ธุรกิจโรงแรมไทย แข่งขันสูง (แต่) ตัวเลขโตทั่ว ปท.

แม้ว่าภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมไทยจะรุนแรงขึ้นทุกปี แต่ก็เป็นธุรกิจที่เติบโตไปในทิศทางเดียวกันกับภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศ

“ประชาชาติธุรกิจ”  มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ “ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ” นายกสมาคมโรงแรมไทย หรือ THA ถึงภาพรวมของธุรกิจโรงแรมในปีที่ผ่านมา แนวโน้มของธุรกิจในปี 2561 รวมถึงปัจจัยบวก ปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจโรงแรมและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยไว้ ดังนี้

Q : ภาพรวมของธุรกิจของไทยในปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

ในภาพรวมของปี 2560 ที่ผ่านมา โรงแรมทั่วประเทศมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (occupancy rate) โดยรวมอยู่ที่ประมาณ 70-75% โดยภูมิภาคที่จัดว่าดีอย่างโดดเด่น ประกอบด้วย กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี (พัทยา) ซึ่งจังหวัดเหล่านี้โรงแรมมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ในระดับที่ 75% ขึ้นไป

และหากแยกตามภูมิภาคพบว่า ภาคกลาง ซึ่งมีกรุงเทพฯเป็นพื้นที่หลัก ยังถือว่าธุรกิจอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะในพื้นที่กรุงเทพฯนั้นแทบจะไม่มีโรงแรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นมาเพิ่มแล้ว จะมีก็เพียงแค่โรงแรมขนาดเล็ก หรือโรงแรมในกลุ่มบัดเจตที่อยู่ในตรอก ในซอยเป็นหลัก

ส่วนภาคใต้ถือว่าเป็นภูมิภาคที่โรงแรมอัตราการเติบโตที่ดีมากในหลาย ๆ จังหวัดในแถบทะเลอันดามัน ทั้งภูเก็ต พังงา กระบี่ และสมุย ที่สำคัญเป็นภูมิภาคเดียวที่ได้ทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป เอเชีย รวมถึงรัสเซีย โดยพบว่าในช่วงไฮซีซั่นของภูเก็ตในภาพรวมโรงแรมมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยถึง 85-90% แถมยังกระจายไปยังจังหวัดใกล้เคียงด้วย ขณะที่ช่วงโลว์ซีซั่นยังสามารถรักษาอัตราการเข้าพักเฉลี่ยไว้ได้ที่ราว 70%

เช่นเดียวกับภาคเหนือ ที่เชียงใหม่ ภาคตะวันออก ที่ชลบุรี (พัทยา) ซึ่งในภาพรวมแล้วถือว่าดีมากเช่นกัน ขณะที่ภาคอีสานนั้นยังคงเป็นโซนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ค่อยนิยมไปนัก เนื่องจากสถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดอยู่ค่อนข้างห่างไกล จะมีเพียงกลุ่มนักท่องเที่ยวจากลาวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวทางรถยนต์เป็นหลักเท่านั้น

Q : เมืองท่องเที่ยวไหนบ้างที่พบว่าดีทั้งในแง่ของอัตราการเข้าพักและราคาห้องพัก

ในพื้นที่ที่พบว่าโรงแรมมีอัตราการเติบโตที่ดี ทั้งในด้านอัตราการเข้าพัก (occupancy rate) และราคาห้องพัก (room rate) ที่ชัดเจนมาก ๆ คือ ภูเก็ต แต่ธุรกิจโรงแรมที่ภูเก็ตก็มีต้นทุนการบริหารจัดการที่สูง จึงต้องขายห้องพักในราคาที่สูงด้วย ที่สำคัญทุกวันนี้ภาพรวมของภูเก็ตดีตลอดทั้งปี แทบจะไม่มีคำว่าไฮซีซั่นและโลว์ซีซั่นแล้ว

อีกเมืองที่ถือว่าดีมากทั้งด้านอัตราการเข้าพักและราคาห้องพัก คือ สมุย (สุราษฎร์ธานี) ซึ่งในบางช่วงเวลาโรงแรมที่สมุยยังมีศักยภาพในการทำราคาได้สูงกว่าที่ภูเก็ตด้วยซ้ำ ซึ่งการเติบโตอย่างชัดเจนของสมุย ได้ทำให้บริเวณโดยรอบ อาทิ เกาะพะงัน เกาะเต่า ได้รับอานิสงส์ไปด้วย

นอกจากนี้ยังพบว่า ที่พัทยา (ชลบุรี) ก็มีภาพรวมที่ดีกว่าปีก่อนทั้ง 2 ส่วน ขณะที่ในกรุงเทพฯ อัตราการเข้าพักโดยรวมดีขึ้น แต่ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

Q : ประเมินภาพรวมสำหรับปีนี้ไว้อย่างไรบ้าง

สำหรับ 2561 นี้ เราเพิ่งก้าวผ่านมาได้เดือนกว่า ๆ เกือบ 2 เดือน ยังพบว่าในภาพรวมนั้นยังดีต่อเนื่องมาจากปลายปีที่ผ่านมา โดยเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ ยังมีอัตราการเข้าพักที่ดีมากตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งตามซีซันนิ่งของการท่องเที่ยวแล้ว เมื่อก้าวเข้าสู่เดือนมีนาคม-เมษายน ก็จะเริ่มเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่นแล้ว (ยกเว้นเชียงใหม่ ที่ยังมีไฮซีซั่นในช่วงเมษายน) และก็ลากยาวไปจนถึงสิงหาคม-กันยายน

อย่างไรก็ตาม หากให้คาดการณ์ล่วงหน้าของปีนี้ ส่วนตัวยังมองว่าธุรกิจโรงแรมในภาพรวมยังคงมีอัตรา
การเติบโตที่ดีต่อเนื่องได้ เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศไทยในช่วงนี้เริ่มกลับมามีสีสันมากยิ่งขึ้น และยังมองไม่เห็นเหตุการณ์อะไรที่เป็นปัจจัยลบแต่อย่างใด

ตอนนี้เป็นห่วงอยู่เรื่องเดียว คือ เศรษฐกิจและการเมืองโลก ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ยากที่จะควบคุมได้

Q : ตอนนี้มีพื้นที่ไหนบ้างที่โรงแรมอยู่ในภาวะโอเวอร์ซัพพลาย

ถ้ามองในมุมของโอเวอร์ซัพพลายตอนนี้ เรามองว่าเป็นในทุกเมืองที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก และถ้าหากกางแผนที่เมืองท่องเที่ยวหลักดูจะไม่เห็นโรงแรมใหม่หรือโรงแรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นแล้ว

ขณะที่นักลงทุนเองก็เริ่มปรับรูปแบบการลงทุน ด้วยการหันมาลงทุนโรงแรมขนาดเล็กแทน เพราะเทรนด์ของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันไม่ได้มาเป็นกรุ๊ปขนาดใหญ่ และไม่นิยมบริการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในโรงแรม ไม่ว่าจะเป็นห้องอาหาร สระว่ายน้ำ ฯลฯ ที่สำคัญการลงทุนโรงแรมขนาดใหญ่เป็นการลงทุนที่สูงมาก ใช้เวลาในการคืนทุนค่อนข้างนาน

Q : การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกระทบต่อธุรกิจโรงแรมโดยรวมมากน้อยแค่ไหน

ส่วนตัวมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำนั้นกระทบบ้างในส่วนที่เป็นโรงแรมขนาดเล็ก หรือที่อยู่ในต่างจังหวัด เพราะทำให้โรงแรมมีต้นทุนด้านบุคลากรที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจุดนี้เป็นผลกระทบโดยตรง แต่ถ้าเป็นโรงแรมใหญ่นั้นส่วนใหญ่จ่ายค่าแรงเกินจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม มองว่าการปรับขึ้นค่าแรงยังมีผลทางอ้อมต่อธุรกิจโรงแรมด้วย เพราะธุรกิจโรงแรมนั้นต้องเชื่อมโยงกับหลาย ๆ ภาคส่วน เช่น ด้านอาหาร ในธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่จะบริการอาหารฟรีกับพนักงาน ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างก็จะส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น นั่นหมายความว่าโรงแรมก็ต้องแบกรับค่าครองชีพของพนักงานที่เพิ่มขึ้นด้วย

