แอร์บัสอวดโฉม A220 จัดเที่ยวบินสาธิต กรุงเทพฯ – สมุย

เครื่องบินแบบแอร์บัส A220-300 สายการบินแอร์บัลติค ภาพถ่าย ณ ท่าอากาศยานสมุย
airBaltic Airbus A220-300 REG: YL-ABO at Samui International Airport (USM) (26 May 2023)

แอร์บัสรุกตลาดเอเชียแปซิฟิค นำเครื่องบิน แอร์บัส A220 อวดโฉมต่อสายตาสื่อ-นักธุรกิจแวดวงการบิน จัดเที่ยวบินสาธิต กรุงเทพฯ – สมุย โชว์สมรรถนะ บินไกล ประหยัดน้ำมัน นั่งสบาย

วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอร์บัส ผู้ผลิตอากาศยานจากประเทศฝรั่งเศส ได้ปฏิบัติการเที่ยวบินสาธิต โดยใช้เครื่องบินแอร์บัส A220-300 สายการบิน airBaltic ทำการบินเที่ยวบินไปและกลับ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) – เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โดยเที่ยวบินสาธิตเครื่องบิน A220 ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการทำเที่ยวบินสาธิตในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำสื่อมวลชนและแขกในวงการอุตสาหกรรมการบินร่วมเดินทางไปกับเที่ยวบิน

เครื่องบินลำนี้ เริ่มต้นเดินทางจากงานแสดงสินค้ายุทโธปกรณ์ เทคโนโลยีด้านการทหารและความปลอดภัย หรือ Langkawi International Maritime & Aerospace Exhibition (LIMA) ในประเทศมาเลเซีย จากนั้นแวะพักเครื่องบินที่กรุงจาการ์ตา ก่อนเดินทางมายังกรุงเทพฯ

ดีไซน์ล้ำ ปล่อยคาร์บอนลดลง 25%

นายเรย์มอนด์ มานูเกียน (Raymond Manougian) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ทางเดินเดี่ยว แอร์บัส เปิดเผยว่า เครื่องบินตระกูล A220 ได้รับการออกแบบโดยยึดตามความต้องการของลูกค้า ผ่านการรับฟังความเห็นจากสายการบินและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ พร้อมกับย้ำว่า เครื่องบินรุ่นดังกล่าวไม่ได้เป็นการย่อหรือลดขนาดเครื่องบินที่มีรุ่นอื่น ๆ แต่อย่างใด เครื่องบินแต่ละรุ่นของแอร์บัส มีจุดประสงค์ทางการตลาดที่แตกต่างกันออกไป

“เครื่องบินแอร์บัส A220 ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงหลักอากาศพลศาสตร์ ใช้วัสดุคาร์บอนคอมโพสิทในส่วนของปีกและแพนหาง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของกลุ่มเครื่องบินทางเดินเดี่ยวที่ใช้วัสดุดังกล่าว” นายเรย์มอนด์กล่าว

นอกจากนี้ A220 ยังขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์แพรทต์ แอนด์ วิทนีย์ (Pratt & Whitney) รุ่น พีดับเบิลยู 1500 จี (PW1500G) ซึ่งเมื่อรวมกับองค์ประกอบอื่น ๆ ทำให้เครื่องบินรุ่นดังกล่าว ลดการใช้เชื่อเพลิงและปล่อยคาร์บอนลดลง 25% ลดต้นทุนการบริหารจัดการลงราว 20%

เครื่องบินตระกูล A220 มีจำนวน 2 รุ่นด้วยกันคือ

  1. A220-100 รองรับผู้โดยสารได้ 100-130 ที่นั่ง เป็นตัวเลือกให้สายการบินในการเปิดเส้นทางบินใหม่ ๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีพิสัยการบิน 3,450 ไมล์ทะเล* หรือสามารถทำการบินเส้นทาง กรุงเทพฯ – โตเกียวได้ (เมื่อออกแบบห้องโดยสารจุผู้โดยสารราว 116 คน*)
  1. A220-300 รองรับผู้โดยสารได้ 130-160 ที่นั่ง เป็นตัวเลือกให้สายการบินในการเชื่อมโยงโครงข่ายการบิน มีพิสัยการบิน 3,400 ไมล์ทะเล* หรือสามารถทำการบินเส้นทาง กรุงเทพฯ – ปักกิ่งได้ (เมื่อออกแบบห้องโดยสารจุผู้โดยสารราว 141 คน*)
พิสัยการบินของเครื่องบินแอร์บัส A220 โดยวัดจากกรุงเทพมหานครเป็นจุดตั้งต้น ออกไปเป็นวงรัศมี จากภาพ เครื่องบินสามารถบินได้ไกลที่สุดได้ถึงเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย
ที่มาภาพ : แอร์บัส

