AOT จ่อชงรัฐบาลเศรษฐา รับโอน 9 สนามบินภูมิภาค

โอนสนามบิน

ทอท.เตรียมเสนอรัฐบาลชุดใหม่ รับโอนสนามบินภูมิภาค 9 แห่ง อุบลฯ ขอนแก่น แม่สอด ติดโผ หากแผนสร้างสองสนามบินใหม่ เชียงใหม่ ภูเก็ต เกิดขึ้นจริง ก็พร้อมลงทุน เผยเปิดอาคาร SAT-1 28 กันยายนนี้

วันที่ 30 สิงหาคม 2566 ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า จากการที่ทอท. ร่วมกับ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ 8 สายการบินของไทย ได้เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสนใจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และเห็นว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะมีส่วนสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศได้อย่างรวดเร็ว

โดยนโยบายที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย คือ การลดปัญหาความแออัดของสนามบิน การลดขั้นตอนการเดินทางเข้าประเทศ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสาร รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ และมอบหมายให้ กพท. และ ทอท. จัดสรรสล็อทการบินเพื่อให้สายการบินใหม่ ๆ จากประเทศอินเดียและจีนที่ต้องการเปิดเส้นทางการบินมายังประเทศไทยสามารถเพิ่มเที่ยวบินได้มากขึ้น

ดร.กีรติ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเพิ่มความถี่เที่ยวบินระหว่างเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต อย่างน้อย 20% เพื่อรองรับการเดินทางที่เพิ่มขึ้น และอาจมีส่วนช่วยเพิ่มซัพพลายทำให้ราคาบัตรโดยสารปรับตัวลดลง

ชงรัฐบาล “เศรษฐา” รับโอน 9 สนามบินภูมิภาค

นอกจากนี้ ทอท.เตรียมเสนอแผนงานขับเคลื่อนต่อรัฐบาลชุดใหม่ 3 หัวข้อใหญ่ คือ

  1. แผนบริหารจัดการระยะสั้น 6 เดือน : เพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับผู้โดยสาร ลดความแออัดของสนามบิน บริหารจัดการสล็อทการบินให้เกิดประสิทธิภาพ
  2. นำเสนอแผนการพัฒนาท่าอากาศยานที่ทอท.บริหารจัดการอยู่
  • โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 : ในปี 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าวภายใต้กรอบวงเงิน 36,829 ล้านบาทแล้ว อย่างไรก็ตาม ทอท.ยังต้องเสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้รับทราบอีกครั้ง หลังการออกแบบโครงการดังกล่าว เนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนแปลงภายใต้กรอบวงเงินหลังจากออกแบบโครงการดังกล่าว
  • โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 : รวมถึงโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารฝั่งตะวันออก (East Expansion) ตอนนี้กำลังปรับแบบอยู่
  • โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 : เพิ่มขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารต่างประเทศ จากเดิมที่สามารถรองรับผู้โดยสาร 6 ล้านคนต่อปี เป็น 14 ล้านคนต่อปี
  • โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 : สร้างอาคารผู้โดยสารต่างประเทศหลังใหม่
  1. รับโอนท่าอากาศยานใหม่จากกรมท่าอากาศยาน : ปัจจุบันมีท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานกระบี่ และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมมีแนวคิดให้รับโอนท่าอากาศยานเพิ่มขึ้น

“ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่กรมท่าอากาศยานอยู่ระหว่างการรับรองสนามบินสาธารณะ ซึ่งทางกรมท่าอากาศยานเองคาดการณ์ว่าน่าจะภายในเดือนตุลาคมจะแล้วเสร็จ เมื่อได้รับใบรับรองแล้วจะสามารถโอนถ่ายการบริหารจัดการมาที่ทอท. ได้ทันที คาดว่าถ้ารัฐบาลนี้เห็นชอบและไปในทางเดียวกัน การโอนสามสนามบินก็น่าจะไม่เกินสิ้นปีนี้” ดร.กีรติกล่าว

