“การบินไทย”พักหนี้2แสนล้าน ชง15อรหันต์”บริหารแผนฟื้นฟู”

ครม.ประยุทธ์พลิกโฉมประวัติศาสตร์ “การบินไทย” เข้า 10 ขั้นตอนฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายทั้งไทย-สหรัฐมิ.ย.นี้ คลังลดสัดส่วนหุ้นปลดล็อก พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ สรรหา “15 อรหันต์มืออาชีพ” ให้นายกฯเลือก เปิดทาง”บมจ.การบินไทย” ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูเสนอตัว “ผู้ทำแผน” ยันเป้าหมายให้องค์กรกลับมาแข็งแกร่ง จับตาลอว์เฟิร์มฝุ่นตลบชิง “ที่ปรึกษากฎหมาย-ที่ปรึกษาการเงิน” ทำแผนฟื้นฟู เผยฐานะการเงินเข้าขั้นวิกฤตประเมินปีนี้ขาดทุน 5.9 หมื่นล้าน กระแสเงินสดจะหมดในเดือนหน้า วงในหวั่นติดล็อกเจ้าหนี้ต่างประเทศ

“บิ๊กตู่” รับตัดสินใจลำบาก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 19 พ.ค. 2563 ถึงเรื่องแก้ปัญหาการบินไทยว่า เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก ทั้งนี้ เป็นการตัดสินใจที่รู้ว่าจะช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนได้อย่างไร ซึ่งการบินไทยปัญหาเรื่องหนี้สินมีมากพอสมควร โดยมี 3 ทางเลือก 1.หาเงินให้การบินไทยให้ดำเนินการต่อไป 2.ปล่อยให้เข้าสู่สถานการณ์ล้มละลาย และ 3.เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาลล้มละลาย

โดยที่ผ่านมาการบินไทยอาจมีปัญหาฟื้นฟูได้ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เพราะติดข้อกฎหมายหลายประการ ทั้ง พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ และ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 ซึ่งจำเป็นต้องหามาตรการที่เหมาะสม และมีการพิจารณาร่วมกันในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (ครน.) และ ครม.เลือกหนทางที่ 3 ปฏิบัติที่ดีที่สุด และจะต้องมีขั้นตอนดำเนินการอีกหลายขั้นตอน เพื่อแก้ปัญหาภายในองค์กร และประกอบการต่อไปเพื่อให้ฟื้นฟูขึ้นมาอย่างที่คาดหวังไว้

“การตัดสินใจครั้งนี้ก็คือมองว่า การบินไทยควรเป็นองค์กรที่ช่วยสร้างชื่อเสียง และรายได้ให้กับคนไทย และมีความสามารถในการแข่งขัน มีความเข้มแข็งในตัวเองได้อย่างไร”

“การยื่นเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูต่อศาลล้มละลายกลาง ได้มีการหารือกันอย่างรัดกุมในรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ประเทศไทยและทั้งโลกกำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 รายได้ทุกคนกำลังหายไป เราจำเป็นต้องรักษาเงินตราของประเทศไทยเอาไว้ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือประชาชนในวันข้างหน้า ทั้งเกษตรกรที่ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้คนหาเช้ากินค่ำ อาชีพอิสระ หรือประชาชนทั่วไปที่ทำงานหนักในขณะนี้ รัฐบาลต้องมองอย่างรอบคอบในทุกมิติ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ดึงมืออาชีพพลิกฟื้นบินไทย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การที่ตัดสินใจให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาลล้มละลาย โดยไม่ปล่อยให้การบินไทยอยู่ในสถานะล้มละลาย เพราะอาจทำให้พนักงาน 2 หมื่นคนถูกลอยแพ ทุกคนคงไม่อยากเห็นเหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้น ดังนั้น รัฐบาลยืนยันว่าจะสนับสนุนในการดำเนินการดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อให้การบินไทยดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ แม้ไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล จึงขอให้การบินไทยเข้าไปอยู่ภายใต้การคุ้มครองและการฟื้นฟูของศาล โดยศาลจะพิจารณาแต่งตั้งมืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการการฟื้นฟูการบินไทย

