นกแอร์คาด 3 เดือน บิน “ดอนเมือง-เบตง” ขาดทุน 40 ล้าน ยันสู้ไม่ถอยขอทำการบินต่อแม้ยังขาดทุน ดันแคมเปญ “#เบตง หรอยแรง แหล่งใต้ สไตล์นกแอร์” หวังดึงอินฟลูฯ ดึงนักท่องเที่ยวเข้าเบตง
วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ช่วง 3 วันที่ผ่านมาสื่อหลายสำนักรายงานไปในทิศทางเดียวกันโดยระบุว่า สายการบินนกแอร์ประเมินเส้นทางบินดอนเมือง – เบตง อยู่ในสถานะสีแดง หรือมีการขาดทุน และคาดว่าตลอดระยะเวลา 3 เดือนของการให้บริการเส้นทางดังกล่าว สายการบินจะมีผลการดำเนินงานขาดทุนสูงถึง 40 ล้านบาทนั้น
ล่าสุด สายการบินนกแอร์ออกรายงานชี้แจ้งโดยมีข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า “นกแอร์ยังคงทำการบินเส้นทางดังกล่าวในระยะยาวต่อไป แม้เส้นทางฯ จะยังไม่ทำกำไร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และจังหวัดใกล้เคียง
โดยตั้งแต่ที่ทำการเปิดบินไปเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 ให้บริการ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ มียอดขนส่งผู้โดยสารรวมกว่า 1,700 คน ทั้งนี้ นกแอร์ขอขอบคุณกระทรวงการท่องเที่ยวที่ให้การสนับสนุนอย่างดี อาทิ การจัดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว Amazean Jungle Trail และนกแอร์จะมีการหารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มความสามารถ รวมถึงยกระดับเส้นทางดังกล่าวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ
รายงานระบุต่อไปว่า ด้วยการสนับสนุนที่ดีหน่วยงานต่าง ๆ จะทำให้เส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) – เบตง ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดี และนกแอร์คาดหวังว่าจะสามารถทำการบินต่อไปในระยะยาวได้
สายการบินนกแอร์ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.), ซีซีที กรุ๊ป จัดแคมเปญส่งเสริมการขาย ภายใต้ชื่อ “#เบตง หรอยแรง แหล่งใต้ สไตล์นกแอร์” ได้มีการจัดทริปเชิญสื่อมวลชน และอินฟลูเอนเซอร์ สัมผัสมนต์เสน่ห์เมืองเบตง เพื่อร่วมกันประชาสัมพันธ์เส้นทางดังกล่าว
นกแอร์เชื่อมั่นว่า ความสวยงามของบ้านเมือง ศิลปะวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา จะเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยากเดินทางไปสัมผัสด้วยตนเอง โดยนกแอร์ให้บริการบินตรงเส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) – เบตง ทุกวันอังคาร, ศุกร์ และอาทิตย์ ด้วยเครื่องบิน Q400 NextGen”
นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ เปิดเผยเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า เส้นทางบิน ดอนเมือง-เบตงนั้น มีความท้าทายต่อการทำการบิน โดยเครื่องบินไม่สามารถเติมน้ำมัน ณ สนามบินปลายทางได้ ทำให้ต้องเติมน้ำมันเผื่อเดินทางกลับเมื่อออกจากกรุงเทพฯ ทำให้ในแต่ละเที่ยวบินไม่สามารถจุผู้โดยสารได้เต็มทุกที่ และอาจบรรทุกผู้โดยสารได้ราว 70-80 ที่นั่ง ขึ้นอยู่กับทิศทางของลมในแต่ละวัน
ด้านนายธีรพล โชติชนาภิบาล ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ขนาดของทางวิ่ง (runway) และทางขับ (taxiway) ของท่าอากาศยานเบตง รองรับได้เฉพาะเครื่องบินลำเล็ก (ATR-72/Q400) จำนวน 80-86 ที่นั่ง ขณะที่ระยะทางการบินค่อนข้างไกลและมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูง ทำให้ราคาบัตรโดยสารต่อเที่ยวปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย