เทรนด์ท่องเที่ยวเรือยอชต์บูม ฟื้นงาน “ยอชต์โชว์” หนุนไทยขึ้นฮับเอเชีย

เรือยอชต์

“เวอร์เวนเทีย” เผยท่องเที่ยวเรือยอชต์แนวโน้มเติบโตสูง ฟื้นจัดงาน Yacht Show พัทยา-ภูเก็ต ดันไทยขึ้นศูนย์กลางเรือยอชต์ภูมิภาคเอเชียกระตุ้นนักท่องเที่ยวทั่วโลกล่องเรือมาตลอดทั้งปี ตั้งเป้าดึงซูเปอร์ยอชต์สู่เอเชียมากกว่า 200 ลำภายในปี’69 สร้างเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเรือยอชต์ 1 ลำ กระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประเทศโดยตรง

นายแอนดี้ เทรดเวลล์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวอร์เวนเทีย จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจการจัดงานกิจกรรมและงานแสดงเรือยอชต์ เปิดเผยว่า หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทั่วโลก ทำให้พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกเปลี่ยนไป สนใจการท่องเที่ยวโดยเรือยอชต์เพิ่มมากขึ้น ทำให้เชื่อว่านับจากนี้เป็นต้นไปตลาดท่องเที่ยวโดยเรือยอชต์จะเติบโตอย่างชัดเจนและเร็ว

โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดราว 30% ขณะที่มีปริมาณของเรือยอชต์แค่ประมาณ 1% ของตลาดรวมเท่านั้น จึงมองว่าตลาดดังกล่าวมีศักยภาพในการเติบโตที่สูงมากเมื่อเทียบกับตลาดในโซนยุโรป อเมริกาที่การท่องเที่ยวโดยเรือยอชต์เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายแล้ว

จัด Yacht Show พัทยา-ภูเก็ต

เช่นเดียวกับตลาดเรือยอชต์ในประเทศไทย ที่มองว่าจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมากในทุกมิติเช่นกัน ตั้งแต่การเช่าเหมาลำเรือซูเปอร์ยอชต์ การเดินทางท่องเที่ยวแบบวันเดียวไปกลับ รวมถึงการฝึกแล่นเรือใบและเพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยเรือยอชต์ในประเทศไทย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในบริเวณอ่าวไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม บริษัทมีแผนจัดงาน Thailand Yacht Show 2022 ซึ่งครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 6 ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้มีการจัดงานขึ้น 2 ครั้งในปีนี้

ประกอบด้วย 1.Thailand Yacht Show 2022 พัทยา ระหว่าง 9-12 มิถุนายน 2565 ณ โอเชี่ยน มารีน่า ยอช์ท คลับ พัทยา ท่าเรือยอชต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย และ 2.Thailand Yacht Show 2022 ภูเก็ต ในช่วงปลายปีที่จังหวัดภูเก็ต

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเรางดการจัดงานแสดงเรือยอชต์ที่มีมาอย่างยาวนานในประเทศไทยและสิงคโปร์ ซึ่งทั้ง 2 งานนั้นเป็นงานที่ทั้งผู้ที่ชื่นชอบการแล่นเรือยอชต์และในส่วนของภาคธุรกิจต่างรอคอย ซึ่งปีนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ,โอเชี่ยน มารีน่า ยอช์ท คลับ, โรงแรมเรเนซองส์ พัทยา รีสอร์ท แอนด์ สปา ฯลฯ” นายเทรดเวลล์กล่าว

หนุนไทยศูนย์กลางภูมิภาคเอเชีย

สำหรับการจัดงานในปีนี้จำนวนแบรนด์ที่เข้าร่วมงานอาจจะยังไม่มากนัก เนื่องจากผลกระทบของโควิดทำให้บริษัทต่าง ๆ ประสบปัญหาด้านซัพพลายด้านการผลิตสินค้ารุ่นใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด ทำให้ใช้พื้นที่จัดงานเล็กลงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์ที่ทำให้เชื่อว่าธุรกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น จึงเชื่อว่าตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปขนาดพื้นที่การจัดงานจะขยายตัวใหญ่ขึ้นทุกปี

