“นกแอร์” Think Big จ่อลงทุน “ศูนย์ซ่อม” 1.4 พันล้าน

วุฒิภูมิ-นกแอร์
วุฒิภูมิ จุฬางกูร

สายการบินนกแอร์มีเครื่องบินประจำการอยู่ 14 ลำ โดยมี 1 ลำอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงจากเหตุที่เชียงราย อีก 3 ลำอยู่ระหว่างซ่อมบำรุงตามวงรอบปกติ ปัจจุบันมีเครื่องบินใช้ปฏิบัติการบิน 9 ลำ จึงจำเป็นต้องเร่งจัดหาเครื่องบินเข้ามาเพิ่มโดยเร็ว

“วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สายการบินอยู่ระหว่างการพิจารณาการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) ในประเทศไทย รวมถึงเจรจากับผู้สนใจ

ทั้งนี้ ประเมินว่าจะเป็นโรงเก็บเครื่องบิน 2 โรง แบ่งเป็นโรงใหญ่ 1 โรง สามารถซ่อมเครื่องบินลำตัวแคบได้พร้อมกัน 2 ลำ และโรงเล็กอีก 1 โรง เนื่องจากนกแอร์มีแผนเพิ่มฝูงบินเป็น 22 ลำ ภายในปี 2568 ประกอบกับต้องส่งเครื่องบินไปซ่อมใหญ่ตามวงรอบ การลงทุนสร้าง MRO จะทำให้สายการบินไม่ต้องส่งเครื่องบินไปต่างประเทศ

ลงทุน 1.4 พันล้านบาท

“วุฒิภูมิ” บอกว่า เบื้องต้นบริษัทวางกรอบงบฯการลงทุนที่ 1,400 ล้านบาท โดยการลงทุนนี้เป็นการแยกตั้งบริษัทใหม่ ไม่อยู่ภายใต้แผนฟื้นฟู ทำให้นกแอร์ต้องขอความเห็นชอบจากศาลล้มละลายกลางอีกครั้ง คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 1/2567เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569

เพิ่มฝูงบิน 8 ลำภายในปี’67

“วุฒิภูมิ” ยังบอกด้วยว่า ก่อนหน้านี้สายการบินนกแอร์เคยขออนุญาตนำเครื่องบินเข้าประจำการ แต่ใบขออนุญาตได้หมดอายุลง ทำให้ต้องขออนุญาตใหม่อีกครั้ง โดยแผนคือ ต้องการนำเข้าเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 Next Generation 8 ลำ เข้ามาตั้งแต่ปลายปี 2566-2567 แบ่งเป็นปลายปี 2566 นี้ 2 ลำ เพื่อให้สอดคล้องกับการผลิตนักบิน และในอนาคตยังเตรียมรับนักบินพาร์ตไทม์เพื่อแก้ไขปัญหานักบิน

และมีแผนจัดหาเครื่องบินโบอิ้ง 737 Max เพิ่มอีก 8 ลำ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาว่าจะรับเครื่องบินเข้ามาเมื่อใด แต่วางค่ามัดจำไปแล้ว และต้องวางคำสั่งซื้อภายในปี 2568

ADVERTISMENT

“เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาในการนำเข้าเครื่องบิน เพราะรัฐบาลชุดใหม่ต้องการเพิ่มซัพพลายภาคการบิน เพิ่มเที่ยวบิน ลดราคาบัตรโดยสาร”

ไม่ทิ้งแผนเครื่องบินเล็ก

ต่อคำถามว่า นกแอร์จะนำเครื่องบินเล็กกลับเข้ามาให้บริการหรือไม่ “วุฒิภูมิ” บอกว่า ประเด็นนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยอาจเป็นเครื่องบินเจ็ตขนาดเล็ก หรือเครื่องบินใบพัด เช่น ATR72-600 และ Q400 สำหรับบินในเมืองรอง เช่น แม่ฮ่องสอน แพร่

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของภาครัฐจะสนับสนุนสายการบินที่ทำการบินเมืองรองหรือไม่ และเชื่อว่าภาครัฐอยู่ระหว่างการศึกษาเช่นกัน

