เร่งบูม “ไทยเที่ยวไทย” โรงแรมใหญ่-Workcation มาแรง

โรงแรม

ยืนยันชัดเจนแล้วว่าเป้าหมายแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติสำหรับปีนี้จะมีทั้งหมด 9 จังหวัดหลัก ๆ คือ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ซึ่งทยอยเปิดไปแล้วในเฟสแรกตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา และเฟส 2 อีก 5 จังหวัด

โดยมี 4 จังหวัดเปิด 1 ตุลาคมนี้ คือ ชลบุรี (พัทยา) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) เพชรบุรี (ชะอำ) เชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริม และดอยเต่า) และอีก 1 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ จะเปิดในวันที่ 15 ตุลาคมนี้

เฟส 3 บูม “ไทยเที่ยวไทย”

“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ บอกว่า สำหรับแผนการเปิดจังหวัดท่องเที่ยวในเฟส 3 ที่ประกอบด้วย 25 จังหวัดครอบคลุมทุกภาคของประเทศในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ เป้าหมายคือเพื่อรองรับและกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือ “ไทยเที่ยวไทย” เป็นหลัก

ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ ลำพูน แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย สุโขทัย ภาคอีสาน ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ อุบลราชธานี ขอนแก่น นครราชสีมา เลย (เชียงคาน)

ภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง (เกาะเสม็ด) จันทบุรี ตราด (เกาะกูด) ภาคกลาง คือ พระนครศรีอยุธยา และภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช ระนอง ตรัง สตูล สงขลา พัทลุง

พร้อมระบุว่า รายละเอียดการเปิดและไทม์ไลน์ทั้งหมดนี้จะถูกนำเสนอเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่ ในสัปดาห์หน้านี้

เปิด 2 โครงการใหญ่ 24 ก.ย.นี้

โดยล่าสุด “พิพัฒน์” ยืนยันแล้วว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมเดินหน้ากระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศผ่าน 2 โครงการใหญ่ที่รออยู่ คือ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”
 เฟส 3 โดยรัฐสนับสนุนค่าโรงแรม 40% คูปองอาหาร 600 บาทต่อคืน และสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 40% จำนวน 2 ล้านสิทธิ์ (room night)

และโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” หรือเที่ยวผ่านทัวร์ รัฐสนับสนุนค่าแพ็กเกจทัวร์สูงสุด 5,000 บาท จำนวน 1 ล้านสิทธิ์ โดยเตรียมเปิดให้คนไทยเข้าจองสิทธิ์ทั้ง 2 โครงการ ในวันที่ 24 กันยายนนี้ และให้ใช้สิทธิเดินทางได้ตั้งแต่ 15 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป จนกระทั่งสิ้นสุดปี 2564

“ทั้ง 2 โครงการใหญ่จะเปิดให้เดินทางพร้อมกับแผนการเปิดประเทศในสเต็ป 3 ที่ครอบคลุมทั่วประเทศในวันที่ 15 ตุลาคม เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยให้เกิดความมั่นใจในการเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง และทำให้วันที่ 16 ตุลาคมนี้ตอบโจทย์การเปิดประเทศ 120 วันของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่างเป็นรูปธรรมด้วย”

ยอดจอง รร.เชนใหญ่มาแรง

“แบรดลีย์ ไฮนส์” รองประธานฝ่ายภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิก ของไซต์ไมนเดอร์ (SiteMinder) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มตัวกลางในการเข้าถึงลูกค้าให้กับธุรกิจโรงแรมใน 160 ประเทศทั่วโลกให้ข้อมูลว่า สำหรับประเทศไทยนั้นจากข้อมูล World Hotel Index ของ SiteMinder ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า เริ่มเห็นสัญญาณการเดินทางท่องเที่ยวจากแนวโน้มการจองโรงแรมที่พักที่เพิ่มขึ้นแล้ว นับตั้งแต่รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการการเดินทาง

นอกจากนี้ยังพบว่าเกือบ 80% ของยอดการจองในเดือนกันยายนนี้มาจากนักท่องเที่ยวในประเทศ จึงเชื่อว่าการผ่อนปรนมาตรการในประเทศจะยิ่งส่งผลดีเชิงบวกต่อธุรกิจตลอดช่วงครึ่งปีหลังนี้