“โดยคาดหวังว่าเมื่อมีมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารจัดการแล้ว การบินไทยจะกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนไทยจะภาคภูมิใจ และกลับมาเป็นองค์กรที่ช่วยสร้างความรุ่งเรืองให้กับประเทศไทยได้ เป็นวิธีการเดียวที่ทำให้การบินไทยสามารถดำเนินการต่อได้ และพนักงานยังมีงานทำต่อไป ขณะที่การปรับโครงสร้างการบินไทยหลาย ๆ อย่างที่ควรจะสำเร็จมาตั้งนานแล้วก็จะเกิดขึ้นได้ด้วย และเป็นทิศทางที่รัฐบาลยึดมั่น ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ เป็นไปตามที่ศาลกำหนดให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การบินไทยเป็นทูตที่ดีในทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่โปรโมตประเทศไทยนาน 60 ปี ตนหวังเช่นเดียวกับการบินไทยว่า การช่วยเหลือให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาลจะทำให้การบินไทยกลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง

คลังเร่งขายหุ้นลดสัดส่วน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติให้การบินไทยออกจากรัฐวิสาหกิจก่อนนำเข้าแผนฟื้นฟูตามศาลล้มละลายนั้น ได้สั่งให้ สคร.เข้ามาหารือเรื่องการลดสัดส่วนการถือหุ้นว่าจะขาย 3% และขายให้กองทุนวายุภักษ์ ตามกระแสข่าวหรือไม่นั้น จะได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด

“ที่ต้องทำให้เร็วเพราะจะต้องขายหุ้นออกก่อน เพื่อให้การบินไทยออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจก่อน ซึ่งจะต้องทำให้เสร็จก่อนเข้าแผนการฟื้นฟู ซึ่งตอนนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอยู่ เชื่อว่าจะทำให้การบริหารจัดการตามแผนฟื้นฟูมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการขายหุ้นออกไปเพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้น อาจจะทำให้กระทรวงการคลังขาดทุนบ้าง แต่เชื่อว่าจะมีความคุ้มค่าในอนาคต เนื่องจากขณะนี้ราคาหุ้นอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งอนาคตหากมีการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้ราคาหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้นเอง โดยยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อพนักงาน จะยังคงดูแลตามปกติ และสหภาพจะยังคงดูแลคุณภาพชีวิตของพนักงานอยู่เช่นเดิม

ยื่นทั้งศาลไทย-สหรัฐ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 พ.ค. 2563 อนุมัติให้ บมจ.การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลทันที โดยจะยื่นขอฟื้นฟูทั้งศาลไทยและสหรัฐ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)

และยังเห็นชอบปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง เหลือต่ำกว่า 50% เพื่อหลุดพ้นการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด และพ้นจากข้อจำกัดของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูให้สำเร็จ และพ้นจากข้อจำกัดของ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ 2518 ให้สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม การบินไทยจะยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม แม้จะไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้วก็ตาม

“จาก 3 แนวทาง คือ 1.รัฐบาลเข้าไปอุ้มโดยค้ำเงินกู้ 54,000 ล้านบาท 2.รัฐปล่อยให้ล้มละลาย และ 3.เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาล ทางคมนาคมมองว่าแนวทางฟื้นฟูเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะสถานะการเงินปัจจุบันของการบินไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ถึงสิ้นปี 2562 มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยถึง 147,352 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ต่างประเทศ 35% หนี้ไฟแนนซ์จากการเช่าเครื่องบิน 30% คาดว่าทั้งปี 2563 จะมีหนี้ถึง 2 แสนล้านบาท เท่ากับมีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย ทำให้กระแสเงินสดหมดในเดือน มิ.ย.นี้ ต้องการเงินช่วยเหลือสภาพคล่อง หลังโควิดต้องการเงินช่วยเหลือส่วนทุน”

