การบินไทยอุ้มต่อ “ไทยสมายล์” เพิ่มไฟลต์บิน-ขยายฮับดอนเมือง

“ไทยสมายล์” ยันบริษัทแม่เข้าแผนฟื้นฟูฯไม่กระทบ เผยทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี คู่ขนาน-อยู่ในกรอบแผนฟื้นฟูของ “การบินไทย” ลั่นพร้อมช่วยเหลือตัวเอง ไม่สร้างปัญหาใหม่ ประกาศเดินหน้าปักธงเดสติเนชั่นใหม่รับนโยบายหนุน “ไทยเที่ยวไทย” เร่งศึกษาเพิ่มฮับดอนเมืองอีกรอบ พร้อมเตรียมทำตลาดเจาะรายเซ็กเมนต์ หวังตอบโจทย์นักเดินทางท่องเที่ยวทุกกลุ่ม ด้าน “การบินไทย” คาดสรุปกระบวนการแผนฟื้นฟูจบกลางปีหน้า

จากกรณีที่มีกระแสข่าวออกมาว่า ที่ผ่านมาบริษัทแมคคินซี่ แอนด์โค ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจการบินของบริษัทการบินไทย รวมถึงบอร์ดบริหารบางส่วนเสนอให้การบินไทยซึ่งอยู่ในขั้นตอนการทำแผนฟื้นฟูตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลางยุบสายการบินลูกคือ ไทยสมายล์ เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนมาตลอดตั้งแต่เปิดดำเนินการในปี 2555 โดยมีตัวเลขขาดทุนสะสม ณ สิ้นปี 2562 เกือบ 1 หมื่นล้านบาท

ยันไม่กระทบแผน “ไทยสมายล์”

นางชาริตา ลีลายุทธ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ผู้บริหารสายการบินไทยสมายล์ (การบินไทยถือหุ้น 100%) เปิดเผยว่า ขณะนี้การบินไทยซึ่งเป็นบริษัทแม่ยังคงสนับสนุนสายการบินไทยสมายล์เต็มที่ แม้ว่าจะอยู่ในกระบวนการของการเข้าสู่แผนฟื้นฟูตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง โดยการบินไทยจะยังกำหนดแนวทางการทำงานเพื่อให้ทั้ง 2 สายการบินเดินคู่ขนานกันต่อไป

โดยในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของไทยสมายล์ที่ทำอยู่จะกำหนดแนวทางไว้ชัดเจนว่า ไทยสมายล์ควรจะวางแผนการบินอย่างไร ทั้งเส้นทางบินภายในประเทศและเส้นทางบินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีเส้นทางการบินบางส่วนที่การบินไทยยกเลิก และให้ไทยสมายล์บินทดแทนอีกจำนวนหนึ่งด้วย

“ขอย้ำว่าไทยสมายล์ไม่ได้เข้าแผนฟื้นฟูด้วย แต่ต้องดำเนินงานตามแผนของบริษัทแม่ เหมือนอยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูของแม่ และทำตามแนวทางของแผน อย่าให้ออกจากกรอบแผนฟื้นฟูของบริษัทแม่ การบินไทย จะพัฒนาแก้ไข หรือปรับปรุงอะไร อย่างไร เราต้อง relate และเดินไปในทิศทางเดียวกันกับการบินไทยด้วย”

ช่วยตัวเอง-ไม่สร้างปัญหา

นางชาริตากล่าวด้วยว่า หลักการดำเนินงานของไทยสมายล์ในขณะนี้จึงยังคงเป็นไปตามแนวนโยบายเดิม เพียงแต่จะมุ่งโฟกัสตลาดภายในประเทศ (domestic) เพิ่มมากขึ้นในระหว่างที่ตลาดเส้นทางบินระหว่างประเทศยังไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองให้เพิ่มขึ้น

“ในระหว่างที่บริษัทแม่อยู่ระหว่างการทำแผนฟื้นฟูเพื่อปรับปรุงองค์กรนั้น นโยบายตอนนี้คือเราพยายามมองว่าแม่มีปัญหาให้แก้อยู่เยอะแล้ว เราอย่าเอาปัญหาอะไรใส่เข้าไปอีก ต้องพยุงตัวเองเพื่อรอวันที่มาบรรจบกันอีกครั้ง ตอนที่การบินไทยแก้ไขแผนเสร็จเรียบร้อย แล้วมารวมกันและก้าวเดินต่อไปด้วยกัน” นางชาริตากล่าวและว่า