ผู้โดยสารนั่งสบาย

นายเรย์มอนด์ กล่าวว่า ห้องโดยสารของเครื่องบินแอร์บัส A220 ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้โดยสารเป็นสำคัญ เช่น ออกแบบให้มีขนาดที่นั่งที่กว้าง โดยที่นั่งริมหน้าต่างและทางเดินจะมีความกว้าง 18.5 นิ้ว และที่นั่งตรงกลาง (Middle Seat) มีขนาด 19 นิ้ว

นอกจากนี้ A220 ยังมีหน้าต่างบานใหญ่ขึ้น และมีหน้าต่างบานใหญ่ที่สุดในกลุ่มเครื่องบินทางเดินเดี่ยว (Single-aisle) ทำให้สามารถรับแสงธรรมชาติได้ดีขึ้น พร้อมกับช่องเก็บสัมภาระที่มีขนาดใหญ่ และระบบแสงไฟเหนือห้องโดยสาร

ที่นั่งในห้องโดยสารมีความกว้างสบาย
ที่มาภาพ : แอร์บัส

เชื่อมต่อเส้นทางบินรอง

นายเรย์มอนด์ กล่าวว่า เครื่องบินในกลุ่ม A220 นั้น ถือเป็นเครื่องบินที่เข้ามาเติมเต็มตระกูลเครื่องบินแบบทางเดินเดี่ยว (Single-aisle) โดยข้อมูลพบว่า เครื่องบิน A220 ที่ถูกสั่งซื้อไปนั้น กว่า 70% จะถูกนำมาใช้งานร่วมกับเครื่องบินแอร์บัส A320

ข้อมูล ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 เครื่องบินรุ่นดังกล่าวได้ถูกใช้ทำการบินไปแล้วมากกว่า 1,100 เส้นทางบิน โดยกว่า 200 เส้นทาง เป็นเส้นทางที่ถูกประเมินว่ามีดีมานด์ไม่สูงมากนัก (Thin-route)  อีกทั้งเครื่องบิน A220 ได้ให้บริการผู้โดยสารจำนวนมากกว่า 375 ปลายทาง มากกว่า 800,000 เที่ยวบิน คิดเป็นเวลามากกว่า 1,350,000 ชั่วโมงบิน

ทั้งนี้ ด้วยคุณสมบัติที่สามารถทำการบินได้ในระยะไกลขึ้น ทำให้ขยายตลาดเส้นทางบิน อีกทั้งยังทำให้เกิดการเชื่อมต่อไปยังเส้นทางที่มีดีมานด์ไม่สูงมากนัก

หน้าต่างของห้องโดยสารเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 220 มีขนาดที่กว้างกว่าเครื่องบินทางเดินเดี่ยวรุ่นอื่น ๆ
ที่มาภาพ : แอร์บัส

ข้อมูลจากแอร์บัส พบว่า แอร์บัสได้รับคำสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นดังกล่าวไปแล้วจำนวน 785 ลำ ส่งมอบเครื่องบินไปแล้ว 262 ลำ และรอการส่งมอบจำนวน 523 ลำ ครองส่วนแบ่งในตลาดเครื่องบินทางเดินเดี่ยว (ขนาด 100-150 ที่นั่ง) จำนวน 60%

โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค สายการบินโคเรียนแอร์ จากประเทศเกาหลีใต้ ให้บริการเครื่องบินรุ่นดังกล่าวอยู่จำนวน 10 ลำ และล่าสุดสายการบินแควนตัส จากประเทศออสเตรเลียได้ทำการสั่งซื้อเครื่องบิน A220 จำนวน 20 ลำ

แม้จะไม่ได้ตอบคำถามที่ว่า ในปีนี้แอร์บัสวางเป้าหมายว่าจะขายเครื่องบิน A220 ได้จำนวนกี่ลำ และลูกค้าเป้าหมายของแอร์บัสคือใคร แต่ผู้บริหารจากแอร์บัส ให้ข้อมูลว่า ตลาดเอเชียถือเป็นสำคัญและต้องจับตา เนื่องจากจำนวนเครื่องบินแอร์บัสทั้งหมดที่ให้บริการทั่วโลก กว่า 35% อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

วิวน้องหน้าต่างเครื่องบิน เห็นวิวกรุงเทพมหานครอยู่เบื้องล่าง ถ่ายจากเครื่องบินแบบแอร์บัส A220-300 สายการบินแอร์บัลติค