โดยน่าจะเห็นทิศทางที่ดีชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลเดินหน้าโครงการกระตุ้นการเดินทางภายในประเทศและก็น่าจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การท่องเที่ยวภายในประเทศจะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวของประเทศไทยสำหรับปีนี้

“แบรดลีย์” บอกด้วยว่า ถ้าเทียบจากปี 2562 หรือ 2 ปีก่อนพบว่า ปัจจุบันปริมาณการจองสถานที่ในประเทศไทยนั้น หัวหินมีความโดดเด่นสูงสุด โดยมีอัตราที่เพิ่มขึ้นถึง 102.99% รองลงมาคือ เกาะช้าง เพิ่มขึ้น 37.45% พัทยา เพิ่มขึ้น 29.95% เกาะสมุย เพิ่มขึ้น 19.13% ภูเก็ต เพิ่มขึ้น 18.73% กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 13.96% เช่นเดียวกับเชียงใหม่ ที่เพิ่มขึ้น 13.12%

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิดพบว่า ความนิยมการจองโรงแรมปัจจุบันอยู่ในทิศทางเดียวกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด โดยเครือโรงแรมขนาดใหญ่และรีสอร์ตเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมสูงสุดที่ประมาณ 27.50% รองลงมา คือ โฮสเทล และที่พักราคาประหยัด 21.27% โรงแรมหรูบูทีค (โรงแรมหรู) 13.40% (ดูกราฟิกประกอบ)

จองโรงแรม

Workcation ติดเทรนด์ฮิต

สำหรับพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวนั้น “แบรดลีย์” บอกว่า สำหรับระดับราคาหรือแพ็กเกจที่ได้รับความนิยมของนักเดินทางที่เริ่มกลับมาบุ๊กกิ้งนั้น ส่วนใหญ่จะมองหาแพ็กเกจที่รวมทุกอย่างไว้ (all-inclusive) เช่น ทัวร์ สปา ร้านอาหาร ฯลฯ

นอกจากนี้ จากนโยบาย WFH หรือการทำงานที่บ้าน ทำให้กระแสของการทำงานไปด้วย ท่องเที่ยวไปด้วย หรือ workcation ยังคงได้รับความนิยมสูงต่อเนื่อง โดยพบว่ามากกว่าครึ่งของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีแผนการเดินทางท่องเที่ยวนั้นมีการวางแผนจะทำงานไปด้วยระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่มีความตั้งใจแน่นอน (19.74%) และกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะทำ (31.26%)

โดยปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจจองโรงแรมที่พักนั้น อันดับ 1 คือ ความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ตามด้วยการลดการสัมผัส การเว้นระยะห่าง และความคุ้มค่าคุ้มราคา

“ไทยเที่ยวไทย” แนวโน้มดี

“เจนจิต ลัดพลี” ผู้อำนวยการการตลาดเพื่อการท่องเที่ยวและสันทนาการ “เคทีซี” หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า นับตั้งแต่เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดีมานด์ของการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยเริ่มจะกลับมาอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับผู้ประกอบการ ทั้งโรงแรม สายการบิน รถเช่า ฯลฯ เริ่มทยอยกลับมาเข้าสู่แพลตฟอร์มการขายของ KTC เพิ่มขึ้น

โดยโลเกชั่นที่นักเดินทางให้ความสนใจส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีจำนวนคนไม่มาก สามารถเว้นระยะห่างได้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในรูปแบบที่เป็นพื้นที่กลางแจ้ง อาทิ ลานกางเต็นท์ท่องเที่ยวในสไตล์ธรรมชาติ รวมถึงการท่องเที่ยวแบบ unseen

นอกจากนี้ยังพบว่า โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นนักท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย สามารถออกเดินทางได้ทันทีหลังสถานการณ์ผ่อนคลาย

โดยรูปแบบการท่องเที่ยวจะมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ทุกคนจะมีความระมัดระวังในการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น การท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปจะมีขนาดเล็กลงต้องการบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยการท่องเที่ยวในประเทศจะเป็นกลุ่มที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ก่อนเป็นลำดับแรก

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น จะทำให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวทันที เนื่องจากมีดีมานด์อยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นนักท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย

จากแนวโน้มดังกล่าวนี้ นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือ “ไทยเที่ยวไทย” ที่จะกลับมาก่อน และเป็นตัวสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศสำหรับปีนี้