ทอท. เชื่อมนวัตกรรมเทคโนโลยี ต่อยอด “สนามบินมีชีวิต”

สนามบิน

นับตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมาบริษัทท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือ AOT ได้ลงทุนพัฒนา digital platform เพื่อให้สนามบินทั้ง 6 แห่งภายใต้การบริหารก้าวสู่ DIGITAL AIRPORTS หรือ “สนามบินมีชีวิต” นวัตกรรมที่เชื่อมโยงระบบ IT ทั้งหมดในสนามบิน เพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ผู้ใช้บริการ

นับเป็นการทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ “ดิจิทัล” เต็มรูปแบบ ทั้งในเชิงการบริหารการให้บริการ รวมถึงการสร้างรายได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจในอนาคต

“นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ให้ข้อมูลว่า แนวทางการนำเทคโนโลยีมาใช้ดังกล่าวนี้ นอกจากเป็นไดเร็กชั่นการทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัลแล้ว ยังสอดรับการบริหารในยุค new normal ลดคน ลดสัมผัส ตามมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขด้วย

โดยขณะนี้ ทอท.มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่มาสร้างโซลูชั่นในการให้บริการใหม่ ๆ หรือพัฒนาเป็น “โปรดักต์” ใหม่ ๆ เพื่อให้การให้บริการในทุกกระบวนการ ทุกขั้นตอน ภายในสนามบินมีประสิทธิภาพ คุณภาพ และอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร รวมทั้งการส่งเสริมกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของคู่ค้าทั้งภายในสนามบินและนอกสนามบินในรูปแบบ application บนสมาร์ทโฟน แท็บเลต

อาทิ การเช็กอินจากมือถือ การตรวจสอบข้อมูลเที่ยวบิน แผนที่ในอาคารผู้โดยสารพร้อม AI นำทาง บริการข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสนามบิน รายละเอียดของร้านค้าต่าง ๆ พร้อมโปรโมชั่น การแจ้งเตือนเที่ยวบินที่ให้ผู้โดยสาร ฯลฯ

“นิตินัย” บอกว่า ล่าสุดนี้ ได้พัฒนาระบบการสแกนบอร์ดิ้งพาสผ่านตู้คีออสก์ระบบจะลิงก์ไปที่ไอทีกลางของ AOT และรู้ว่าเราเดินทางสายการบินไหนจองตั๋วอีโคโนมีหรือบิสซิเนส จากนั้นสามารถไปที่สายพาน ซึ่งไม่ต้องใช้คนบริการ เมื่อวางกระเป๋าระบบจะแจ้งว่าได้น้ำหนักเท่าไหร่ ถ้าน้ำหนักเกินต้องเอาของออก หรือเสียบบัตรเครดิตจ่ายค่าส่วนเกิน แท็กกระเป๋าถึงจะออก

เมื่อเดินเข้าจุดตรวจผู้โดยสารเพื่อเข้าไปในแอร์ไซด์ เคาน์เตอร์จะมีระบบไอโอเมทริกซ์ สำหรับสแกนใบหน้าและตรวจยืนยันอัตลักษณ์บุคคล โดยลิงก์ฐานข้อมูลของรัฐ

“ตอนนี้เรากำลังจะให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิจำนวน 180 เคาน์เตอร์ ในเดือนกรกฎาคมนี้จากนั้นจะค่อย ๆ ทยอยติดตั้งสนามบินอื่น ๆ จนครบทั้ง 6 แห่งต่อไป”

ไม่เพียงเท่านี้ AOT ยังเดินหน้าพัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆ บนฐานเทคโนโลยีที่ลงทุนไปแล้ว และทยอยออกมาให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยทุกโซลูชั่นจะเชื่อมต่อกับคลังสมองใหญ่เพื่อให้สู่โลกของ IOT ทั้งหมด