ท่องเที่ยวฟุบหนักโรงแรมระส่ำ แห่ปิดชั่วคราวตกงานรอบใหม่

covid-19

โควิดระลอก 3 ทุบความหวังธุรกิจท่องเที่ยว คนโรงแรมสิ้นหวัง ธุรกิจไร้ทางรอด เผยช่วง เม.ย.-พ.ค.อัตราการเข้าพักเฉลี่ยไม่ถึง 5% โรงแรมเมืองท่องเที่ยว “ภูเก็ต-พัทยา” ทยอยปิดชั่วคราว ลุ้นความหวังไฮซีซั่นเดือน ต.ค.เปิดใหม่อีกครั้ง คาดตกงานอีกระลอก ชี้ “วัคซีน” ความหวังเดียวของอุตฯท่องเที่ยวไทย วอนรัฐเดินหน้าเปิด “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” ตามไทม์ไลน์เดิม หวังเม็ดเงินต่างชาติช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านสภาท่องเที่ยวยันกระทบหนักทั้งอุตสาหกรรม

ทุบโอกาสตุนรายได้สงกรานต์

แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยคาดหวังว่าเดือน เม.ย.นี้จะเป็นเดือนแห่งการคิกออฟการท่องเที่ยวของไทยอีกครั้ง หลังจากเจอวิกฤตโควิดมาแล้วถึง 2 ระลอกใหญ่ เนื่องจากเป็นเดือนที่มีเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งมีวันหยุดพิเศษที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดยาวต่อเนื่อง ด้วยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้คนไทยเกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ

แต่การระบาดระลอก 3 บวกกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศและบังคับใช้เมื่อ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้คนไทยชะลอการเดินทางท่องเที่ยวทันที ส่งผลให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักอีกครั้ง

โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยไม่เกิน 5% แต่เป็นธุรกิจที่มีต้นทุนการดำเนินงานที่ค่อนข้างสูง

“พอมาเจอโควิดระลอก 3 กันอีกครั้งทำให้ธุรกิจหมดโอกาสตุนรายได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ต้องกลับมาเริ่มต้นที่ศูนย์กันใหม่” แหล่งข่าวกล่าว

โรงแรมทยอยปิดชั่วคราวรอบใหม่

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) และรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมเดอะ สุโกศล กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์โดยรวมของกลุ่มธุรกิจโรงแรมขณะนี้ถือว่าแย่มาก ไม่สามารถทำธุรกิจได้อีกครั้ง ไม่เพียงเฉพาะในส่วนห้องพักเท่านั้น มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดยังส่งผลกระทบถึงห้องอาหารและห้องจัดงานประชุมสัมมนาด้วย

“ตอนนี้คนที่สายป่านยาว มีบริษัทแม่ช่วยเหลือด้านการเงินพอมีบ้าง แต่เป็นส่วนน้อยมาก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในภาวะสายป่านจะขาดกันแล้ว” นางมาริสากล่าวและว่า

ที่ผ่านมาทุกโรงแรมก็คาดหวังว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์และตลอดเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้จะเป็นช่วงที่โรงแรมมีโอกาสสร้างรายได้เพื่อมาต่อลมหายใจให้ธุรกิจสามารถประคองตัวผ่านไตรมาส 3 และเดินต่อไปได้จนถึงไฮซีซั่นเดือน ต.ค.ได้บ้าง แต่โควิดระลอก 3 ทำให้ธุรกิจหมดโอกาสสร้างรายได้ตลอดเดือน เม.ย.นี้ และคาดว่าจะลากยาวไปจนถึง พ.ค.นี้

โดยขณะนี้โรงแรมในเมืองท่องเที่ยวที่ปัจจุบันเปิดให้บริการไม่ถึง 50% เริ่มประเมินสถานการณ์เพื่อปิดบริการชั่วคราวอีกครั้ง เนื่องจากประเมินกันว่าในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 นี้ธุรกิจท่องเที่ยวโดยรวมยังอยู่ในภาวะยากลำบาก พร้อมทั้งรอประเมินสถานการณ์เพื่อกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในเดือน ต.ค.ซึ่งเป็นไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวไทย

แรงงานตกงานอีกตรึม

นางมาริสากล่าวด้วยว่า ผลกระทบจากการทยอยปิดโรงแรมชั่วคราวกันอีกในเมืองท่องเที่ยวหลักนั้น จะส่งผลให้แรงงานในธุรกิจโรงแรมตกงานกันเพิ่มขึ้นอีกครั้งตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ส่วนจะมากน้อยแค่ไหน ขณะนี้ยังคาดการณ์ยาก

ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจของสมาคมโรงแรมไทยและจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาพบว่ามีแรงงานในธุรกิจโรงแรมตกงาน 37% และตกงานเพิ่มขึ้นเป็น 45% ในเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

