“เซ็นทารา” สปีดรับดีมานด์ นักท่องเที่ยวไฮเอนด์โต…หวังรายได้หมื่นล้าน

ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์
สัมภาษณ์

ปี 2565 ที่ผ่านมา นับเป็นปีแห่งการเริ่มต้นที่ดีอีกครั้งสำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจโรงแรม
ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่พบว่าดีมานด์การเดินทางไหลกลับมาอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมรายใหญ่กลับมาคึกคักอีกครั้ง

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ผู้บริหารโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา ถึงการดำเนินงานในปี 2565 ที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้ม ทิศทาง และแผนการลงทุนของธุรกิจโรงแรมในเครือสำหรับปี 2566 และในอนาคต ดังนี้

แนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง

“ธีระยุทธ” บอกว่า ปี 2565 ธุรกิจเริ่มกลับมาอยู่ในทิศทางที่ดี ทั้งในส่วนของอัตราการเข้าพัก และราคาห้องพักเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มได้สูงกว่าช่วงก่อนโควิด ทำให้เชื่อมั่นว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยิ่งดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2566 นี้

โดยตัวเลขทั้งอัตราการเข้าพักและราคาห้องพักเฉลี่ยในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 ยังคงอยู่ในทิศทางที่ดี นอกจากนี้ยังพบว่าแม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังไม่กลับมาเต็มที่นัก เนื่องจากข้อจำกัดด้านจำนวนที่นั่งของสายการบิน แต่ประเทศไทยก็ได้นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพที่มีกำลังการใช้จ่ายสูงอย่างมีนัยสำคัญเพิ่มขึ้น ทำให้กลุ่มเซ็นทารา
เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ สะท้อนจากราคาห้องพักที่ยังสามารถปรับเพิ่มได้ รวมถึงงานประชุมสัมมนาระดับนานาชาติที่มีปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนนับตั้งแต่เปิดประเทศ

“ปีที่แล้วเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นโรงแรมที่ทำรายได้ในอันดับต้น ๆ ของเรา มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยกว่า 80% มีการปรับขึ้นราคาห้องพักประมาณ 20% โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาเราปรับราคาห้องพักขึ้นมาอยู่ในระดับ 6,000 บาทต่อห้องต่อคืน จากปี 2562 ที่ขายประมาณ 4,000 บาทต่อห้องต่อคืน”

ไม่เพียงเท่านี้ โรงแรมอื่นๆ ในเครือก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเช่นกัน เช่น ภูเก็ต ปัจจุบันมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ราว 90% สมุย (รีเซิร์ฟ) มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยกว่า 80% ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ยก็ยังสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ เช่นเดียวกับดูไบที่ตัวเลขดีต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2565

ปี’66 เปิดโรงแรม 6 แห่ง

สำหรับปี 2566 นี้ “ธีระยุทธ” บอกว่า กลุ่มเซ็นทารามีแผนผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อพลิกฟื้นตลาดท่องเที่ยวในไทยและต่างประเทศ โดยมีแผนเปิดโรงแรมเพิ่มอีก 6 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรมในประเทศไทย 5 แห่ง และต่างประเทศ 1 แห่ง

โดยตลาดในประเทศประกอบด้วย 1.อุบลราชธานี 160 ห้องพัก มีแผนเปิดให้บริการวันที่ 10 มีนาคม 2565 2.ระยอง 200 ห้องพัก 3.สุราษฎร์ธานี 110 ห้องพัก 4.เกาะสมุย 61 ห้องพัก ซึ่งระยอง สุราษฎร์ธานี และสมุย มีแผนเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 3 และ 5.พระนครศรีอยุธยา 224 ห้องพัก มีแผนเปิดให้บริการไตรมาส 4

นอกจากนี้ ยังมีแผนรีโนเวตโรงแรมเซ็นทารา กะรน (ภูเก็ต) ในช่วงประมาณกลางปีนี้ และพัฒนาโรงแรมมิราจ พัทยา เฟสใหม่เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี

ส่วนตลาดต่างประเทศนั้น ในปี 2566 นี้มีแผนเปิด 1 แห่ง คือ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซากา โรงแรมแห่งแรกภายใต้แบรนด์ “เซ็นทาราแกรนด์” ในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 515 ห้อง มีกำหนดเปิดให้บริการ 1 กรกฎาคม 2566 นี้

คาดรายได้แตะ 1 หมื่นล้าน

“ธีระยุทธ” บอกอีกว่า ในปี 2566 นี้ คาดการณ์ว่าในภาพรวมจะมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ราว 65-72% และมีรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยเติบโต 30-37% เทียบกับปี 2565 หรืออยู่ที่ 3,250-3,400 บาท โดยการเติบโตของรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยจะมาจากทั้งอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้น และราคาห้องพักเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโรงแรมต่างประเทศ เช่น ที่มัลดีฟส์ ดูไบ และญี่ปุ่น ที่ราคาเฉลี่ยสูงกว่าราคาห้องพักในประเทศไทย

ทั้งนี้ ตั้งเป้ามีรายได้รวมแตะระดับ 1 หมื่นล้านบาท และมีอัตราการทำกำไรที่อยู่ประมาณ 30%
“เราประเมินว่าเปอร์เซ็นต์ EBITDA margin ในปี 2566 จะต่ำกว่าปี 2562 ประมาณ 3% เนื่องจากธุรกิจมีต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น ทั้งด้านบุคลากร ราคาพลังงาน รวมถึงค่าบริหารจัดการ”

รุกตั้งสำนักงานต่างประเทศ

“ธีระยุทธ” ยังบอกอีกว่า นอกจากโรงแรมที่มีแผนเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว บริษัทยังมีการลงนามสัญญาบริหารโรงแรมเพิ่มอีก 5 แห่งในไทย อาทิ สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ กระบี่ และเชียงราย รวมทั้งมีแผนเปิดสำนักงานในหัวเมืองสำคัญอย่างโฮจิมินห์ เซี่ยงไฮ้ และดูไบ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต

และมีแผนเปิดสำนักงานในโอซากา ประเทศญี่ปุ่นในปี 2567 เพื่อเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาธุรกิจในภูมิภาค และตั้งเป้าลงนามสัญญาบริหารโรงแรมใหม่เพิ่มอีก 10 แห่ง ในจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวสำคัญต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ เวียดนาม กาตาร์ เป็นต้น

“กลยุทธ์สำคัญของเซ็นทาราในตลาดต่างประเทศ คือ การลงนามสัญญาบริหารเพื่อเปิดให้บริการโรงแรมในประเทศกลุ่มอาเซียน อาทิ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมถึงการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทชั้นนำในจีนเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ”

ตั้งเป้าอีก 5 ปีติด Top 100 โลก

“ธีระยุทธ” เพิ่มเติมด้วยว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 เครือเซ็นทารามีโรงแรมและรีสอร์ตภายใต้การบริหารรวม 6 แบรนด์ ประกอบด้วย Centara Reserve, Centara Grand Hotels & Resorts, Centara Hotels & Resorts, Centara Boutique Collection, Centra by Centara และ COSI รวม 92 แห่งทั่วโลก

ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 50 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนา 42 แห่ง มีจำนวนห้องพักทั้งหมด 19,348 ห้องพัก ใน 13 ประเทศ อาทิ ไทย มัลดีฟส์ ศรีลังกา เวียดนาม ลาว ญี่ปุ่น โอมาน กาตาร์ ยูเออี เป็นต้น

โดยย้ำว่า “เซ็นทารา” มีเป้าหมายก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 100 แบรนด์โรงแรมชั้นนำระดับโลกภายในปี 2570 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า จากท็อป 150 ของโลกในปัจจุบัน