Q : ความคืบหน้าในการดึงให้ผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนให้ถูกต้องเป็นอย่างไร

ในส่วนนี้ที่ผ่านมา เราใช้ความพยายามอย่างมากและทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายเข้ามาจดทะเบียนให้ถูกต้อง แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ยากลำบากอยู่เช่นเดิม

ปัจจุบันทั่วประเทศมีโรงแรมอยู่เกือบ 20,000 แห่ง มีจำนวนห้องพักอยู่ที่ประมาณ 700,000 ห้องพัก ในจำนวนนี้เป็นโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย 9,600 แห่ง รวมประมาณ 400,000 ห้องพัก โดยส่วนที่ไม่ถูกกฎหมายนั้น ส่วนใหญ่ยังเป็นโรงแรมขนาดเล็ก

หากดูตามจำนวนแล้ว พบว่ามีจำนวนโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเพียงแค่ประมาณ 35% เท่านั้น ที่เหลือบางส่วนอยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่อเข้าระบบ บางส่วนก็ไม่สามารถปรับปรุงได้จริง ๆ…

 

แนะรัฐ-เอกชนลงทุน แม็กเนตใหม่ดึงนักท่องเที่ยว

แม้ว่ารัฐบาลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวในเมืองรอง ด้วยการนำเอาค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวมาลดหย่อนภาษีได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี

แต่ก็ยังดูเหมือนว่าความพยายามในการกระจายนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักไปสู่เมืองรองยังไม่ค่อยชัดเจนนัก โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

“ศุภวรรณ ถนอนเกียรติภูมิ” นายกสมาคมโรงแรมไทย หรือ THA บอกว่า มาตรการด้านภาษีนั้นได้รับการตอบรับอย่างมากในช่วงปีแรก ๆ ที่รัฐบาลออกมาตรการออกมาในช่วงปลายปี

ส่วนในปีนี้รัฐบาลประกาศใช้มาตรการนี้ตลอดทั้งปีแต่บรรยากาศกลับดูไม่ตื่นเต้นมากนัก

สำหรับด้านการลงทุนนั้น ก็ยังพบว่านักลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังคงลงทุนเปิดโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวหลักยังไม่กระจายไปสู่เมืองรองมากนัก ยกเว้นกลุ่ม ดิ เอราวัณ และเซ็นทรัล ที่วางแผนลงทุนในเมืองขนาดเล็กที่มีศักยภาพไปก่อนหน้านี้แล้ว

ทั้งนี้ เนื่องจากเมืองรองยังมีนักท่องเที่ยวไปเยือนแค่ในบางซีซั่นเท่านั้น และที่สำคัญนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เลยไปเที่ยวเมืองรองก็ยังคงนิยมพักในเมืองท่องเที่ยวหลัก

“ศุภวรรณ” มองว่า ตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยดูดนักท่องเที่ยว เที่ยวได้นั้น คือ ประเทศไทยต้องสร้างแม็กเนตใหม่ ๆ หรือที่เรียกกันว่า “Mam Made Tourist Attraction” ซึ่งในประเด็นนี้รัฐบาลควรสนับสนุนการลงทุนจากภาคเอกชนให้มาช่วยกันลงทุนทำให้เกิดสถานที่ใหม่ ๆ สำหรับรองรับนักท่องเที่ยว

พร้อมยกตัวอย่างถึงการลงทุนของโครงการใหม่ ๆ บริเวณริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพฯ อาทิ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์,  ล้ง 1919

รวมถึงโครงการ “ไอคอนสยาม” ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาดใหญ่ถึง 50 ไร่ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ว่ากันว่าจะเป็นอภิมหาโปรเจ็กต์ของประเทศ ด้วยงบฯลงทุนกว่า 55,000 ล้านบาท ที่พร้อมจะเผยโฉมแล้วในช่วงปลายปีนี้

โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็น attraction ใหม่ ๆ ที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างประเทศและชาวไทยให้เดินทางมาท่องเที่ยวและจับจ่ายที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยายังมีเสน่ห์และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งกลางวันและกลางคืน

โดยที่ผ่านมา สมาคมโรงแรมไทยและผู้ประกอบการโรงแรม ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน และแนะนำ attraction ใหม่ ๆ เหล่านี้ให้กับนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน…

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”