สำหรับเรื่องการขายซึ่งปกติสำนักงานการขายในต่างประเทศจะช่วยขายให้กับไทยสมายล์เข้ามาจำนวนหนึ่ง หากเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างภูเก็ต, กระบี่ จะมีสัดส่วนลูกค้าที่มาจากการบินไทยประมาณ 20-30% ขณะนี้บริษัทได้เปลี่ยนมาขายด้วยตัวเองทั้งหมด 100% เนื่องจากสำนักงานต่างประเทศและการบินไทยยังไม่ให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ พร้อมทั้งปรับตัวรองรับด้วยการลดความถี่เที่ยวบินลง เพื่อให้สอดรับกับดีมานด์การเดินทางในประเทศแทน

เร่งปักธงยึดหัวหาดทั่วไทย

นางชาริตากล่าวต่อไปว่า ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 สายการบินไทยสมายล์มีฝูงบินให้บริการอยู่ทั้งหมด 20 ลำ แบ่งเป็นให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศและภายในประเทศในสัดส่วน 50:50 ดังนั้นในช่วงที่ตลาดต่างประเทศหรือเส้นทางบินระหว่างประเทศยัง
ไม่สามารถเปิดให้บริการได้นี้ ไทยสมายล์จึงกลับมาทบทวนแผนการบินใหม่ทั้งหมด โดยเพิ่มน้ำหนักกับการเปิดให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดปริมาณการใช้เครื่องบินที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

นอกจากเส้นทางการบินเดิมจำนวน 10 จุดหมายปลายทางจากกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) ประกอบด้วย เชียงใหม่, เชียงราย, อุดรธานี, อุบลราชธานี, หาดใหญ่ (สงขลา), ภูเก็ต, สุราษฎ์ธานี, ขอนแก่น, นราธิวาส และกระบี่ ขณะนี้ไทยสมายล์ได้เร่งเดินหน้าเปิดเส้นทางบินภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ เส้นทางกรงเทพฯสู่นครศรีธรรมราช, น่าน, นครพนม และเส้นทางข้ามภาค ได้แก่ เส้นทางเชียงใหม่-นครศรีธรรมราช, เส้นทางอุดรธานี-นครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการขออนุญาตทำการบินอีก 4 จุดหมายปลายทาง คือ เส้นทางกรุงเทพฯสู่เลย, ระนอง, ร้อยเอ็ด และตรัง รวมถึงเส้นทางข้ามภาค อาทิ เส้นทางขอนแก่น-หาดใหญ่, เส้นทางอุบลราชธานี-หาดใหญ่ เป็นต้น รวมทั้งเส้นทางที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาตลาดอีกจำนวนหนึ่งด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทยของภาครัฐ โดยพบว่าจำนวนจุดหมายปลายทางที่ไทยสมายล์ให้บริการอยู่ในขณะนี้มีจำนวนมากกว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว

“ปัจจุบันเราใช้เครื่องบินอยู่ทั้งหมด 14 ลำ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 15 ลำ ในเดือนธันวาคม จากการเพิ่มเส้นทางบินจากกรุงเทพฯสู่เลย ซึ่งเราจะพยายามเปิดให้ทันกับฤดูกาลการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ ส่วนเครื่องที่เหลืออีก 5 ลำนั้นยังคงจอดไม่ได้ใช้งานอยู่เหมือนเดิม คาดว่าอาจต้องรอจนกว่าประเทศจะปลดล็อกให้เปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศ ตอนนี้ฝ่ายวางแผนของการบินไทยและไทยสมายล์ศึกษาเรื่องการเปิดเส้นทางบินใหม่เยอะมาก”

เล็งเพิ่มฮับบิน “ดอนเมือง”

