สร้างความหวังให้กับคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างมาก เมื่อรัฐบาลใหม่ที่นำโดย “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เดินหน้าฟื้นการท่องเที่ยวให้กลับมาเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกครั้ง นับว่าเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้ให้ความสนใจเรื่องการท่องเที่ยว
ขณะที่ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวยังรอมาตรการกระตุ้นที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวของไทยยังฟื้นกลับมาได้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับปี 2562 เนื่องจากยังเจออุปสรรค ปัญหาหลายเรื่อง
“ประชาชาติธุรกิจ” จึงได้รวบรวมความเห็น ข้อเสนอ รวมถึงมุมมองในการฟื้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวของผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งให้รัฐบาลพิจารณาดังนี้
วรเนติ หล้าพระบาง ซีอีโอ “ไทยเวียตเจ็ทแอร์”
“วรเนติ หล้าพระบาง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ บอกว่า ประเด็นที่ขอฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่คือ กระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านมาตรการวีซ่า และอำนวยความสะดวกด้านการตรวจคนเข้าเมืองให้กับนักท่องเที่ยว
เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีคู่แข่งด้านการท่องเที่ยวจำนวนมาก ประเทศไทยจึงไม่ใช่จุดหมายปลายทางเดียวของนักท่องเที่ยว
และเพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อผู้โดยสารของภูมิภาค ภาครัฐต้องอำนวยความสะดวกด้านกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง ลดการรอคิว รวมไปถึงการรักษาสภาพแหล่งท่องเที่ยวให้คงความสวยงามเอาไว้
นอกจากนี้ ยังเตรียมพูดคุยกับรัฐบาลชุดใหม่ และขอขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่เคยลดอัตราการจัดเก็บจาก 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร โดยอาจเสนอรูปแบบการทยอยเก็บแบบขั้นบันได
ส่วนมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวนั้น “วรเนติ” บอกว่า มีความหวังว่าภายใต้รัฐบาลชุดใหม่จะเห็นความชัดเจนของนโยบายการต่างประเทศ กระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน ให้แนบแน่นและราบรื่น ซึ่งอาจมีผลต่อการผ่อนปรนมาตรการด้านการบิน ฯลฯ
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย
“มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) บอกว่า ส่วนตัวยินดีอย่างมากที่นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) เริ่มทำงานแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และประกาศนโยบายฟื้นการท่องเที่ยว ทั้งประเด็นวีซ่า พัฒนาขยายสนามบิน ฯลฯ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลรับรู้ถึงปัญหาของภาคการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา และพร้อมเข้ามาขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม อยากให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอยากเห็นประเทศปรับสมดุลโครงสร้างนักท่องเที่ยวใหม่ มุ่งสู่นักท่องเที่ยวคุณภาพ ใช้จ่ายสูง มากกว่าเน้นเรื่องปริมาณที่รับเข้ามาจำนวนมากแต่เกิดปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหาจีนเทา หรือทัวร์ศูนย์เหรียญเหมือนในอดีต
ส่วนประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับนโยบายรัฐบาลใหม่คือ การปรับขึ้นค่าแรง 600 บาทต่อวัน จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการหนักมาก โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี โรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งในส่วนของโรงแรมปัจจุบันโรงแรมขนาดใหญ่หรือโรงแรม 5 ดาวส่วนใหญ่ค่าแรงจะเกินขั้นต่ำไปแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องของราคาพลังงานซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมากในภาคของธุรกิจโรงแรม รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคบริการด้วย
ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย
“ฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า เป็นสัญญาณที่ดีมากที่รัฐบาลใหม่เดินหน้าทำงานเร็ว โดยเฉพาะนโยบายขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากธุรกิจอาหารก็ต้องพึ่งพาการบริโภคจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเช่นกัน
เมื่อการท่องเที่ยวของประเทศยังไม่ฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติ ในภาพรวมจึงยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการฟื้นตัวของผู้ประกอบการร้านอาหารเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลทบทวนนโยบายเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงอีกครั้ง เพราะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนของผู้ประกอบการในทุกเซ็กเตอร์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอี หรือกลุ่มคนตัวเล็ก
สำหรับในกลุ่มของผู้ประกอบการร้านอาหารนั้น ส่วนตัวมองว่ากระทบหนักแน่นอน เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี หรือทุนเล็ก จึงส่งกระทบหนักแน่
“ส่วนตัวไม่เห็นด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะประโยชน์ไม่ได้อยู่ที่แรงงานคนไทยมากนัก แต่จะไปตกอยู่กับแรงงานต่างชาติมากกว่า ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานต่างชาติอยู่ในประเทศไทยกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ” ฐนิวรรณย้ำ
สันติสุข คล่องใช้ยา ซีอีโอ “ไทยแอร์เอเชีย”
“สันติสุข คล่องใช้ยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า อยากฝากถึงรัฐบาลใหม่ให้ผลักดันนโยบายฟื้นธุรกิจการท่องเที่ยวเเละการบินได้อย่างต่อเนื่อง
โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก ดังนี้ 1.สนับสนุนนโยบายและแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยต่อเนื่อง เช่น การออกแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ลดต้นทุนการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง
2.พิจารณายกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (visa on arrival) เป็นการชั่วคราว (ระยะเวลา 6 เดือน) ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่อกระตุ้นให้มีการเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันมีค่าธรรมเนียม 2,000 บาทต่อคน
และ 3.ขยายสิทธิการบิน ปัจจุบันสิทธิการบินไปยัง 6 เมืองหลักของประเทศอินเดีย ประกอบด้วย นิวเดลี มุมไบ บังคาลอร์ โกลกาตา เชนไน และไฮเดอราบาด ปัจจุบันได้ปฏิบัติการบินเต็มโควตาที่ได้รับแล้ว
เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของการท่องเที่ยวไทยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐบาลต่ออายุมาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นด้วย
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ซีอีโอกลุ่ม “ดุสิตธานี”
“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ฝากให้รัฐบาลชุดใหม่สนับสนุนนโยบายด้านธุรกิจท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ
โดยเสนอให้เน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณมากเพียงอย่างเดียว รัฐบาลต้องตีโจทย์ว่าทำอย่างไรนักท่องเที่ยวจะพำนักนานมากขึ้น และใช้จ่ายเม็ดเงินมากขึ้น
ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวไทยอาจต้องเติมวัตถุประสงค์การท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยว มากกว่าการเดินทางมาเที่ยวเพียงอย่างเดียว เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวที่ทำงานไปพร้อมกัน ฯลฯ รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกในการตรวจคนเข้าเมืองและมาตรการด้านวีซ่า
และเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรม ภาครัฐอาจออกมาตรการจูงใจด้านภาษี สามารถนำค่าใช้จ่ายด้านพัฒนาทักษะแรงงานในภาคท่องเที่ยวไปลดหย่อนภาษี
ส่วนนโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานนั้น “ศุภจี” บอกว่า อยากขอให้รัฐบาลพิจารณานโยบายดังกล่าวให้ถูกต้อง เหมาะสม ขึ้นค่าแรงอย่างระมัดระวัง และพิจารณาต้นทุนผู้ประกอบการด้วย ควรส่งเสริมการฝึกฝนทักษะและทบทวนทักษะของแรงงานไปพร้อมกับการขึ้นค่าแรง
พร้อมย้ำว่า การขึ้นค่าแรงเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่ม แต่ไม่อยากให้มองด้านเดียว อยากให้พัฒนาทักษะแรงงานไปพร้อม ๆ กับค่าแรง ถ้าขึ้นค่าแรงทั่ว ๆ ไป ผู้ประกอบการก็อาจเดือดร้อน