เชื่อครึ่งปีหลังฟื้นต่อเนื่อง

“วุฒิภูมิ” บอกอีกว่า ปัจจุบันปริมาณการผลิตที่นั่งของสายการบินนกแอร์ยังต่ำกว่าก่อนระดับ 2562 เนื่องจากมีจำนวนเครื่องบินประจำการน้อยกว่าก่อนการระบาดของโควิด รวมถึงอัตราการใช้ประโยชน์เครื่องบินอยู่ที่ประมาณ 9-10 ชั่วโมง จากเดิม 11-12 ชั่วโมง แต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สายการบินนกแอร์มีอัตราการบรรทุกเฉลี่ย (load factor) ผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 75-80%

“ไตรมาส 1/2566 และ 2/2566 สายการบินมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารที่ประมาณ 85% และ 80% ตามลำดับ คาดว่าไตรมาส 3/2566 นกแอร์จะมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่ 80-85% และเชื่ออัตราการบรรทุกผู้โดยสารน่าจะสูงขึ้นต่อไปอีกในไตรมาส 4/2566”

เพิ่มเที่ยวบิน “จีน-อินเดีย”

สำหรับเส้นทางบินต่างประเทศนั้น “วุฒิภูมิ” ระบุว่า นกแอร์ให้ความสนใจตลาดเส้นทางสู่จีน อินเดีย สิงคโปร์ ส่วนประเทศจีนมี 2 เส้นทาง ได้แก่ หนานหนิง (NNG) และเจิ้งโจว (CGO)

“เชื่อมั่นนโยบายวีซ่าฟรีของรัฐบาลจะช่วยให้อัตราการบรรทุกผู้โดยสารจะดีมากขึ้น และในช่วงวันชาติจีน (1 ตุลาคม) นักท่องเที่ยวก็น่าจะเดินทางเข้าประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องติดตามว่าเดือนพฤศจิกายนจะเป็นเช่นไร”

อย่างไรก็ตาม ในปลายปีนี้สายการบินได้เตรียมเพิ่มความถี่เที่ยวบินไปยังไฮเดอราบาด เป็น 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และในอนาคตยังมีแผนเพิ่มเส้นทางบินจีนเป็น 7 เส้นทาง โดยปัจจุบันสายการบินนกแอร์มีสัดส่วนของรายได้และผู้โดยสารจากเส้นทางต่างประเทศอยู่ที่ 5% และหลังการเพิ่มเส้นทางและความถี่มากขึ้น จะทำให้สัดส่วนของเที่ยวบินต่างประเทศขยับเป็น 12%

แก้ปัญหาดีเลย์-มุ่งสู่พรีเมี่ยม

“วุฒิภูมิ” ยังเพิ่มเติมว่า เพื่อลดปัญหาความล่าช้าของเที่ยวบิน นกแอร์ได้สำรองอะไหล่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีพันธมิตรกับผู้ให้บริการซ่อมเครื่องบินมากขึ้น และจัดตารางการบินให้เหมาะสม dynamic มากขึ้น ซึ่งจะปรับเปลี่ยนได้ในช่วงตารางการบินฤดูหนาว หรือปลายเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป

ส่วนแผนการปรับตัวของสายการบินนกแอร์สู่ “พรีเมี่ยมแอร์ไลน์” นั้น สายการบินเตรียมเปิดตัวระบบความบันเทิงบนอากาศยานผ่านการใช้อุปกรณ์ เช่น สมาร์ทโฟนของผู้โดยสาร สตรีมระบบความบันเทิงบนเที่ยวบินได้ฟรี โดยนกแอร์ได้ร่วมมือกับบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ในการช่วยสนับสนุนคอนเทนต์และการโฆษณา

คาดออกแผนฟื้นฟูปี’69

ซีอีโอสายการบินนกแอร์ยังพูดถึงความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูด้วยว่า แผนฟื้นฟูไม่มีปัญหาอะไร สัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดคือเงินกู้ของครอบครัว จะชำระในอีกเวลา 2 ปี และในอีก 2 ปีครึ่ง โดยบริษัทจะเพิ่มทุนอีก 4,000 ล้านบาท เพื่อขยายฝูงบิน ซ่อมแซมเครื่องบินที่มีอยู่

ส่วนในปีนี้-ปีหน้า บริษัทจะต้องหาแหล่งทุนอีก 600 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้สำหรับการนำเครื่องบินเข้ามาใหม่ การนำเครื่องบินส่งซ่อม รวมถึงค่าใช้จ่ายบางส่วนของการซ่อมเครื่องบินที่ประสบเหตุที่จังหวัดเชียงราย

โดยคาดว่าในปี 2569 บริษัทจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ ซึ่งปัจจุบันทางผู้ถือหุ้นก็สนับสนุนอย่างเต็มที่