คลังเปิดศึกชิงหุ้นการบินไทย หลังยึดผู้บริหารแผน 3 ใน 5 คนสำเร็จ จ่อชงบอร์ดนโยบายรัฐวิสาหกิจเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนรอบใหม่ ผ่านกองทุนวายุภักษ์อีก 4 พันล้านหุ้น จากมูลค่าเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน 9.8 พันล้านหุ้น ช่วง 6-12 ธ.ค.นี้ คาดหลังเพิ่มทุนถือหุ้นรวมรัฐวิสาหกิจ-วายุภักษ์ต่ำกว่า 50% ย้ำไม่ทำให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจแน่นอน วงในยัน ก.คลังถือหุ้นมากเป็นผลดี หนุนบริษัทเติบโตมั่นคงในอนาคต ลั่นไม่ต้องห่วงถูกแทรกแซงเหมือนในอดีต ผู้บริหารแผนล็อกโครงสร้าง-แผนธุรกิจไว้เรียบร้อยแล้ว
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทการบินไทยได้แปลงหนี้ทั้งหมดเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 มีอยู่ประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท เป็นทุน 100 % ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไปแล้ว ทำให้กระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทการบินไทย 33.4% นับเป็น Take Action ครั้งใหญ่ของกระทรวงการคลัง
พร้อมทั้งขอปรับแก้ไขแผนด้วยการขอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู 2 คน ได้แก่ นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ซึ่งผ่านการโหวตของที่ประชุมเจ้าหนี้ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (รอศาลพิจารณาเห็นชอบ 12 ธันวาคม 2567)
จ่อเพิ่มทุนผ่านกองทุนวายุภักษ์
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ไม่เพียงเท่านี้ ล่าสุดกระทรวงการคลังรุกคืบหนักขึ้น ด้วยการส่งสัญญาณว่ากระทรวงการคลังมีแผนจะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัทการบินไทย ตามแผนการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่มูลค่าทั้งหมด 9,822,473,626 หุ้น ในราคา 4.48 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะเปิดให้ผู้ถือหุ้นเดิมจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนก่อนปรับโครงสร้างทุนในวันที่ 6-12 ธันวาคม 2567 นี้ เพิ่มอีกประมาณ 4,000 ล้านหุ้น โดยใช้กลไกการเพิ่มทุนจากกองทุนวายุภักษ์
โดยมีเป้าหมายว่ากระทรวงการคลังจะยังถือหุ้นใหญ่และทำให้การบินไทยยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติต่อไป แต่ไม่ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นโดยกระทรวงการคลังมาก จนการบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนในอดีต
“การรุกคืบอย่างหนักของกระทรวงการคลัง ทำให้เจ้าหนี้จำนวนหนึ่ง รวมถึงสหภาพแรงงานการบินไทยเป็นกังวล เนื่องจากมองว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมือง” แหล่งข่าวกล่าว
หลังเพิ่มทุนรัฐถือหุ้นต่ำกว่า 50%
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่ากระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มทุนการบินไทย โดยคาดว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นอย่างน้อย 35% และเมื่อรวมกับกองทุนรวมวายุภักษ์ ธนาคารออมสิน และอื่น ๆ แล้ว รัฐต้องถือหุ้นสัดส่วนต่ำกว่า 50% เพื่อไม่ให้กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังระบุว่า เมื่อเพิ่มทุนแล้ว ตามแนวทางที่วางไว้ในเบื้องต้น กระทรวงการคลังจะถือหุ้น 33.4% ขณะที่รัฐวิสาหกิจอื่นถือ 4.1% กองทุนรวมวายุภักษ์ถือ 2.8% ผู้ถือหุ้นอื่น ๆ ที่เป็นผู้ถือหุ้นเดิม 2.8% เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ 44.3% และผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างเงินทุน พนักงาน และบุคคลในวงจำกัด ที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้อีก 12.6%
“ปิยสวัสดิ์” ยันไม่กระทบแผน
ด้านนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย กล่าวว่า ยอมรับว่าการจัดตั้งตัวแทนจากภาครัฐเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนเพิ่มเติมนั้น ทำให้หลายภาคส่วนกังวลว่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะการโรดโชว์ที่ผ่านมาเป็นการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเจาะจง ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะเพิ่มทุน โดยมองว่าการบินไทยมีการดำเนินงานตามแผนมาตลอด และก็มีศักยภาพในการทำกำไรในอัตราที่ดีมาก