เปิด 10 ขั้นตอนฟื้นฟู

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในการดำเนินการฟื้นฟูมี 10 ขั้นตอน หลังจากนี้ กระทรวงการคลังต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า 50% โดยการบินไทยจะเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาล ตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาเจ้าหนี้ เมื่อศาลรับคำร้อง ส่งหมายให้เจ้าหนี้ จะทำให้การบินไทยได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 90/12 ประชุมเจ้าหนี้อนุมัติผู้จัดทำแผน จากนั้นศาลตั้งผู้ทำแผน เพื่อเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ จัดประชุมเจ้าหนี้อนุมัติแผน ดำเนินการปรับปรุงแผนฟื้นฟู ศาลพิจารณาเห็นชอบด้วยแผน แต่งตั้งผู้บริหารแผน และดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ซึ่งถึงเวลาแล้วที่การบินไทยจะต้องปรับตัวและมีการเอกซเรย์ปัญหาต่าง ๆ ทุกด้านให้มีความถูกต้อง เช่น การบริหารจัดการ

คมนาคมเสนอชื่อ 15 มือดี

“คมนาคมจะเสนอชื่อบุคคลประมาณ 15 คน ที่มีความรู้ความสามารถประสบการณ์ด้านต่าง ๆ เช่น ด้านบุคคล การเงิน บริหาร การบิน ที่ปราศจากการแทรกแซงให้เป็นผู้จัดทำแผน โดยจะเสนอชื่อให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า จะเร่งดำเนินการเร็วที่สุด คาดว่าก่อน มิ.ย.จะยื่นฟื้นฟูต่อศาลได้ ทั้ง 10 ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ส่วนจะหยุดออกจากแผนฟื้นฟูเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับผู้จัดทำแผนและการบินไทย แต่จากโมเดลของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ใช้เวลา 14 เดือน ออกจากการฟื้นฟู และกลับมามีกำไรปีละ 2 พันล้านเหรียญ ทั้งหมดที่ทำเป็นสิ่งที่เรามีต้นแบบ มีการวิเคราะห์มาเป็นอย่างดี ไม่ได้ต้องการทำลายการบินไทย อย่าตื่นตระหนก เพราะเป็นกันทั่วโลก”

นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า สำหรับคณะกรรมการ (บอร์ด) และผู้บริหารการบินไทยชุดปัจจุบัน จะยังคงอยู่จนกว่าคลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นและพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ จากนั้นจะมีการแต่งตั้งชุดใหม่มาดำเนินการตามแผนฟื้นฟูดังกล่าวต่อไป ขณะที่การบริหารจัดการสภาพคล่องของการบินไทยในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ ภายในเดือน พ.ค.นี้จะมีการประชุมหารือกับสหภาพพนักงานในเร็ว ๆ นี้ เพื่อประเมินเงินที่เหลือจะเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหรือไม่ จะต้องดูหลายองค์ประกอบ ยังไม่สามารถระบุได้ในตอนนี้ว่าต้องการใช้เงินเท่าไหร่ รวมถึงการที่การบินไทยจะกลับมาบินใหม่หลังเดือน มิ.ย.นี้

พักหนี้-รีเซตทุกอย่าง

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า เมื่อการบินไทยเข้าฟื้นฟูตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย จะหยุดการจ่ายหนี้ทุกอย่าง และรีเซตทุกอย่างใหม่ เช่น มูลหนี้ พนักงานกว่า 20,000 คน ที่จะต้องปลดอย่างน้อย 30% หรือประมาณ 6,000 คน โดยจ่ายค่าชดเชย 10 เดือน ตามกฎหมายแรงงาน ปรับโครงสร้างบริษัท เส้นทางบิน ทุกอย่างต้องผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการฟื้นฟูประมาณ 1 ปี

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างนี้ การบินไทยจะต้องมีเงินสดเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนและค่าดำเนินการ เช่น จ่ายเงินเดือนพนักงาน อาจจะต้องกู้เงินหรือเพิ่มทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทเดินหน้าต่อและอยู่ได้สักระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน พ.ค.นี้ ทางการบินไทยยืนยันว่ามีเงินสดอยู่ก้อนหนึ่งที่สามารถนำมาจ่ายเงินเดือนให้พนักงานได้

