ดุสิตธานีกรุงเทพ เร่งก่อสร้าง เคาะฤกษ์คัมแบ็กกลางปีหน้า

ดุสิตธานี

“ดุสิตธานี” เคาะฤกษ์เปิดโรงแรม “ดุสิตธานี กรุงเทพ” 1 ใน 4 บิ๊กโปรเจ็กต์ของ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” กลางปี’67 เผยสปีดงานก่อสร้างควบคู่ตกแต่งภายในเต็มที่ ล่าสุดขยับขึ้นถึงชั้น 25 คาดเปิดทั้งโครงการปลายปี’68 พร้อมกางแผนเพิ่มโรงแรมในเครือข่ายอีก 14 แห่งในปีนี้ ตั้งเป้าเติบโตจากปีก่อน 30-35% มีรายได้รวมสูงกว่าปี’62 ก่อนวิกฤตโควิด

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทมีแผนเปิดให้บริการโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ (จำนวน 250 ห้องพัก) ในช่วงกลางปีหน้า หรือประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2567

หลังจากเปิดให้บริการเพื่อพัฒนาโครงการใหม่ไปเมื่อปี 2562 โดยโรงแรมดุสิธานี กรุงเทพ เป็น 1 ใน 4 โครงการย่อยของโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” (Dusit Central Park) ซึ่งเป็นโครงการมิกซ์ยูสที่ร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา มูลค่า 4.6 หมื่นล้านบาท ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 23 ไร่ บริเวณมุมถนนพระราม 4-สีลม

พร้อมเปิดทั้งโครงการปลายปี’68

โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในส่วนของโรงแรมก่อสร้างแล้ว 20-22 ชั้น ปัจจุบันเดือนพฤษภาคมก่อสร้างอยู่ที่ประมาณชั้น 25 จากทั้งหมดจำนวน 39 ชั้น คาดว่าโครงสร้างภายนอกทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2566 นี้ และเริ่มตกแต่งภายในควบคู่กันไป เพื่อให้พร้อมเปิดบริการ (soft launch) ในช่วงกลางปี 2567 และตั้งเป้าเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568

สำหรับโครงการพักอาศัย หรือ Dusit Residences ก็เริ่มก่อสร้างไปมากแล้ว เช่นเดียวกับการขายก็คืบหน้าไปได้ดี โดยปัจจุบันขายไปได้แล้วประมาณ 60% หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการตอบรับที่ดีเกินคาด เนื่องจากบริษัทยังไม่ได้ไปทำตลาดต่างประเทศ แต่ยังสามารถขายได้ ขณะที่ในส่วนของอาคารสำนักงานและห้างสรรพสินค้า (retail) ก็จะทยอยก่อสร้างตามมา และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการภายในปี 2568

เร่งงานก่อสร้างเต็มที่ทุกส่วน

สอดรับกับข้อมูลที่บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) รายงานความคืบหน้าการก่อสร้างของโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าในส่วนงานโครงสร้างอาคาร (super-structure) ของโรงแรม ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2566 ได้ก่อสร้างพื้นถึงชั้น 18 ในเดือนเมษายนได้ก่อสร้างถึงชั้น 22

สำหรับงานก่อสร้างโครงสร้างใต้ดิน (sub-structure) ของอาคารที่พักอาศัยและอาคารสำนักงาน ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 อยู่ระหว่างการก่อสร้างชั้น LG ส่วนฐานรากของอาคาร (tower footprint) เพื่อส่งพื้นที่ให้ผู้รับเหมาหลัก คือบริษัท ฤทธา จำกัด

เพื่อติดตั้งเครนเพื่อใช้ก่อสร้างอาคารสูง (tower crane) ในเดือนเมษายน โดยจะดำเนินการก่อสร้าง super-structure ในไตรมาส 2/2566 ส่วน บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ยังคงเดินหน้างาน substructure ของศูนย์การค้า

โดยตั้งเป้าส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาหลักภายในสิ้นปี 2566 โดยแผนการเปิดโครงการในปัจจุบันระบุว่า เฟสแรกจะเปิดในกลางปี 2567 โดยเริ่มจาก
โรงแรม ตามด้วยอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และอาคารที่พักอาศัยเป็นส่วนสุดท้ายภายในปี 2568

ปี’66 เปิดโรงแรมใหม่เพิ่ม 14 แห่ง

นางศุภจียังกล่าวถึงแผนการเปิดตัวโรงแรมใหม่สำหรับปี 2566 นี้ด้วยว่า ตามแผนที่วางไว้ปีนี้กลุ่มดุสิตธานีจะมีพร็อพเพอร์ตี้ใหม่เพิ่มขึ้น 14 แห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการรับบริหารเป็นหลัก โดยในเดือนพฤษภาคมนี้มี 2 แห่งคือ โรงแรมบีทู สามย่าน (รับบริหาร) โรงแรมอาศัย สาทร จำนวน 106 ห้อง (ลงทุนเอง)

จากนั้นจะทยอยเปิดอีกหลายแห่ง อาทิ โรงแรมอาศัย เกียวโต ชิโจ ที่พักแนวไลฟ์สไตล์ ในเดือนมิถุนายน โรงแรม ดุสิตธานี เกียวโต ในเดือนกันยายนนี้

“สำหรับ 2 โรงแรมในญี่ปุ่นนี้ถือเป็นการนำแบรนด์ดุสิตธานี ไปสู่ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก หลังจากขยายการให้บริการเช่าวิลล่าหรู ในหมู่บ้านนิเซโกะและฮิราฟุ ของฮอกไกโด ภายใต้แบรนด์อีลิธ เฮเวนส์ มาแล้ว นอกจากนี้ ปีนี้เรายังขยายธุรกิจไปยังประเทศใหม่ ๆ อีกหลายประเทศ เช่น อินเดีย, เนปาล เป็นต้น และคาดว่าถึงสิ้นปีนี้กลุ่มดุสิตธานีจะมีโรงแรมอยู่ใน 22 ประเทศทั่วโลก” นางศุภจีกล่าว

ตั้งเป้าโต 30-35% รายได้แซงปี’62

นางศุภจีกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมของกลุ่มดุสิตธานีมีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะโรงแรมที่อยู่ในต่างประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ มัลดีฟส์ ตะวันออกกลาง ที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ทั่วโลกทยอยเปิดประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ในช่วงครึ่งปีแรก/2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 6 ล้านคน ทำให้คาดว่าเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25 ล้านคนสำหรับปี 2566 นี้น่าจะมีความเป็นไปได้สูง

“เราคาดว่ารายได้จากธุรกิจโรงแรมในปี 2566 จะเติบโตได้ประมาณ 30-35% จากปี 2565 ซึ่งจะเป็นรายได้ที่สูงกว่าปี 2562 (ก่อนการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19) จากการเพิ่มขึ้นของค่าห้องเฉลี่ยและอัตราการเข้าพัก” นางศุภจีกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังคงต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งจากการเพิ่มขึ้นของราคาตั๋วเครื่องบิน การขาดแคลนแรงงานและบุคลากร อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ฯลฯ ที่สำคัญรายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับจำนวน

นอกจากนี้ ปัจจุบันรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยยังมาจากการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก และยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะในช่วงวันหยุด ทำให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการยาก และมีต้นทุนสูงกว่าปกติ ขณะที่ภาระดอกเบี้ยและต้นทุนการเงินจากวิกฤตโควิดก็ยังต้องรับมืออยู่

จึงอยากเสนอให้ไทยมุ่งทำการตลาดที่ชัดเจนในด้านเซ็กเมนเตชั่นให้มากขึ้น อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ หรือกลุ่ม MICE กลุ่มพักระยะยาว หรือ long stay เป็นต้น เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวมีอัตราการพำนักในประเทศไทยนานขึ้น และมีการใช้จ่ายต่อหัวที่เพิ่มขึ้นด้วย

ราคาห้องพักไม่ต่ำกว่า 9 พันต่อคืน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” (Dusit Central Park) นั้น ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนสีลมตัดกับถนนพระราม 4 ตรงข้ามกับสวนลุมพินี ที่มาแทนที่เดิมของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ที่ปิดตัวลงไปเมื่อ 5 มกราคม 2562 และปรับเปลี่ยนรูปโฉมใหม่เป็นโปรเจ็กต์ mixed use มูลค่าโครงการ 46,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โรงแรม อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม และศูนย์การค้า

โดยโรงแรมดุสิธานี กรุงเทพ ออกแบบห้องพักที่เน้นขนาดห้องที่ใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวสำหรับผู้เข้าพัก ทุกห้องสามารถรับวิวสวนลุมพินี และยังคงเอกลักษณ์ที่เป็นความทรงจำของดุสิตธานีเดิมไว้ ทั้งล็อบบี้ที่มีน้ำตก ห้องจัดเลี้ยง หรือห้องประชุมมีหลากหลายขนาดไว้รองรับความต้องการ โดยเฉพาะห้องนภาลัยบอลรูมที่มีขนาดใหญ่และเชื่อมต่อเข้ากับสวนหย่อมของโรงแรมและน้ำตก

รวมถึงห้องอาหารเทียร่าที่เคยตั้งอยู่ชั้นบนสุด และยอดเสาสีทองที่เป็นสัญลักษณ์ของโรงแรมดุสิตธานี กลับมาให้ลูกค้าได้สัมผัสในรูปแบบ “รูฟท็อปบาร์” ใหม่อีกครั้ง โดยคาดว่าระดับราคาห้องพักจะไม่ต่ำกว่า 9,000 บาทต่อคืน