“ไม่แปลกที่ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้จะมีข้อกังวลต่อการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 6-12 ธันวาคม 2567 นี้ เพราะมองว่าการมีผู้บริหารแผนที่ส่งมาจากการเมืองและภาครัฐจะทำให้การบริหารงานถูกแทรกแซงทางการเมือง” นายปิยสวัสดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าการแต่งตั้งผู้บริหารแผนเพิ่มอีก 2 คนจากภาครัฐนั้น ไม่มีผลกระทบต่อแผน แต่จะกระทบในกรณีที่มีการขยายเวลาการออกจากแผน เนื่องจากตามแผนฟื้นฟูฯ การบินไทยจะต้องออกจากแผนภายในไตรมาส 2/2568 ซึ่งหากมีการขยายเวลาออกจากแผน จะส่งผลกระทบต่อการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในขั้นตอนต่อไปที่อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ยันเป็นหลักการบริหารปกติ
แหล่งข่าวในบริษัทการบินไทยอีกรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าปัจจุบันสถานะของบริษัทการบินไทยเหมือนองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วไป ดังนั้น ทั้งกรณีที่กระทรวงการคลังขอเพิ่มผู้บริหารแผน 2 คน และการจะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนผ่านกองทุนวายุภักษ์นั้น ถือเป็นเรื่องปกติของหลักการบริหารของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่จำเป็นต้องควบคุมดูแลการบริหารจัดการ
“วันนี้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท ฉะนั้น เขาจึงก็ต้องส่งคนมาดูแล ประเด็นคือ คนที่ส่งมาก็ล้วนเป็นคนที่มีควารู้ ความสามารถ ไม่ใช่นักการเมือง อย่างเพิ่งไปเอาเรื่องราวในอดีตมาตัดสินเหตุการณ์ปัจจุบัน เพราะสถานะการบินไทยวันนี้เปลี่ยนไปเยอะมาก วันนี้ภารกิจหลักของการบินไทยคือต้องแข่งขัน ต้องบริการลูกค้า ต้องค้าขาย ไม่ใช่ค้าความ”
หลุดกับดัก “รัฐวิสาหกิจ”
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ที่สำคัญการเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนในนามกองทุนวายุภักษ์ ของกระทรวงการคลัง ก็ไม่ได้ทำให้สถานะของบริษัทการบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนในอดีต เนื่องจากในแผนฟื้นฟูระบุไว้ชัดเจน ว่าการบินไทยจะต้องเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว ซึ่งการไม่เป็นรัฐวิสาหกิจนั้นมีข้อดีดังนี้ 1.ไม่ต้องใช้ พ.ร.บ.งบประมาณ เวลาจะลงทุนไม่ต้องไปสภาพัฒน์ ไม่ต้องถูกการเมืองล็อบบี้ หรือจะสั่งซื้อเครื่องบินครั้งหนึ่งต้องใช้เวลาถึง 3-4 ปี และเครื่องบินจะซื้อหรือจะเช่าต้องผ่านความเห็นชอบในที่ประชุม ครม. เป็นต้น
2.ไม่ต้องรายงานกระทรวงคมนาคม กระทรวงคมนาคมวันนี้เป็นแค่ Regulator หรือหน่วยงานกำกับดูแลเท่านั้น จะส่งคนมาเป็นบอร์ดไม่ได้ เนื่องจากจะเกิดประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หรือ Conflict of Interest ทันที 3.ไม่มีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และ 4.เวลามีปัญหาไม่ต้องกลัวเรื่องการขายทรัพย์สินต่ำกว่าราคา Book Value สามารถขายในราคาตลาดได้
“การไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจคือปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้การบินไทยอยู่รอด และรัฐบาลก็ประกาศชัดเจนแล้วว่า การต้องเป็นสายการบินแห่งชาติ และต้องไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ” แหล่งข่าวกล่าว
โครงสร้างปึ้กแทรกแซงยาก
แหล่งข่าวยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การรุกคืบเข้ามาของกระทรวงการคลังครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี มีผลดีมากกว่าผลลบ เนื่องจากจะทำให้การบินไทยมีการเติบโตที่มั่นคงในอนาคต และไม่ต้องห่วงถูกแทรกแซงเหมือนในอดีต เนื่องจากตลอด 4 ปีที่ผ่านมาคณะผู้บริหารได้ดำเนินงานตามแผน กระทั่งมาถึงขั้นตอนสุดท้ายของแผนฟื้นฟูแล้ว
“วันนี้คณะผู้บริหารแผนการบินไทยได้กำหนดโครงสร้าง แผนธุรกิจ วิชั่น มิชชั่น การซื้อเครื่องบินใหม่ กำหนดเส้นทางบินใหม่ ฯลฯ ไว้หมดแล้ว ดังนั้น ไม่ต้องกลัวถูกแทรกแซง ที่สำคัญในอดีตที่ผ่านมาหน่วยงานที่แทรกแซงการบินไทยไม่ใช่กระทรวงการคลัง” แหล่งข่าวกล่าว และว่า
ประเด็นสำคัญในขั้นตอนต่อไปคือ บริษัทต้องมีกลไกของการกำดับดูแล หรือ Good Governance และมีกลไกเรื่องการบริหารความเสี่ยงที่ดีด้วย เพราะหากมีระบบที่ดีการเข้ามาแทรกแซงจะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก และที่ผ่านมาการบินไทยก็พิสูจน์แล้ว ว่าการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพทำให้บริษัทสามารถกลับมาสร้างกำไรที่ดีได้