ท่องเที่ยวภูเก็ตขอ 3 เดือน พิสูจน์ทฤษฎี ‘ภูเก็ตแซนด์บอกซ์’

ภูมิศักดิ์ รักแต่งาม
ภูมิศักดิ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ต
สัมภาษณ์

ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” 1 กรกฎาคม 2564 โมเดลเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่กักตัว หลังจากเผชิญวิกฤตโควิดกันมากว่า 1 ปีครึ่ง

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “คุณโก้-ภูมิศักดิ์ รักแต่งาม” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ต ถึงแนวทางการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้นว่ากว่า “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” จะเดินมาถึงวันนี้ ภาคการท่องเที่ยวภูเก็ตต้องเผชิญกับอะไรบ้าง และความคาดหวังนับจากนี้จะเป็นอย่างไร ไว้ดังนี้

ปี’62 รายได้ 4.7 แสนล้าน

“ภูมิศักดิ์” เริ่มต้นให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงปกติปี 2562 ภูเก็ตมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวราว 4.7 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวรวมประมาณ 14 ล้านคน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 10 ล้านคน และนักท่องเที่ยวคนไทยราว 4 ล้านคน

โดยในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น นักท่องเที่ยวจีนครองส่วนแบ่งสูงที่สุดที่ราว 3 ล้านคน รองลงมาคือ รัสเซีย ราว 8 แสนคน หากดูจากตัวเลขนี้จะพบว่า “คนไทย” เป็น กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของภูเก็ต

เบื้องหลัง “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์”

สำหรับปี 2563 นั้น ภูเก็ตได้นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนมกราคมเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น ขณะที่ยังพอมีนักท่องเที่ยวคนไทยเข้ามาเยือนเกือบ 3 ล้านคน ก็พอที่จะทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนได้หายใจหายคอ และมีกำลังใจบ้างแต่ก็ไม่เพียงพอ

เนื่องจาก 95% ของจังหวัดภูเก็ตพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยว ทำให้ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวพยายามคิดกันตลอดเวลาเพื่อหาช่องทางทำให้การเดินทางท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง

ขณะที่พันธมิตรและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ทั่วโลกก็อยากกลับมาเยือนภูเก็ต ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดภายในประเทศยังรุนแรงต่อเนื่อง ความคิดในการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแทบจะปิดประตูตาย

“ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” จึงเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ถ้าต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีนแล้ว และคนในพื้นที่ภูเก็ตได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเช่นกันก็น่าจะเป็นช่องทางเดียวที่ทำให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัยทั้ง 2 ฝ่าย

วันแรกทั้งดีใจ-โกลาหล-เครียด

“ภูมิศักดิ์” บอกด้วยว่า วันแรกที่เปิด “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” นั้น คนท่องเที่ยวภูเก็ตมีหลากหลายอารมณ์มาก อารมณ์แรกที่เกิดขึ้นคือทุกคนดีใจที่เห็นเครื่องบินไฟลต์แรกแตะรันเวย์ และเมื่อนักท่องเที่ยวเดินเข้าสนามบิน หลายคนร้องไห้ดีใจ เหมือนว่าพวกเรารอวันนี้มานานมาก และในที่สุดพวกเราก็ได้กลับมาทำในสิ่งที่รักที่สุดในชีวิตอีกครั้ง

อีกอารมณ์ในช่วงสาย ๆ ของวัน คือ ความโกลาหลที่เกิด เนื่องจากรูปแบบการทำงานทั้งหมดมันเป็นสิ่งใหม่ ปัญหาหลาย ๆ เรื่องก็เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครคาดคิด และ 3 คืออารมณ์เครียด เพราะรอลุ้นผลตรวจ swab

เรียกว่า ตอนเช้าจะเป็นอารมณ์ดีใจ ตอนสายจะโกลาหลมาก และเครียดหนักมากในช่วงเย็น

“ทุกเรื่องเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ให้กำลังใจในการเปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์ หลายคนก็เครียดไปกับเรา ทุกคนเข้าใจความจำเป็น แต่พอผล swab test ผ่านหมดทุกคนโล่งใจ”

สำหรับวันที่ 2 ยอมรับว่าความรู้สึกโกลาหลยังพอมีอยู่บ้าง แต่ก็เริ่มชัดเจน เข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น พยายามปิดจุดอ่อนหรือปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวัน จึงมั่นใจว่าทุกอย่างจะเป็นระบบมากขึ้นในวันต่อ ๆ ไป