ดร.กีรติ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เบื้องต้นได้กำชับว่าทอท.นอกจากควรรับโอนสนามบินที่มีกำไรแล้ว ยังควรรับโอนสนามบินที่รายได้ยังไม่ทำกำไรด้วย

หลังรัฐบาลชุดใหม่เข้าทำงาน ในส่วนของทอท. เตรียมเสนอการรับโอน 3 สนามบินเดิม และอีก 6 สนามบินแห่งใหม่ แต่ย้ำว่าจะเป็นสนามบินใดต้องพิจารณาอีกสักระยะ

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นประเมินว่าสนามบินที่มีศักยภาพ ได้แก่ ท่าอากาศยานแม่สอด ท่าอากาศยานพิษณุโลก ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ท่าอากาศยานขอนแก่น ท่าอากาศยานตรัง และท่าอากาศยานระนอง

คาดทอท.ลงทุนเอง 2 สนามบินใหม่

ดร.กีรติ กล่าวว่า สำหรับการลงทุนตามโครงการตามแผนพัฒนาที่มีอยู่ และโครงการใหม่ ซึ่งอาจหมายรวมถึงแนวคิดการก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 และ ท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 นั้น เบื้องต้นประเมินว่าทอท.อาจเป็นผู้ลงทุนเอง

“ทอท.ใช้รายได้ของตัวเองในการลงทุนเป็นหลัก ซึ่งหากรัฐบาลให้นโยบายการขยายท่าอากาศยาน ไม่ว่าโครงการพัฒนาตามแผนพัฒนา เช่น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 หรือโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ซึ่งเราดำเนินการอยู่ เราก็พร้อมจะใช้รายได้ของทอท.ในการลงทุน รวมไปถึงท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 ทั้งหมดนี้ก็จะใช้เงินทุนของทอท.ดำเนินการเองทั้งสิ้น”

ส่วนการลงทุนโครงการดังกล่าว ทอท.จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อลงทุนหรือไม่นั้น ดร.กีรติ กล่าวว่า ทอท.ต้องประเมินกระแสเงินสดในระยะยาว ว่าโครงการที่เข้ามาแต่ละช่วงเวลา ทอท.สามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง อย่างไรก็ดี ทอท.มีความพร้อม เนื่องจากสภาพคล่องของทอท.มีความพร้อมในการดำเนินการ

ลุ้นปี 2567 ผู้โดยสารฟื้นเท่าก่อนโควิด

ดร.กีรติ กล่าวว่า ปริมาณผู้โดยสารสนามบินภายใต้การดูแลของทอท. ในปี 2566 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ราว 25% และรายได้ในไตรมาส 4/2566 (ตามปีงบประมาณทอท.) น่าจะมีแนวโน้มที่ดี

ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ที่ 160,000-170,000 คนต่อวัน และคาดการณ์ว่าปริมาณผู้โดยสารในปลายปี 2566 จะสูงถึง 200,000 คนต่อวัน ใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด-19

ทั้งนี้ ในปี 2567 ปริมาณผู้โดยสารสนามบินมีแนวโน้มกลับไปใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)

เปิด SAT-1 28 กันยายนนี้

ดร.กีรติ กล่าวว่า ทอท.เตรียมเปิดให้บริการ soft launch อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 28 กันยายน 2566 นี้ โดยมีผู้ให้บริการ 3 สายการบิน ได้แก่ สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ สายการบินเอมิเรตส์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท

โดยในช่วงแรกที่เปิดให้บริการ จะมีเที่ยวบินเข้าออกจำนวน 12 เที่ยวบินต่อวันก่อน และคาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2566 นอกจากนี้ หลังจากเปิดให้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 แล้ว เที่ยวบินระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะไม่มีการให้บริการบัสเกต (Bus Gate) อีกต่อไป

ทั้งนี้ เมื่ออาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดให้บริการแล้ว คาดว่าจะช่วยลดความแออัดของอาคารผู้โดยสารหลังเดิมลงได้ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจากเดิม 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี