สุพรรณฯชงนายกฯ 10 พ.ค.หาซอฟต์โลน-เบรกค่าแรง

suphan

หอการค้าสุพรรณบุรีเตรียมชง 3 ประเด็นเสนอนายกฯเศรษฐาลงพื้นที่ 10 พ.ค.นี้ ทั้งการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ SMEs เรื่องสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่สุพรรณบุรี-สถานีรถไฟชุมทางบ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท มีข้อเสียมากกว่าข้อดี ถือเป็นการปรับค่าแรงทั้งระบบ ไม่ใช่ปรับเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำ

นายวีระ ตั้งวุทฒิไกรวิทย์ เจ้าของกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัดแม่ละมาย และประธานหอการค้าจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาจังหวัดสุพรรณบุรีนั้น ทางหอการค้าเตรียมประเด็นที่จะนำเสนอให้รัฐบาลช่วยผลักดันและแก้ไขปัญหา 3 เรื่อง ได้แก่ การจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เรื่องเส้นทางคมนาคมโลจิสติกส์ และเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

วีระ ตั้งวุทฒิไกรวิทย์
วีระ ตั้งวุทฒิไกรวิทย์

ประการแรกเรื่องการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งในอดีตมีหลายโครงการ แต่ปัจจุบันไม่มี และต้องการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันให้เหมือนในอดีต

โดยในส่วนเส้นทางคมนาคมโลจิสติกส์ อยากให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำเส้นทางขนส่งทางรางต่อเชื่อมรถไฟจากสุพรรณบุรีไปสิ้นสุดที่สถานีรถไฟชุมทางบ้านภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 40 กิโลเมตร เนื่องจากปัจจุบันเส้นทางรถไฟจากนครปฐม-สุพรรณบุรี เป็นระยะทางที่สั้น จึงมีผู้ใช้บริการน้อย โดยผู้ใช้บริการน้อยมีเพียงพ่อค้าแม่ค้าที่ใช้บริการขนส่งสินค้า และรถไฟมีวิ่งให้บริการเพียง 1 เที่ยวต่อวัน หากมีการต่อเชื่อมไปยังสถานีรถไฟชุมทางบ้านภาชีถือเป็นชุมทางที่สามารถเชื่อมต่อไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือได้

นายวีระกล่าวต่อไปว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ภาครัฐอาจจะมองว่ามีข้อดี ประชาชนจะมีกำลังซื้อ มีกำลังในการจับจ่ายมากขึ้น แต่หลายจังหวัดเห็นว่า มีข้อเสียมากกว่าข้อดี การปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่ปรับเฉพาะแรงงานขั้นต่ำฐานล่างสุด เพราะแรงงานมีฝีมือที่อยู่สูงขึ้นมาอีกขั้น ไม่ปรับก็ไม่ได้ จึงถือเป็นการปรับค่าแรงทั้งระบบไม่ใช่ปรับเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำ

Advertisment

การปรับขึ้น 400 บาทเท่ากันทุกจังหวัด ถือเป็นการลดทอนการแข่งขันของพื้นที่ ปกติตามขั้นตอนของกฎหมาย การปรับค่าแรงขั้นต่ำทุกจังหวัดมีคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประกอบด้วยนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละจังหวัด โดยดูปัจจัยสภาวะเงินเฟ้อ และค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก จังหวัดที่มีค่าครองชีพสูงควรจะได้ค่าแรงมากกว่าจังหวัดที่มีค่าครองชีพต่ำ

อีกประเด็นที่หอการค้าหลายจังหวัดหารือกัน คือ จำนวนแรงงานที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นคนไทยน้อย ที่เหลือเป็นแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่างจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานต่างชาติจำนวนมาก แรงงานคนไทยที่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำมีเพียง 20% แต่อีก 80% เป็นแรงงานต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมการใช้จ่ายในประเทศไทยน้อย และส่งเงินกลับบ้านมากกว่า

“หากถามว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ได้ประโยชน์สำหรับคนไทยหรือไม่ ถือว่าได้น้อย เพราะคนต่างชาติเหล่านี้จะจับจ่ายใช้สอยน้อย และส่งเงินกลับบ้านมากกว่า นอกจากนี้ พอมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำตามความต้องการของภาคการเมือง จะทำให้แรงงานไทยหรือแรงงานต่างชาติขาดแรงจูงใจในการพัฒนาฝีมือ เพราะทำงานอย่างไรก็ได้ ภาครัฐมีนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ทั้งที่จริง ๆ เรื่องการพัฒนาฝีมือถือเป็นเรื่องสำคัญ

จริง ๆ ผู้ประกอบการโรงงานอยากใช้แรงงานไทย แต่มาใหม่ ๆ ยังไม่เป็นงาน เราให้ตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ แต่ทำไปได้สักพัก หากทำงานได้ตามหน้าที่ และมีความรับผิดชอบดี เจ้าของบริษัทก็ปรับขึ้นค่าแรงให้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว โดยที่ภาครัฐไม่ต้องมาสั่ง เพราะเราต้องการจูงใจให้คนทำงานเป็นอยู่กับเรา เพราะตอนนี้แรงงานหายาก หากเราไม่ปรับค่าแรงให้ เมื่อทำงานเป็นจะมีคนมาดึงตัวไปทำงานที่อื่น จริง ๆ นักการเมืองไม่ควรนำเรื่องค่าแรงขั้นต่ำมาใช้เป็นประเด็นในการหาเสียง” นายวีระกล่าวและว่า

Advertisment

ขณะเดียวกันพอมีการปรับค่าแรง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจทั้งระบบ เพราะทุกบริษัทต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น ก็ไปบวกเพิ่มค่าสินค้าต่าง ๆ ปรับขึ้นตามไปด้วย ในด้านบริการเช่นเดียวกัน และที่น่าห่วงมาก ๆ คือ ภาคการเกษตร พอค่าแรงขั้นต่ำขึ้น ภาคการเกษตรต้องปรับค่าแรงให้คนงาน แต่เกษตรกรไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าของตัวเองได้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ใช้หุ่นยนต์แขนกลทำงานแทนแรงงานกันจำนวนมาก จะไม่ได้รับผลกระทบเหมือนโรงงานระดับ SMEs ที่ใช้แรงงานคนเป็นส่วนใหญ่