นกแอร์แจงทุกปัญหา หยุดบินเบตง ยกธงขาวรูตโคราช ลื่นไถลที่เชียงราย

เครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 สายการบินนกแอร์ส่วนล้อหน้าจมลงไปในพื้นดิน ที่ประตูด้านขวา สไลด์ฉุกเฉินกางออก มีเจ้าหน้าที่กู้ภัยกางร่มรอรับผู้โดยสาร

นกแอร์แจงอีกครั้ง หยุดบินดอนเมือง-เบตง เหตุบินไกล ไร้จุดเติมน้ำมัน ไอเดีย “ดอนเมือง-หาดใหญ่-เบตง” คิดแล้วไม่คุ้ม ขณะที่ยกเลิกรูตเชียงใหม่-โคราช เพราะผู้โดยสารหลุดเป้า ส่วนเครื่องบินไถลออกนอกรันเวย์ที่เชียงราย ประเมินค่าซ่อม 555 ล้าน

ปี 2565 ที่ผ่านมา “นกแอร์” เป็นสายการบินที่เป็นข่าวบนหน้าสื่ออย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการหยุดบิน “ดอนเมือง-เบตง” ตามมาด้วยยกเลิกเส้นทางบิน “เชียงใหม่-โคราช” รวมถึงข่าวการลื่นไถลออกนอกรันเวย์ ณ สนามบินเชียงราย

โดยในส่วนของมหากาพย์การเปิด ๆ ปิด ๆ เส้นทางบินดอนเมือง-เบตงนั้น “วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ซีอีโอ สายการบินนกแอร์ เปิดเผยว่า การปฏิบัติการบินเส้นทางบินดังกล่าว มีต้นทุนที่สูงมาก ด้วยระยะทางที่ไกล ข้อจำกัดของสนามบินปลายทางที่ไม่มีจุดเติมน้ำมัน ทำให้สายการบินต้องนำน้ำมันไปจากกรุงเทพฯ จึงไม่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้เต็มลำ 86 คน

“ยืนยันอีกครั้งว่านกแอร์ไม่ได้กำไรจากเส้นทางดังกล่าว เราขาดทุนหนักมาก แต่เราช่วยภาคท้องถิ่น เราช่วยภาครัฐ ถ้านกแอร์บินแล้วได้กำไร เราก็พิจารณาเพิ่มเที่ยวบินไปแล้ว” วุฒิภูมิย้ำ

เมื่อถามว่าทำไมไม่เลือกบินเส้นทางหาดใหญ่-เบตง แทน “วุฒิภูมิ” ระบุว่า การนำเครื่องบินแดช 8 คิว 400 ทำการบินเส้นทางดอนเมือง-หาดใหญ่นั้น จะมีต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งรายอื่นที่ใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ เช่น โบอิ้ง 737 แอร์บัส เอ 320 ทำการบินอยู่

อีกทั้งเมื่อหาค่าเฉลี่ยอย่างคร่าว ๆ การขึ้นบินและลงจอด 1 ครั้ง สายการบินมีต้นทุนเฉลี่ยค่าสึกหรอแล้วประมาณ 100,000 บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น น้ำมัน

ดังนั้น หากทำการบินเส้นทางหาดใหญ่-เบตง จึงเป็นไปได้ว่าจะมีต้นทุนต่อที่นั่งสูงกว่า 1,000 บาท ซึ่งในมุมมองคนท้องถิ่นหรือนักท่องเที่ยว อาจเลือกเดินทางด้วยรถตู้ซึ่งมีราคาประมาณ 300 บาทเท่านั้น และเมื่อผู้โดยสารเดินทางจากดอนเมือง-หาดใหญ่-เบตง ค่าบัตรโดยสารก็ยังจะมีราคาสูงเกินไปเหมือนเดิม

ส่วนการเปิดเส้นทางบิน “เชียงใหม่-นครราชสีมา” ที่เปิดให้บริการได้เพียงชั่วคราวและต้องพับแผนไปนั้น “วุฒิภูมิ” ให้ข้อมูลว่า ทุกสายการบินต้องมีการลงทุนเปิดเส้นทางใหม่ ๆ อยู่แล้ว ซึ่งเป็นปกติหากจะมีความเสี่ยง ก่อนบิน บริษัทได้เก็บข้อมูลแล้วว่าผู้โดยสารเฉลี่ยอาจอยู่ที่ประมาณ 70 ราย แต่เมื่อบินจริงมีปริมาณผู้โดยสารน้อยกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งอาจเกิดสถานการณ์โควิด-19

จึงเสนอว่า นกแอร์จะยังพิจารณาการเปิดเส้นทางบินใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่ภาครัฐต้องมีแผนระยะยาวที่ชัดเจน การสนับสนุนในการเปิดเส้นทางใหม่ที่เหมาะสม

ที่สำคัญภาครัฐและภาคเอกชนควรลงทุนให้เกิดอุตสาหกรรมในพื้นที่ พร้อมสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากสายการบินจำเป็นต้องวางแผนระยะยาว เช่น การทำสัญญาเช่าเครื่องบิน

และประเด็นที่นับว่าทำให้ “นกแอร์” เผชิญวิกฤตด้านศรัทธาหนักพอสมควรคือ กรณีเครื่องบินเที่ยวบิน DD108 เส้นทางดอนเมือง-เชียงราย ประสบอุบัติเหตุลื่นไถลออกนอกทางวิ่งที่สนามบินแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อกลางปี 2565 ที่แม้ผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการยังไม่เสร็จสิ้น แต่ “วุฒิภูมิ” บอกว่า ล่าสุด สายการบินประเมินค่าซ่อมแซมเครื่องบินลำประสบอุบัติเหตุดังกล่าวอยู่ที่ราว 555 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าเสียโอกาส รวมถึงค่าเช่า

“เราใช้วิธีการเปลี่ยนอุปกรณ์พาร์ตนั้น ๆ ใหม่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่านำออกมาซ่อม เพื่อให้กลับมาบริการเร็วขึ้น และให้ความมั่นใจกับผู้โดยสาร” วุฒิภูมิกล่าว

ทั้งนี้ สายการบินตั้งเป้าซ่อมเครื่องบินลำดังกล่าวแล้วเสร็จก่อนเมษายน 2566 นี้ และในอนาคตอาจมีการเจรจากับผู้ให้เช่าเครื่องบิน เพื่อขอสับเปลี่ยนนำเครื่องบินลำนี้แลกกับเครื่องบินลำใหม่เข้ามา

“วุฒิภูมิ” อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า เครื่องบินแบบบอมบาดิเอร์ แดช 8 คิว 400 เป็นเครื่องบินศักยภาพสูงกว่าเครื่องบินใบพัดหลายรุ่น ทำให้มีต้นทุนค่าบำรุงรักษาที่สูงกว่า มีระยะเวลาการเข้าซ่อมนาน และต้องเข้าเปลี่ยนอะไหล่บ่อยกว่าเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่

อีกทั้งหลายท่าอากาศยานในไทยยังมีข้อจำกัดในการทำการบินเวลากลางคืน ทำให้ไม่สามารถใช้เครื่องบินในเวลากลางคืนได้ ส่วนการนำเครื่องรุ่นดังกล่าวทำการบินไปยังท่าอากาศยานที่มีสายการบินรายอื่นใช้เครื่องขนาดใหญ่ก็มีต้นทุนสูงกว่า

นกแอร์ยันทำตลาดเส้นทาง “ดอนเมือง-เบตง” ต่อ
นกแอร์ บอมบาดิเอร์ แดช 8 คิว 400 ภาพ ณ ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา

เมื่อถามว่าแล้วทำไมนกแอร์ถึงนำเครื่องบินรุ่นดังกล่าวมาให้บริการ “วุฒิภูมิ” บอกว่า เมื่อประมาณ 7-10 ปีที่ผ่านมา ท่าอากาศยานในประเทศไทยหลายแห่งมีทางวิ่ง (runway) สั้น การบินต้องใช้เครื่องบินขนาดเล็ก บริษัทจึงตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องบินแบบดังกล่าวมา

แต่หลังจากภาครัฐเริ่มขยายทางวิ่ง ทำให้สายการบินอื่นสามารถนำเครื่องบินขนาดใหญ่กว่าลงจอดได้ เครื่องบินของนกแอร์ที่มีจำนวนที่นั่งน้อยกว่า จึงแข่งขันได้ลำบาก เครื่องบินรุ่น Q400 ของนกแอร์ขาดทุนมาโดยตลอด