คลังนัดหารือด่วน ขายหุ้นการบินไทย 3% ปลดล็อก พรบ.รัฐวิสาหกิจ

การบินไทย
Photo by Jack TAYLOR/AFP

กระทรวงการคลังหารือด่วน เร่งลดสัดส่วนการถือหุ้น ขาย 3% ให้กองทุนวายุภักษ์ ครม.ประยุทธ์พลิกโฉมประวัติศาสตร์ “การบินไทย” เข้า 10 ขั้นตอนฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายทั้งไทย-สหรัฐ มิ.ย.นี้ คลังลดสัดส่วนหุ้นปลดล็อก พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ สรรหา “15 อรหันต์มืออาชีพ” ให้นายกฯเลือก

คลังเร่งขายหุ้นลดสัดส่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในสัปดาห์นี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติให้การบินไทยออกจากรัฐวิสาหกิจก่อนนำเข้าแผนฟื้นฟูตามศาลล้มละลายนั้น โดยได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เข้ามาหารือเรื่องการลดสัดส่วนการถือหุ้นว่าจะขาย 3% และขายให้กองทุนวายุภักษ์ ตามกระแสข่าวหรือไม่นั้น จะได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด

“ที่ต้องทำให้เร็วเพราะจะต้องขายหุ้นออกก่อน เพื่อให้การบินไทยออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจก่อน ซึ่งจะต้องทำให้เสร็จก่อนเข้าแผนการฟื้นฟู ซึ่งตอนนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอยู่ เชื่อว่าจะทำให้การบริหารจัดการตามแผนฟื้นฟูมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการขายหุ้นออกไปเพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้น อาจจะทำให้กระทรวงการคลังขาดทุนบ้าง แต่เชื่อว่าจะมีความคุ้มค่าในอนาคต เนื่องจากขณะนี้ราคาหุ้นอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งอนาคตหากมีการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้ราคาหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้นเอง โดยยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อพนักงาน จะยังคงดูแลตามปกติ และสหภาพจะยังคงดูแลคุณภาพชีวิตของพนักงานอยู่เช่นเดิม

ยื่นทั้งศาลไทย-สหรัฐ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 พ.ค. 2563 อนุมัติให้ บมจ.การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลทันที โดยจะยื่นขอฟื้นฟูทั้งศาลไทยและสหรัฐ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)

และยังเห็นชอบปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง เหลือต่ำกว่า 50% เพื่อหลุดพ้นการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด และพ้นจากข้อจำกัดของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูให้สำเร็จ และพ้นจากข้อจำกัดของ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ 2518 ให้สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม การบินไทยจะยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม แม้จะไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้วก็ตาม

“จาก 3 แนวทาง คือ 1.รัฐบาลเข้าไปอุ้มโดยค้ำเงินกู้ 54,000 ล้านบาท 2.รัฐปล่อยให้ล้มละลาย และ 3.เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาล ทางคมนาคมมองว่าแนวทางฟื้นฟูเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะสถานะการเงินปัจจุบันของการบินไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ถึงสิ้นปี 2562 มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยถึง 147,352 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ต่างประเทศ 35% หนี้ไฟแนนซ์จากการเช่าเครื่องบิน 30% คาดว่าทั้งปี 2563 จะมีหนี้ถึง 2 แสนล้านบาท เท่ากับมีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย ทำให้กระแสเงินสดหมดในเดือน มิ.ย.นี้ ต้องการเงินช่วยเหลือสภาพคล่อง หลังโควิดต้องการเงินช่วยเหลือส่วนทุน”

เปิด 10 ขั้นตอนฟื้นฟู

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในการดำเนินการฟื้นฟูมี 10 ขั้นตอน หลังจากนี้ กระทรวงการคลังต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า 50% โดยการบินไทยจะเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาล ตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาเจ้าหนี้ เมื่อศาลรับคำร้อง ส่งหมายให้เจ้าหนี้ จะทำให้การบินไทยได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 90/12 ประชุมเจ้าหนี้อนุมัติผู้จัดทำแผน จากนั้นศาลตั้งผู้ทำแผน เพื่อเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ จัดประชุมเจ้าหนี้อนุมัติแผน ดำเนินการปรับปรุงแผนฟื้นฟู ศาลพิจารณาเห็นชอบด้วยแผน แต่งตั้งผู้บริหารแผน และดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ซึ่งถึงเวลาแล้วที่การบินไทยจะต้องปรับตัวและมีการเอกซเรย์ปัญหาต่าง ๆ ทุกด้านให้มีความถูกต้อง เช่น การบริหารจัดการ

คมนาคมเสนอชื่อ 15 มือดี

“คมนาคมจะเสนอชื่อบุคคลประมาณ 15 คน ที่มีความรู้ความสามารถประสบการณ์ด้านต่าง ๆ เช่น ด้านบุคคล การเงิน บริหาร การบิน ที่ปราศจากการแทรกแซงให้เป็นผู้จัดทำแผน โดยจะเสนอชื่อให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า จะเร่งดำเนินการเร็วที่สุด คาดว่าก่อน มิ.ย.จะยื่นฟื้นฟูต่อศาลได้ ทั้ง 10 ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ส่วนจะหยุดออกจากแผนฟื้นฟูเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับผู้จัดทำแผนและการบินไทย แต่จากโมเดลของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ใช้เวลา 14 เดือน ออกจากการฟื้นฟู และกลับมามีกำไรปีละ 2 พันล้านเหรียญ ทั้งหมดที่ทำเป็นสิ่งที่เรามีต้นแบบ มีการวิเคราะห์มาเป็นอย่างดี ไม่ได้ต้องการทำลายการบินไทย อย่าตื่นตระหนก เพราะเป็นกันทั่วโลก”

นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า สำหรับคณะกรรมการ (บอร์ด) และผู้บริหารการบินไทยชุดปัจจุบัน จะยังคงอยู่จนกว่าคลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นและพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ จากนั้นจะมีการแต่งตั้งชุดใหม่มาดำเนินการตามแผนฟื้นฟูดังกล่าวต่อไป ขณะที่การบริหารจัดการสภาพคล่องของการบินไทยในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ ภายในเดือน พ.ค.นี้จะมีการประชุมหารือกับสหภาพพนักงานในเร็ว ๆ นี้ เพื่อประเมินเงินที่เหลือจะเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหรือไม่ จะต้องดูหลายองค์ประกอบ ยังไม่สามารถระบุได้ในตอนนี้ว่าต้องการใช้เงินเท่าไหร่ รวมถึงการที่การบินไทยจะกลับมาบินใหม่หลังเดือน มิ.ย.นี้