“ธุรกิจการบิน” ซบยาวยันปี 2023 คาดการณ์ยากทั้งซัพพลาย-ดีมานด์

นิตินัย ศิริสมรรถการ
นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) หรือ ทอท.
สัมภาษณ์พิเศษ

จากข้อมูลของสำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระบุว่าในปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยมีจำนวนผู้โดยสารผ่านสนามบินทั่วประเทศรวม 165 ล้านคน มีจำนวนเที่ยวบิน 1.43 ล้านเที่ยวบิน

ปี 2563 จำนวนผู้โดยสารภาพรวมทั่วประเทศลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปีของอุตสาหกรรมการบินของไทย โดยมีจำนวนผู้โดยสารเพียง 58.25 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนถึง 64.7% ปริมาณเที่ยวบินลดลงมาเหลือ 500,435 เที่ยวบิน ลดลงจากปีก่อน 53.1%

สถานการณ์ (ยัง) คาดการณ์ยาก

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) หรือ ทอท. ในฐานะผู้บริหารสนามบินหลักของประเทศถึงมุมมองต่ออุตสาหกรรมการบิน แผนการบริหารในภาวะที่ธุรกิจการบินและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยและทั่วโลกยังคาดการณ์ยาก รวมถึงแนวทางการเตรียมความพร้อมสำหรับการรองรับการเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาลไว้ดังนี้

“นิตินัย” บอกว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการบินของไทยในวันนี้ทุกอย่างล้วนคาดการณ์ลำบากมาก เนื่องจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องและผู้ใช้บริการของ ทอท.ยังไม่มีความชัดเจนในทุก ๆ ด้าน จึงยากมากจะประเมินว่าธุรกิจการบิน หรือธุรกิจของ ทอท.จะกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อไหร่

ยกตัวอย่างเช่น สายการบินต่าง ๆ ที่เคยให้บริการอยู่ในช่วงก่อนวิกฤตโควิดนั้นขณะนี้ยังประเมินไม่ได้หลังจากธุรกิจเริ่มฟื้นจะเหลือสายการบินที่กลับมาให้บริการได้มากน้อยแค่ไหน และจะฟื้นกลับมาอย่างไร สายการบินต่าง ๆ จะใช้เครื่องบินกี่ลำ ต้องจอดต่ออีกกี่ลำ หรือจะใช้เครื่องลำเล็ก แล้วจอดเครื่องใหญ่ หรือใช้เครื่องใหญ่แล้วจอดเครื่องเล็ก รวมถึงว่าสายการบินจะจัดการกับเครื่องบินที่จอดขวางหลุมจอดอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิอย่างไร ฯลฯ

รายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการคาดการณ์ทั้งในฝั่งของซัพพลายและฝั่งของดีมานด์และการวางแผนการบริหารจัดการของ ทอท.ทั้งสิ้น

บริหารงานบนข้อสมมุติฐาน

“นิตินัย” บอกด้วยว่า การบริหารจัดการของ ทอท.ในวันนี้เป็นการบริหารที่อยู่บนข้อสมมุติฐานที่ว่าในฝั่งของซัพพลายนั้นสายการบินไหนจะล้มสายการบินไหนที่ยังคงอยู่ หรือแต่ละสายการบินน่าจะฟื้นกลับมาในสัดส่วนมากน้อยแค่ไหน เช่น คาดการณ์ว่าสายการบินหนึ่งมีเครื่อง 100 ลำ น่าจะจอด (ground) ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งกลับมาทำการบิน แต่หากถึงเวลาจริงเขายังกราวนด์อยู่ 80% ก็ยุ่งเหมือนกัน

หรือหากคาดการณ์ว่าเขาน่าจะจอดเครื่องลำใหญ่นำเครื่องเล็กกลับมาบินแต่ถึงเวลาจริงเขาจอดเครื่องเล็กก็ยุ่งอีกเหมือนกัน เพราะ ทอท.ต้องบริหารหลุมจอด และงวงช้าง เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการให้บริการใหม่ ๆ เพื่อทดแทนคู่สัญญาเดิมที่ไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้ด้วย เช่น กรณีของสนามบินภูเก็ตที่ตั้งบริษัท AOTGA ลงทุนในส่วนของคาร์โก้และบริการภาคพื้น (ground service) แทนการบินไทย เพราะการบินไทยเข้าแผนฟื้นฟูและหลุดจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ สัญญาที่ทำขึ้นก่อนหน้านี้จึงต้องยกเลิกไปตามระเบียบ

คาดใช้เวลาฟื้น 2 ปี

เช่นดียวกับฝั่งดีมานด์ซึ่งก็อยู่ในสถานการณ์ที่ยังคาดการณ์ยากอีกเช่นกันว่าจะกลับมาเมื่อไหร่ หลายคนบอกว่าจะมีดีมานด์ที่อั้นอยู่ทะลักเข้ามา ซึ่งก็มีความป็นไปได้ แต่ประเด็นคือ ซัพพลายก็มีข้อจำกัดอยู่ เพราะสายการบินที่เคยถือครองสลอตในช่วงเวลาดี ๆ อาจยังไม่กลับมาบินและไม่คลายสลอตออก

“เดิมกฎของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA จะมีกฎที่เรียกว่ากฎ 80 : 20 ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวปัจจุบันได้รับการยกเว้นอยู่ หากปีหน้า (2022) เริ่มบังคับใช้ สายการบินที่ทำการบินไม่ถึง 80% ต้องคืนสลอตการบินของปีถัดไป หรือ ปี 2023”

“นิตินัย” อธิบายด้วยว่า ด้วยข้อจำกัดนี้พอจะสรุปได้ว่าธุรกิจการบินและการท่องเที่ยวจะกลับมาสู่สภาพเดิม (resume) อีกครั้งในปี 2023 หรือในอีกราว 2 ปีข้างหน้า

เชื่อธุรกิจไม่ฟื้นเป็นตัว V

ที่สำคัญกฎกติกาทั้งหลายนี้ทำให้สายการบินใหม่ ๆ ที่อยากเปิดเส้นทางบินเข้าประเทศไทยก็ยังไม่สามารถทำได้ ยกเว้นสายการบินที่เป็นเจ้าของสลอตเดิมรักประเทศชาติยอมคลายสลอตออกและเปิดทางให้สายการบินใหม่เข้ามาทำการบินแทน

“ทอท.เองก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถจัดสลอตการบินภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันเองได้ ซึ่งนอกจากทำให้เราเสียโอกาสในการทำธุรกิจแล้ว ทอท.ก็ยังไม่สามารถที่จะปิดซ่อมบำรุงรันเวย์ได้ด้วย เพราะสลอตการบินยังคาอยู่ แม้ว่าจะไม่มีเครื่องมาลงก็ตาม อันนี้คืออีกปัญหา”

พร้อมย้ำว่า ความไม่ชัดเจนทั้งในฝั่งของซัพพลายและดีมานด์นี้ทำให้เชื่อว่าธุรกิจการบินของไทยจะไม่ฟื้นตัวเป็นรูปตัว V แน่นอน ส่วนจะเป็นตัว L หรือเป็นโลโก้ Nike ต้องลุ้นกัน

ยัน 6 สนามบินพร้อมรองรับ

เมื่อถามถึงความพร้อมสำหรับการกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งตามนโยบายเปิดประเทศ 120 วัน ของรัฐบาล “นิตินัย” บอกว่า สำหรับท่าอากาศยานภายใต้การบริหารของ ทอท.นั้นไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงเลย เนื่องจากสถานที่ อุปกรณ์ บุคลากร ฯลฯ มีความพร้อมและสามารถรองรับได้หมดอยู่แล้ว ผู้โดยสารในช่วงปี 2 ปีนี้ยังต่ำกว่า capacity หรือต่ำกว่าศักยภาพในการรองรับอยู่แล้ว

โดยที่ผ่านมา 6 สนามบินของ ทอท. คือ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต, หาดใหญ่ (สงขลา), เชียงใหม่ และแม่ฟ้าหลวง (เชียงราย) เคยรองรับผู้โดยสารได้ถึง 140 ล้านบาทต่อปีมาแล้วทั้ง ๆ ที่ capacity อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านคนต่อปี

หรือกรณีที่รัฐบาลจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” นั้น ขณะนี้ ทอท.ก็เตรียมความพร้อมจองสนามบินภูเก็ตรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว รวมถึงบริการด้านคาร์โก้และบริการภาคพื้น

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขเที่ยวบินระหว่างประเทศย้อนหลัง 3-4 เดือนของสนามบินภูเก็ตจะพบว่า ในเดือนมีนาคม มีจำนวน 66 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 109 คน เมษายน 55 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 225 คน พฤษภาคม 49 เที่ยวบิน 134 คน และมิถุนายน (ณ 13 มิ.ย.) 10 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 53 คน เฉลี่ยประมาณ 100-200 คนต่อเดือน

และในเดือนกรกฎาคมนี้ที่จะเปิด “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ขณะนี้มีเที่ยวบินระหว่างประเทศที่คอนเฟิร์มแล้วประมาณ 108-190 เที่ยวบิน ส่วนเดือนสิงหาคม-กันยายนนั้นยังไม่เห็นตัวเลขที่ชัดเจนแต่เชื่อว่าน่าจะมีอัตราใกล้เคียงกับเดือนกรกฎาคม

ตัวเลขดังกล่าวนี้ยังไม่ถือว่ามีนัยสำคัญนักต่อการฟื้นตัวของธุรกิจการบิน คงต้องมาดูว่า “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” จะจุดพลุให้ตารางบินฤดูหนาว หรือ winter schedule กลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้งได้หรือไม่