้านบาท