ชี้ “วัคซีน” คือความหวังเดียว

นางมาริสากล่าวต่อว่า ความหวังเดียวของคนท่องเที่ยวและคนโรงแรมขณะนี้คือ “วัคซีน” กล่าวคือรัฐบาลต้องลงทุนสั่งซื้อวัคซีนในปริมาณที่เพียงต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หรือประมาณ 70% ของประชากรให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้ต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นและกล้าเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย

สอดรับกับนางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ รองผู้จัดการทั่วไป โรงแรมเดอะ ทวินทาวเวอร์ กรุงเทพฯ ที่กล่าวว่า วัคซีนคือสิ่งเดียวที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ชาวต่างชาติกล้าเดินทางเข้ามาประเทศไทย เพราะแม้ว่าประเทศจะมีนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแต่หากในประเทศยังฉีดวัคซีนไม่ถึง 70% สถานการณ์ก็จะยังอยู่ในภาวะเสี่ยงและไม่มีคนกล้าเดินทาง

ดันเปิด “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์”

นายกสมาคมโรงแรมไทยกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากประเด็นเรื่องวัคซีนแล้ว ประเด็นที่อยากให้รัฐบาลขับเคลื่อนต่อไปคือ นโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่กักตัวตามโมเดล “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” ที่มีกำหนดเปิดที่จังหวัดภูเก็ต 1 กรกฎาคมนี้ และเพิ่มอีก 5 จังหวัดในเดือนตุลาคมนี้ และเปิดทั่วประเทศในเดือนมกราคม 2565 เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง

หากต้องเลื่อนหรือไม่สามารถเปิดได้จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศแน่นอน

“การดูแลป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีความสำคัญเช่นกัน ดังนั้นจึงอยากให้รัฐพิจารณาและจัดสรรวัคซีนให้มีความสมดุลทั้ง 2 ส่วน เพราะถ้าจัดการแต่เรื่องการควบคุมการแพร่ระบาด ธุรกิจที่ล้มไปแล้วจะลุกขึ้นยาก” นายกสมาคมโรงแรมไทยกล่าว

กระทบหนักทุกซัพพลายเชน

ขณะที่แหล่งข่าวจาก สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โควิดระลอก 3 นี้ทุกซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักทั้งธุรกิจโรงแรม, สายการบิน, บริษัทนำเที่ยว, ร้านอาหาร, รถขนส่ง ฯลฯ เนื่องจากทุกภาคส่วนต่างคาดหวังว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยจะเริ่มกลับมาทยอยดีขึ้น

โดยจะเห็นว่าสายการบินต่าง ๆ ได้ลงทุนเพิ่มเส้นทางบินภายในประเทศกันเป็นจำนวนมาก ทั้งเส้นทางบินตรงจากรุงเทพฯสู่เมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมถึงเส้นทางบินข้ามภาค บริษัทนำเที่ยวก็เริ่มเตรียมคิดและเสนอขายแพ็กเกจนำเที่ยวภายในประเทศ ขณะที่ภาคขนส่งทั้งรถบัสและรถตู้ก็เริ่มกลับมาทำการซ่อมแซม ตรวจสภาพความพร้อมของรถเพื่อกลับมาให้บริการอีกครั้ง

“สถานการณ์ในตอนนี้ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนอยู่ในภาวะหมดความหวัง ไม่รู้จะปรับตัวอย่างไรแล้ว เพราะหมดกระบวนท่าแล้วจริง ๆ ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย ภาครัฐจะเข้ามาช่วยฟื้นฟูและปั๊มหัวใจให้ทุกซัพพลายเชนกลับมาเดินต่อกันได้อีกครั้ง” แหล่งข่าวกล่าว

รร.ภูเก็ตส่อปิดกิจการเพิ่ม

นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า ปัจจุบันโรงแรมที่เปิดให้บริการในภูเก็ตประมาณ 200-300 แห่ง รวมประมาณ 15,000 ห้อง ยอดจองหลังสงกรานต์อยู่ที่ 20-30% สำหรับวันหยุด ส่วนวันปกติอยู่ที่ 5-10%

ส่วนยอดจองใหม่ยังช้า เพราะรอดูมาตรการจังหวัดและสถานการณ์ระบาดระลอก 3 ซึ่งถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น นักท่องเที่ยวไม่เดินทางเข้ามา มีแนวโน้มโรงแรมที่จะต้องปิดชั่วคราวเกิดขึ้นแน่นอน

แหล่งข่าวจากจังหวัดภูเก็ตเปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์โรงแรมในภูเก็ตค่อนข้างหนักจากโควิด-19 รอบ 3 เนื่องจากรายได้ที่หวังจะได้รับในช่วงเทศกาลสงกรานต์และช่วงปิดเทอมที่จองห้องเข้ามามีการยกเลิกและเลื่อนออกไป ตอนนี้ทุกคนฝากความหวังว่ารัฐบาลจะเดินตามแผนฉีดวัคซีนโควิดให้คนภูเก็ต 4 แสนคน เพื่อเปิดเกาะภูเก็ตให้คนต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวจะเป็นหนทางเดียวในการสร้างรายได้ให้ภูเก็ตและประเทศไทย