“แผนฟื้นฟูทางบอร์ดและผู้บริหารชุดใหม่ต้องเป็นผู้ทำร่วมกับเจ้าหนี้ เมื่อเข้ากระบวนการฟื้นฟูแล้วต้องลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นลง เจรจาลดหนี้กับเจ้าหนี้ไทยและต่างชาติ ซึ่งตอนนี้ทุกคนพร้อมเจรจาหมด เพราะธุรกิจการบินซบเซาทั่วโลก จนรู้มูลหนี้สุดท้ายแล้ว จะมาดูว่าจะมีการแปลงหนี้เป็นทุนหรือไม่ เช่น คลังมีหนี้อยู่ 12,000 ล้านบาท หนี้สหกรณ์อีก 6 หมื่นล้าน จะแปลงหนี้เป็นทุนหรือไม่”

นายพิเชษฐ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ยืนยันว่าการเข้าฟื้นฟูการบินไทยไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะของสหกรณ์ทั้ง 82 แห่ง ที่เข้าไปลงทุนให้หุ้นกู้ วงเงิน 42,229.14 ล้านบาท เนื่องจากจะยกหนี้เข้าไปในแผนฟื้นฟู จะไม่กลายเป็นหนี้สูญ ซึ่งหนี้ทั้งหมดจะครบกำหนดชำระตั้งแต่ปี 2563-2577 ในปี 2563 มีหนี้ครบกำหนดชำระ 1,000 ล้านบาท ในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ ใน 21 สหกรณ์เปิดไส้ใน มิ.ย.เงินหมด

ข้อมูลวิเคราะห์สถานภาพทางการเงินของการบินไทยระบุว่า ฐานะการเงินของการบินไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ต้องพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาสภาพคล่องในระยะสั้น และฟื้นฟูกิจการในระยะยาวโดยด่วน เนื่องจากขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขาดเสถียรภาพทางการเงิน และผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้คาดการณ์ว่า ปี 2563 การบินไทยจะมีผลขาดทุน 59,062 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยรวมอยู่ที่ 219,198 ล้านบาท และจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบสูงถึง 47,297 ล้านบาท ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้น กระแสเงินสดของบริษัทจะหมดในเดือนมิถุนายน 2563

ฝุ่นตลบชิงที่ปรึกษา

แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังจากนี้บอร์ดบมจ.การบินไทยชุดเดิมจะต้องลาออก เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งบอร์ดใหม่เข้าไปทดแทน ขณะที่การยื่นแผนฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย จะต้องมีการตั้งที่ปรึกษากฎหมายและที่ปรึกษาการเงินเข้ามาดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมา บมจ.การบินไทย มีบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษากฎหมาย และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และร่วมทำแผนฟื้นฟูในช่วงที่ผ่านมา

โดยขณะนี้มีรายงานว่า นอกจากที่ปรึกษาชุดเดิม ยังมีสำนักกฎหมายสากลสยามพรีเมียร์ ของนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งสำนักงานกฎหมาย “วีระวงค์, ชินวัฒน์ และพาร์ทเนอร์ส” ที่สนใจเข้ามาเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ในการทำแผนฟื้นฟูให้การบินไทย

หวั่นติดล็อก “หนี้ต่างประเทศ”

แหล่งข่าวระดับสูงจาก บมจ.การบินไทยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มติ ครม.ที่ให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาลนั้น ถือเป็นแนวทางที่เป็นผลดีต่อองค์กรอย่างมาก เพราะบริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และทำให้ประเทศไทยยังคงมีสายการบินแห่งชาติให้บริการต่อไป ขณะเดียวกันยังสามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผ่านมา

ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ ตัวเลขหนี้ทั้งหมดราว 2.5 แสนล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่อยู่ในต่างประเทศถึงมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท หรือกว่า 70% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการเช่าซื้อ (ลีสซิ่ง) และเช่าเครื่องบินนั้น ผู้ที่จะเข้ามาบริหาร หรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะสามารถเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ได้สำเร็จหรือไม่ ซึ่งหากไม่สำเร็จ การบินไทยก็จะไม่สามารถบินในเส้นทางบินระยะไกลได้ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางยุโรป, อเมริกา ฯลฯ

เกมชิง “ผู้บริหารแผน”

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การยื่นฟื้นฟูกิจการการบินไทย หัวใจสำคัญอยู่ที่ผู้บริหารแผน ซึ่งขณะนี้ฝ่ายการเมืองยังมีการต่อรองกันอยู่ว่า จะเสนอใครเข้ามาทำหน้าที่นี้บ้าง โดยหลักการผู้บริหารแผนจะต้องทำให้เจ้าหนี้ยอมรับ เพราะเจ้าหนี้เองก็ต้องการมืออาชีพที่เชื่อถือได้ เนื่องจากเวลาโหวตต้องอาศัยเสียงจากเจ้าหนี้ แผนจึงจะผ่านได้ ขณะเดียวกันยังจำเป็นต้องทราบรายละเอียดสัญญาต่าง ๆ ที่ทำไว้กับเจ้าหนี้แต่ละรายเป็นอย่างดี เพราะเมื่อเข้าสู่กระบวนการศาลแล้ว การจัดลำดับเจ้าหนี้ต่าง ๆ จะต้องเป็นไปอย่างเสมอภาคและยุติธรรม

“เจ้าหนี้ของการบินไทย ใหญ่สุดก็เป็นหนี้ซื้อเครื่องบิน ซึ่งมีประมาณ 1.4 แสนล้านบาท โดยจะมีครบดีลประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 นี้” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการบริหารแผนยังต้องมองไปถึงขั้นตอนหลังเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว คือ ต้องมีเงินหมุนเวียนเข้ามาเพื่อดำเนินกิจการไปต่อเนื่อง ซึ่งมองในมุมนี้ก็ควรให้ฝั่งกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ เพื่อให้เจ้าหนี้เกิดความเชื่อมั่นในการที่จะใส่เงินเข้าไปเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะต้องใช้เงินหมุนเวียนราว 1.3 แสนล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ 5 หมื่นล้านบาท และเพิ่มทุนอีก 8 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ การทำดิวดิลิเจนซ์ต้องทำออกมาอย่างมืออาชีพ ซึ่งผู้ทำแผนจะต้องระบุถึงแนวทางการแฮร์คัตหนี้ที่จะต้องดำเนินการเมื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟูด้วย

จับตาดึงมืออาชีพนั่งบอร์ด

แหล่งข่าวกล่าวว่า การยื่นฟื้นฟูกิจการของการบินไทยก็คงให้ตัวบริษัทเป็นผู้ยื่น ส่วนการเลือกผู้บริหารแผนคงต้องมีการรับฟังเสียงเจ้าหนี้ด้วย ซึ่งเจ้าหนี้ก็ต้องถามว่า ระหว่างนี้จะหาเงินจากไหนมาดำเนินกิจการ โดยสุดท้ายก็คงไม่พ้นกระทรวงการคลัง ดังนั้น หากกระทรวงการคลังไม่เป็นตัวหลักในการบริหารแผน การฟื้นฟูกิจการก็คงจะไม่ราบรื่น

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ขณะนี้มืออาชีพที่มีการทาบทามเข้ามานั่งเป็นบอร์ดชุดใหม่ อาทิ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. นายจรัมพร โชติกเสถียร อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย และนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสินที่กำลังจะครบวาระ ซึ่งเมื่อพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้ผู้ที่เข้ามาเป็นกรรมการไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน


สำหรับรายชื่อบอร์ดการบินไทย ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 8 คน ประกอบด้วย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการ, พล.อ.อ.ชาญยุทธ ศิริธรรมกุล รองประธานกรรมการ, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล, นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ, น.ส.นิตยา ดิเรกสถาพร, นายวัชรา ตันตริยานนท์, นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต และ พล.อ.อ.อำนาจ จีระมณีมัย