การบินไทยพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ ยื่นฟื้นฟู “ศาลไทย-สหรัฐ”

คมนาคมพร้อมเดินหน้า “รื้อบอร์ด-ทีมบริหาร” การบินไทย   เปิดทาง “ผู้บริหารแผน” เป็นผู้คุมเกมเจรจาปรับโครงสร้างหนี้-แฮร์คัต เผยที่ประชุมคมนาคมชี้ต้องยื่นฟื้นฟูทั้ง “ศาลไทยและศาลสหรัฐ” เพื่อคุ้มครอง “พักชำระหนี้” ทั่วโลก ป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้ต่างชาติยึดทรัพย์ ชี้สเต็ปแรกต้องให้ “คลัง-ออมสิน” ลดสัดส่วนถือหุ้นต่ำกว่า 50% เพื่อให้พ้นสถานภาพรัฐวิสาหกิจ

ชงเข้า ครม. 19 พ.ค.

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าแผนการฟื้นฟูบมจ.การบินไทยว่า จะได้ข้อสรุปในสัปดาห์หน้า และจะพยายามเร่งหาข้อสรุปเพื่อเสนอสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ได้ในวันที่ 19 พ.ค.นี้ ขณะที่เมื่อวานนี้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูการบินไทย แล้วไม่ได้เข้าร่วมประชุมเป็นเพราะว่าติดภารกิจ ยืนยันว่า ไม่ได้มีปัญหาระหว่าง 2 กระทรวง

ยื่น 2 ศาล ไทย-สหรัฐ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กระบวนการพิจารณาแนวทางการฟื้นฟู บมจ.การบินไทย มีความชัดเจนว่า กระทรวงคมนาคมเห็นชอบในแนวทางที่จะให้ บมจ.การบินไทย เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายบัญญัติล้มละลาย เนื่องจากที่ประชุมพิจารณาแล้วว่าแนวทางการฟื้นฟูนอกศาล ตามที่ได้ผ่านคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) นั้นไม่ได้มีแผนผ่าตัดองค์กร หรือรวมแผนปรับโครงสร้างหนี้ หรือการชำระคืนหนี้ ขณะที่ต้องการให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้และเพิ่มทุนเป็นลักษณะของการใส่เงินถมเข้าไป ทั้งที่กิจการของการบินไทยเวลานี้ถือว่าอยู่ในภาวะ “หนี้สินล้นพ้นตัว” โดยมีมูลหนี้ ณ สิ้นปี 2562 กว่า 2.5 แสนล้านบาท ไม่มีสภาพคล่องหรือกระแสเงินสดที่จะมาชำระหนี้ได้ตามกำหนด

อย่างไรก็ตามในกระบวนการยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายนั้น กรณีของ บมจ.การบินไทยต้องยื่นต่อศาลล้มละลายทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา เพื่อให้มีการคุ้มครอง “automatic stay” หรือหยุดพักชำระหนี้ทั้งหมด เนื่องจากบริษัทการบินไทยมีทรัพย์สินอยู่ต่างประเทศด้วย ทั้งที่ดิน อาคาร และเครื่องบิน เพราะแม้ว่าจะยื่นฟื้นฟูกิจการภายใต้การคุมครองศาลล้มละลาย บริษัทก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ดังนั้นในกรณีที่การบินไทยจะกลับมาบินตามปกติหลังโควิด-19 คลี่คลาย ไม่ว่าจะไปสหรัฐ อังกฤษ หรือประเทศอื่น ๆ ถ้าไม่มีการยื่นคุ้มครองศาลสหรัฐ เจ้าหนี้ต่างประเทศก็จะสามารถมาดำเนินการยึดเครื่องบินที่บินเข้าประเทศนั้น ๆ ได้ เนื่องจากกฎหมายของไทยไม่ได้มีการทำสัญญาต่างตอบแทนกับต่างประเทศ แต่หากยื่นขอฟื้นฟูกิจการที่ศาลสหรัฐด้วยคาดว่าจะครอบคลุมได้ทุกประเทศ

“บินไทย” พ้นรัฐวิสาหกิจ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งนี้ คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจน หลังจากที่ในวันจันทร์18 พ.ค.นี้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะมีการพิจารณาเพื่อปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของ “ภาครัฐ” ในการบินไทยให้ต่ำกว่า 50% โดยปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 51.03% ธนาคารออมสิน 2.13% ซึ่งจะปรับลดสัดส่วนของคลังและออมสิน โดยให้กองทุนวายุภักษ์เข้ามาถือหุ้นแทน เพื่อทำให้ บมจ.การบินไทยหลุดพ้นจากสถานะของการเป็นรัฐวิสาหกิจ จากนั้นก็จะต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ในการสรรหามืออาชีพและ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เข้ามา โดยไม่ต้องติดกับเงื่อนไขของรัฐวิสาหกิจ

“ทั้งนี้ ก่อนจะมีการยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายนั้น ทางการบินไทยให้ทีมที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาการเงินเข้ามาทำแผนการปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมกับเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งในและต่างประเทศก่อน ในการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งเรื่องการยืดหนี้-แฮร์คัต (ลดหนี้) รวมถึงการเสนอว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้บริหารแผน ซึ่งหากเจ้าหนี้เห็นชอบด้วยกับแผน การขอฟื้นฟูกิจการในชั้นศาลก็จะมีโอกาสสำเร็จได้ แต่ถ้าจะยื่นโดยไม่เจรจากับเจ้าหนี้เลยก็มีโอกาสที่แผนจะไม่ผ่านการโหวตเห็นชอบได้”