หากรัฐบาลไม่สามารถจัดสรรวัคซีนและเปิดเกาะภูเก็ตได้ตามเป้าหมาย คงได้เห็นธุรกิจโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กและธุรกิจเกี่ยวเนื่องบางส่วน “ปิดกิจการ” เพิ่มขึ้น เพราะเงินเก็บที่มีถูกใช้ในการประคองตัวใกล้หมด หรือบางรายหมดไปแล้ว

ส่วนโครงการโกดังพักหนี้ของธนาคารนั้น คนที่จะตัดสินใจเข้าโครงการน่าจะเป็นผู้ประกอบการที่ต้องการขายกิจการทิ้งมากกว่า เพราะการพักหนี้ดอกเบี้ยวิ่งตลอดเวลา ต้องไปชำระหนี้ในอนาคต และการจะเช่าโรงแรมกลับมาทำต่อ สถานการณ์ตอนนี้คงไม่มีใครอยากเช่ามาทำ

บุรีรัมย์ปลดพนักงานระลอกใหม่

นางสาวรัตภชา ธีรภัทรกิจ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ และหนึ่งในผู้ประกอบการโรงแรม จ.บุรีรัมย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดบุรีรัมย์มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในเดือน เม.ย. ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากนักท่องเที่ยวแห่จองห้องพักในจังหวัดบุรีรัมย์เต็มหมดทุกโรงแรม แต่การระบาดรอบ 3 ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมอ่วมหนัก ลูกค้าทยอยคืนห้องพักทั้งหมด

การแก้ปัญหาเบื้องต้นของผู้ประกอบการคือลดพนักงาน และปลดพนักงานพาร์ตไทม์เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้เร็วที่สุด โดยภาพรวมโรงแรมในจังหวัดบุรีรัมย์ใช้วิธีดังกล่าวกว่า 80% คาดว่าหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปอีกไม่เกิน 2 เดือน จะมีโรงแรมบางแห่งต้องปิดตัว

“ตอนนี้ไม่มีแนวทางแก้ไขหรือจัดแคมเปญอะไรที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เลย เพราะการเดินทางสัญจรค่อนข้างยาก ทุกธุรกิจต้องระวังตัวอย่างมาก โดยเฉพาะภาคธุรกิจโรงแรมค่อนข้างตื่นตัวอยู่มาก คนไม่กล้าเดินทาง โรงแรมโดยเฉลี่ยมีผู้เข้าพักไม่ถึง 20% อยากให้รัฐบาลหรือธนาคารผ่อนปรนภาระหนี้สินลงบ้าง เพราะธุรกิจโรงแรมอาจเหมือนธุรกิจใหญ่แต่มีเงินหมุนเวียนน้อย ขณะนี้กำลังยื่นเรื่องต่อผู้เกี่ยวข้องให้ช่วยพิจารณา หากแก้ปัญหาส่วนนี้น่าจะสามารถประคองธุรกิจไปได้”

พัทยาส่อปิดกิจการชั่วคราว

นายพิสูจน์ แซ่คู นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก เปิดเผยว่า หลังจากมีการระบาดระลอก 3 ธุรกิจในเมืองพัทยาได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ลูกค้ายกเลิกพักห้องเกือบหมด เหลือไม่ถึง 5% ยาวไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน และคาดว่าเดือนพฤษภาคมซึ่งก่อนหน้านี้ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์มีกรุ๊ปทัวร์เข้ามาประมาณ 60-70%

“ตอนนี้สถานการณ์ค่อนข้างอึดอัด ซึ่ง ศบค.แจ้งว่าต้องอดทนอย่างน้อย 14 วัน จนถึงสิ้นเดือน เม.ย.นี้ หากตัวเลขลดลงก็มีแนวโน้มจะผ่อนคลาย แต่ถ้าตัวเลขไม่ลดลงก็น่าจะลำบาก กิจกรรมต่าง ๆ คงทำอะไรมากไม่ได้ ถ้ายังมีการแพร่ระบาดอยู่”


ในส่วนของผู้ประกอบการโรงแรมก็กำลังประเมินสถานการณ์ หากต้นเดือน พ.ค.ตัวเลขจำนวนผู้ติดโควิด-19 ไม่ลดลง หลายโรงแรมก็อาจจะตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราวอีกรอบ อีกทั้งเรื่องที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวในช่วงเดือน ต.ค.นี้ ก็คิดว่าน่าจะยาก เพราะการแพร่ระบาดไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่แพร่ระบาดไปทั่วโลกนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาค่อนข้างลำบาก