ห่วง 3 ปัจจัยเสี่ยง

นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตบอกด้วยว่า วันนี้ถือว่าภูเก็ตสามารถแจ้งเกิดโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ไปเรียบร้อยแล้ว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจริง จำนวนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 400-500 คนต่อวัน โดยทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาตั้งแต่วันแรกมีผลการตรวจเชื้อโควิด (RT-PCR) เป็นลบทั้งหมด

ถือว่าภูเก็ตแซนด์บอกซ์สอบผ่านและตอบโจทย์การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตามเป้าหมายของโครงการ

แต่ก็ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงอยู่ 3 เรื่องหลัก ๆ คือ

1.วันนี้ต่างประเทศมองประเทศไทยเป็นประเทศความเสี่ยงสูง และหากสถานการณ์การติดเชื้อในภาพรวมยังอยู่ในระดับ 5,000-6,000 คนต่อวัน จึงมีโอกาสสูงที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ จะกำหนดเงื่อนไขการเดินทางมาประเทศไทยยากขึ้น รวมถึงมีโอกาสเพิ่มเงื่อนไขสำหรับคนที่เดินทางออกจากประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน

2.ความกังวลและความเชื่อมั่นต่อวัคซีนที่ได้รับว่าจะไม่ป้องกันกรณีการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิดที่รุนแรงขึ้น และ 3.ทำอย่างไรให้ภูเก็ตแซนด์บอกซ์แข็งแรง และสามารถเป็นต้นแบบที่ดีให้กับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป เพราะถ้าภูเก็ตสำเร็จและรอด พื้นที่อื่นก็น่าจะนำไปใช้ และรอดด้วยเช่นกัน

ขอ 3 เดือนพิสูจน์ทฤษฎี

ต่อคำถามที่ว่า คาดหวังกับ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” มากน้อยแค่ไหน “ภูมิศักดิ์” บอกว่า ในช่วงเวลาปกติที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากภาคการท่องเที่ยวของภูเก็ตก็ไม่ได้เยอะมากอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซั่น

แต่สำหรับโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ทุกคนมองว่าเป็นโครงการนำร่อง และเป็นรูปแบบการเปิดรับนักท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ และเป็นความหวัง เพราะในช่วงที่ผ่านหากมองผ่านแววตาคนท่องเที่ยวจะรู้สึกได้ถึงความสิ้นหวัง แต่พอมีโมเดลแซนด์บอกซ์ขึ้นมา มันทำให้แววตาของพวกเรากลับมามีความหวังอีกครั้ง

โจทย์หลักของโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ในช่วงต้น หรือในช่วง 3 เดือนแรกนี้ (กรกฎาคม-กันยายน) จึงเป็นเรื่องของความหวังของกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ต้องมั่นใจว่าภูเก็ตเดินมาในทางที่ถูกต้อง และเห็นผลตอบรับในทิศทางที่ดีขึ้นในทุก ๆ วัน

“เราขอใช้เวลาในช่วง 3 เดือนนี้พิสูจน์ทฤษฎีภูเก็ตแซนด์บอกซ์ว่าโมเดลแซนด์บอกซ์ทำได้จริงหรือไม่ยังไม่หวังเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวและตัวเลขรายได้” ภูมิศักดิ์ย้ำ

ตั้งเป้า Q4 รายได้ 5.6 หมื่นล้าน

สำหรับในส่วนของเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้นั้น “ภูมิศักดิ์” ประเมินว่า เดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์น่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 15,000 คน หรือประมาณ 50% ของเป้าที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งไว้ และเพิ่มเป็นเดือนละประมาณ 30,000 คนในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน

และคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของภาคการท่องเที่ยวภูเก็ต โดยตั้งเป้ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้จ่ายเฉลี่ย ในช่วงไตรมาสสุดท้าย รวมที่ประมาณ 2.8 แสนคน สร้างรายได้ราว 5.6 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มองว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ในอนาคตมี 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ 1.การรักษาภูมิคุ้มกันให้อยู่ในอัตราส่วน 70 : 30 ให้ได้

และ 2.การบริหารภูเก็ตแซนด์บอกซ์ให้แข็งแรงในอนาคตให้ได้ เพราะ “แซนด์บอกซ์” เป็นการทลายกรอบความคิดเดิม ๆ การบริหารจัดการจึงจำเป็นต้องอาศัยภาคราชการและเอกชนทุกส่วนร่วมมือกันอย่างแท้จริง

โดยเชื่อมั่นว่า ภายใน 3 เดือนนี้จะมีคำตอบที่ชัดเจนว่า โมเดล “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ที่เปิดตัวไปแล้วนั้นสำเร็จ และจะเดินหน้าต่อได้อย่างไร…