นางชาริตากล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากยุทธศาสตร์ในด้านการเพิ่มเส้นทางการบินภายในประเทศแล้ว ที่ผ่านมาไทยสมายล์ยังได้ทำการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการเพิ่มฐานปฏิบัติการบิน (ฮับ) ที่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักเดินทางภายในประเทศอีกด้วย โดยครั้งแรกที่ทำการศึกษายังพบว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่ยังมองภาพลักษณ์ของท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นโลว์คอสต์แอร์พอร์ต ขณะที่ไทยสมายล์เป็นฟูลเซอร์วิส จึงยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะเพิ่มฮับการบินที่ท่าอากาศยานดอนเมือง อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากผู้โดยสารต้องการเรื่องของความสะดวกที่เพิ่มขึ้นก็จำเป็นต้องนำโครงการดังกล่าวกลับมาพิจารณาถึงความเป็นไปได้อีกครั้ง

นางชาริตากล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ยอมรับว่าเส้นทางบินภายในประเทศมีศักยภาพในการทำกำไรได้ต่ำกว่าเส้นทางบินระหว่างประเทศ เนื่องจากเส้นทางภายในประเทศนั้นส่วนใหญ่กลุ่มโลว์คอสต์แอร์ไลน์ทำการตลาดแข่งขันด้านราคาค่อนข้างหนัก บริษัทได้ทำสำรวจการให้บริการของฟูลเซอร์วิส ว่าสำหรับลูกค้าที่ใช้บริการฟูลเซอร์วิสแอร์ไลน์นั้นคิดอย่างไรหากสามารถเลือกได้ว่าจะใช้บริการอะไรบ้างในช่วงระหว่างการเดินทาง

อาทิ สำหรับคนที่เดินทางบ่อยคิดอย่างไรหากได้ราคาที่ดีขึ้น ถ้าไม่ต้องโหลดสัมภาระ หรือสำหรับคนที่ไม่รับอาหารบนเครื่องระหว่างเดินทางคิดอย่างไรหากได้ราคาดีขึ้นโดยไม่รับอาหาร เป็นต้น

“เรากำลังศึกษาว่าหากเราจะทำตลาดเจาะรายเซ็กเมนต์ให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้โดยสารแต่ละคน โดยมีราคาตั๋วโดยสารหลายระดับ แต่ยังคงความเป็นฟูลเซอร์วิสแอร์ไลน์ไว้ ซึ่งประเด็นนี้คงต้องหารือสำนักงานการบินพลเรือนด้วย ว่าด้วยความเป็นฟูลเซอร์วิสของเราจะสามารถทำได้แค่ไหน อย่างไร แต่เชื่อว่าหากสามารถให้บริการผู้โดยสารรายเซ็กเมนต์ได้เขาจะมีความสุขในการใช้บริการมากขึ้น” นางชาริตากล่าว

การบินไทยสรุปแผนฟื้นฟูกลางปีหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม Opportunity Day ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมาระบุว่า ปัจจุบันศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งผู้จัดทำแผนเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินงานจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยคาดว่าจะสามารถยื่นแผนที่จัดทำแล้วเสร็จต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ได้ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2564 จากนั้นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์จะเรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหมดของบริษัท เพื่อให้พิจารณาและลงมติว่าเห็นชอบกับแผนที่จัดทำหรือไม่ ในช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือเมษายน ก่อนนำเสนอต่อศาลและฟังคำสั่งศาลอีกครั้งไม่เกินไตรมาส 2 ของปีหน้า

ระหว่างนี้การบินไทยต้องจัดการบริหารต้นทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนด้านบุคลากร ปรับลดเงินเดือนผู้บริหาร เปิดให้มีการลาโดยไม่รับเงินเดือน และโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร พร้อมการหารายได้เพิ่มเติมทั้งเกี่ยวเนื่องและนอกเหนือจากการบิน รวมถึงลดขนาดและเพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน เพื่อเตรียมความพร้อมกลับมาเปิดบินตารางฤดูหนาวในต้นปีหน้า


อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีการควบรวมสายการบินไทยสมายล์เข้ากับสายการบินไทยตามที่มีข่าวนั้น ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ยังเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาต่อไป ถ้าหากมีการดำเนินการดังกล่าวจะต้องทำการปรึกษาหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดเรื่องสิทธิการบิน สล็อตการบิน และความเป็นเจ้าของเครื่องบินต่อไป