ไทยเวียตเจ็ท โละเครื่องบินเก่า ปรับฝูงบินใหม่หมด เป็น “โบอิ้ง 737Max”

ไทยเวียตเจ็ทคาดปีนี้รายได้คุ้มทุน ขนผู้โดยสาร 7 ล้านคน เตรียมปรับฝูงบินใหม่หมด ใช้ “โบอิ้ง 737 Max” มีระบบความบันเทิงในห้องโดยสาร ยันปลอดภัย

วันที่ 23 สิงหาคม 2566 นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของสายการบินไทยเวียตเจ็ท 6 เดือนแรกของปี 2566 พบว่าได้ขนส่งผู้โดยสารรวม 3,041,081 คน เพิ่มขึ้น 10.12% โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศจำนวน 2,311,199 คน ลดลง 14% และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 729,882 คน เติบโต 884%

ในปี 2566 สายการบินวางเป้าหมายขนส่งผู้โดยสารรวมทั้งปี จำนวน 6.5-7 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศราว 4.5-5 ล้านคน และเส้นทางบินระหว่างประเทศ 2 ล้านคน พร้อมตั้งเป้าหมายว่าจะมีรายได้ทั้งปีที่ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาท อยู่ในจุดคุ้มทุน

เปลี่ยนฝูงบินเป็น โบอิ้ง 737 Max

นายวรเนติ กล่าวว่า ปัจจุบันสายการบินไทยเวียตเจ็ท มีเครื่องบินประจำการในฝูงบินทั้งสิ้น 18 ลำ เป็นเครื่องบินแบบแอร์บัส A320 และ A321 รุ่น Ceo ทั้งหมด และคาดว่าในสิ้นปี 2566 นี้ จะรับเครื่องบินแบบแอร์บัส A321 Ceo เข้าประจำการอีก 2 ลำ ทำให้มีขนาดฝูงบินเป็น 20 ลำ

นอกจากนี้ สายการบินอยู่ระหว่างกระบวนการปรับปรุงฝูงบินจากเดิมใช้เครื่องบินแอร์บัส A320/A321 เปลี่ยนเป็นเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737 Max ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

ในปี 2567 ปีแรกของการปรับปรุงฝูงบิน คาดว่าจะมีเครื่องบินโบอิ้ง 737 Max เข้าประจำการทั้งหมด 6 ลำ

จากนั้นระหว่างปี 2568 – 2571 สายการบินจะทยอยรับเครื่องบินรุ่นดังกล่าวเข้ามาเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี 2571 จะมีฝูงบินโบอิ้ง 737 Max จำนวน 50 ลำ

ก่อนหน้านี้ นายนิติกร คมกฤส ผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจ สายการบินไทยเวียตเจ็ท ให้ข้อมูลว่า ด้วยพิสัยการบินของเครื่องบินโบอิ้ง 737 Max และการประหยัดน้ำมัน ส่งผลให้สายการบินสามารถเปิดเส้นทางบินที่ไกลมากขึ้น เช่น โตเกียว (นาริตะ), โอซาก้า, นาโกย่า

นอกจากนี้ สายการบินยังเตรียมติดตั้งระบบความบันเทิง โดยผู้โดยสารสามารถใช้อุปกรณ์ของตน เช่น โทรศัพท์สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต เชื่อมต่อเข้ากับไวไฟของเครื่องบินและรับชมความบันเทิงได้ อีกทั้งยังมีแผนติดตั้งระบบไวไฟบนเครื่องบิน

นายวรเนติ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าเครื่องบินโบอิ้ง 737 Max มีความปลอดภัย โดยโบอิ้งได้ปรับปรุงซอฟท์แวร์ และมีการฝึกนักบินเรียบร้อย ทั้งยังได้รับการรับรองจากองค์กรด้านความปลอดภัยการบิน เช่น องค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration : FAA) องค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency : EASA)

“ขอยืนยันในความปลอดภัยของโบอิ้ง 737 Max ทั้ง FAA หรือ EASA ก็ได้รับรองเครื่องบินรุ่นดังกล่าวแล้ว สายการบินในเอเชียอย่างสิงคโปร์แอร์ไลน์ส ก็ทำการบินด้วยเครื่องบินรุ่นนี้แล้วเช่นกัน” นายวรเนติกล่าว

ส่วนการฝึกนักบินเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานบนเครื่องบินแบบใหม่นั้น หากเป็นนักบินที่ทำงานอยู่กับไทยเวียตเจ็ทอยู่แล้ว บริษัทจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประเมินว่าค่าใช้จ่ายในการฝึกนักบินจะอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาทต่อคนโดยประมาณ และใช้เวลาประมาณ 5 เดือนในการฝึกนักบิน

ทั้งนี้ ปัจจุบันสายการบินไทยเวียตเจ็ทมีจำนวนพนักงานประมาณ 500 คน โดย 180 คนเป็นนักบิน หรือเฉลี่ย นักบินประมาณ 10 คน ต่อเครื่องบินหนึ่งลำ และคาดว่าในปี 2571 เมื่อสายการบินมีเครื่องบินใหม่ครบ 50 ลำ จะมีการจ้างงานนักบินอยู่ที่ 500 คน