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากสัปดาห์หน้า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอก็คาดว่าประมาณเดือน มิ.ย.-ก.ค.ก็จะสามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายได้ ส่วนที่ว่าจะยื่นศาลในประเทศไทยก่อนหรือศาลสหรัฐก่อน ก็ต้องดูรายละเอียดกันอีกครั้ง

“เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้ สายการบินทั่วโลกหลายสิบรายที่กำลังเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลาย เรียกว่าเจ้าหนี้ของสายการบินโดยเฉพาะเจ้าของเครื่องบินที่ให้เช่านั้น กำลังประสบปัญหาจากทั่วโลก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ก็เชื่อว่าเจ้าหนี้ทุกรายพร้อมที่จะเจรจาเพื่อให้กิจการอย่างการบินไทยกลับมาแข็งแรง เพื่อที่จะให้ได้รับคืนหนี้มากที่สุด”

ลุ้นจ่ายเงินเดือน 25 พ.ค.

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ปัญหาสภาพคล่องของการบินไทย นอกจากนี้ในส่วนของเจ้าหนี้ที่ทยอยครบกำหนดชำระ ระหว่างนี้ก็ต้องเจรจายืดการชำระหนี้ออกไปก่อน อาทิ หนี้ค่าน้ำมัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการจ่ายเงินเดือนพนักงานงวดวันที่ 25 พ.ค.นี้ ยังไม่รู้ว่าจะมีกระแสเงินสดพอหรือไม่ ตอนนี้คงไม่มีธนาคารไหนกล้าให้การบินไทยกู้เงิน หากกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน เพราะไม่มีใครทราบฐานะการเงินที่แท้จริง แม้แต่คลังก็ยังไม่กล้าอนุมัติค้ำประกันให้ เนื่องจากการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ หากฐานะการเงินออกมาติดลบมากกว่าที่เป็นอยู่ หรือเกิดความเสียหายมากกว่าที่ประเมินไว้ จะต้องมีผู้รับผิดชอบ

“ถ้าบอกว่ากระทรวงการคลังค้ำประกันให้ 5.4 หมื่นล้านบาท แล้วจะเอาอยู่ แต่สุดท้ายเอาไม่อยู่ ใครจะรับผิดชอบ การฟื้นฟูทำได้แต่ต้องรู้ว่าติดลบจริง ๆ เท่าไหร่ก่อน เพราะหลักการฟื้นฟูก็คือ การจะถมเข้าไปได้ก็ต้องรู้ก่อนว่าลึกเท่าไหร่ แล้วที่จะลดขนาด จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ คุ้มไม่คุ้ม แล้วเจ้าหนี้จะร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัญหาที่บริษัทไม่แสดงงบการเงินที่เป็นปัจจุบันถือเป็นเรื่องใหญ่ ล่าสุด การบินไทยขอเลื่อนเวลานำส่งงบการเงินไตรมาสแรก ปี 2563 กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ออกไปเป็นเดือน ส.ค. แทนที่จะต้องยื่นแล้ว ไม่แน่ใจว่า ขณะนี้มีการทำดิวดิลิเจนซ์ที่เป็นปัจจุบัน รวมผลกระทบจากโควิดเข้าไปด้วยแล้วหรือยัง แบบนี้ใครเป็นเจ้าหนี้ก็กังวล

พ.ค.ต้องการเงิน 9 พันล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า มติ คนร.ให้ดูการกู้เงินระยะสั้นประคองสภาพคล่อง ก่อนไปสู่กระบวนการต่าง ๆ แต่ปัญหาคือไม่มีแบงก์ให้กู้ 5.4 หมื่นล้านบาท เพราะหนี้สินต่อทุนสูง 21 เท่า รัฐถึงต้องเข้าไปค้ำประกันให้ แต่ต้องทำแผนฟื้นฟูกิจการให้คนมั่นใจว่าไม่สูญเปล่า แต่ดูแผนฟื้นฟูในเบื้องต้นแล้ว เป็นไปได้ยากมาก ยังไงก็ต้องยื่นฟื้นฟูต่อศาล

หากแผนกู้เงินของการบินไทยไม่ได้ข้อสรุปภายในเดือน พ.ค. ที่ต้องพิจารณาด่วนคือจะนำเงินจากไหนมาเป็นค่าใช้จ่ายในองค์กร เช่น เงินเดือนพนักงาน เพราะจะต้องมีเงินสดในมือตลอดเวลาเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท จากเดิมจะนำเงินที่ขอกู้ 9,000 ล้านบาทเป็นค่าใช้จ่ายเดือน พ.ค.นี้ ไม่รวมชำระหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ เช่าเครื่องบิน จะต้องเจรจาขอยืดการชำระหนี้ไปก่อน

เจ้าหนี้ 3 กลุ่ม 2.5 แสนล้าน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนหนี้การบินไทยกว่า 2.5 แสนล้านบาทนั้น มีกลุ่มเจ้าหนี้ 3 กลุ่ม 1.กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ อาทิ กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ 3.6 หมื่นล้านบาท ไม่รวมรายย่อย ๆ ที่ถือหน่วยหุ้นกู้อีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากนักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ไม่ลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยนานแล้ว จะมีบางส่วนที่ซื้อ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น 2.กลุ่มสถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารกรุงไทยรายใหญ่สุด ธนาคารออมสิน (3.5 พันล้านบาท) 3.เจ้าหนี้การค้ากว่า 1 แสนล้านบาท อาทิ ค่าเครื่องบิน เป็นต้น ซึ่งการเจรจากับเจ้าหนี้กลุ่มนี้จะยากสุด รวมถึงมีเจ้าหนี้ต่างประเทศอยู่ด้วย