สำหรับแบรนด์ที่เข้าร่วมในปีนี้ยังเป็นแบรนด์ขนาดใหญ่ ประกอบด้วย Asia Marine แบรนด์จากสวีเดน Nimbus T11, Max Marine Asia, Motorium (COX ด้วยระบบขับเคลื่อนเครื่องยนต์ดีเซลแบบ outboard engine ลำแรกของโลก), Princess Yachts, Simpson Marine และ V Yachts Asia

“การจัดงานยอชต์โชว์ในประเทศนับเป็นโอกาสที่ดีที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดรายได้เข้าประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเรือยอชต์ในช่วงฤดูหนาวของยุโรปที่จะถึงนี้ และทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางของการท่องเที่ยวโดยเรือยอชต์ของภูมิภาคอีกด้วย”

ปรับระบบภาษีดึงกลุ่มใช้จ่ายสูง

นายเทรดเวลล์กล่าวด้วยว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาเวอร์เวนเทียเป็นบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเรือยอชต์ในเอเชียและประเทศไทยอย่างมาก โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้อนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎข้อบังคับเกี่ยวกับใบอนุญาตการเช่าเหมาลำซูเปอร์ยอชต์ และอนุญาตให้ซูเปอร์ยอชต์ต่างชาติเกือบทั้งหมดสามารถเช่าเหมาลำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนกฎระเบียบด้านภาษีจากที่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากมูลค่าของเรือยอชต์เป็นจ่ายเพียงภาษีรายได้จากค่าเช่าเรือยอชต์เท่านั้น โดยใบอนุญาตภายใต้กฎข้อบังคับใหม่นี้ได้ออกให้กับบริษัทเวอร์เวนเทียในนามซูเปอร์ยอชต์ต่างชาติ ซึ่งจะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยตลอดฤดูหนาวหน้า

โดยคาดว่านักท่องเที่ยวกลุ่มใช้จ่ายสูง (UHNWI) หลายหมื่นคนที่จะเดินทางมากับเรือซูเปอร์ยอชต์จากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และตะวันออกกลาง กำลังมองหาจุดหมายปลายทางใหม่สำหรับการล่องเรือยอชต์ช่วงวันหยุดในฤดูหนาว เพื่อเป็นทางเลือกแทนการล่องเรือในแถบแคริบเบียน

ผนึกซาอุฯ พัฒนาเส้นทาง

ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลซาอุดีอาระเบียในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา โดยเป็นผู้ให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์ในการจัดทำโครงการท่องเที่ยวทางเรือยอชต์ในบริเวณพื้นที่ใกล้กับทะเลแดงที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการล่องเรือยอชต์ส่วนใหญ่ที่ต้องการเดินทางไปยังเอเชียในช่วงฤดูหนาวจะต้องผ่านทะเลแดง

โดย Jeddah Yacht Club & Marina (ซาอุดีอาระเบีย) แห่งใหม่ ซึ่งเป็นจุดแวะพักระหว่างการเดินทาง และเป็นจุดหมายปลายทางระดับเฟิร์สต์คลาส อีกทั้งความเข้าใจอันดีทางการเมืองระหว่างประเทศ (entente Ccordiale) ที่เกิดขึ้นใหม่ระหว่างซาอุดีอาระเบียและไทยในงาน Amazing Thailand Roadshow ที่ซาอุดีอาระเบียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

และงาน Saudi-Thai Investment Forum ที่ทั้ง 2 งานต่างต้องการดึงดูดกลุ่มคนระดับ UHNWI ที่ร่วมกันสร้างชุมชนเจ้าของซูเปอร์ยอชต์ และการเช่าเหมาลำนำมาซึ่งโอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทวิภาคีของ “The spice route” (เมดิเตอร์เรเนียน-ทะเลแดง-มหาสมุทรอินเดีย-ทะเลอันดามัน-อ่าวไทย)

“ที่ผ่านมาประเทศไทยต้อนรับเรือซูเปอร์ยอชต์น้อยกว่า 1% ต่อปีของจำนวนซูเปอร์ยอชต์ทั่วโลก แต่ปัจจุบันได้อยู่ในฐานะที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวของกลุ่มการท่องเที่ยวแบบหรูหรานี้ได้ ซึ่งกลายเป็นตลาดที่เติบโตหลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีการเติบโตเร็วที่สุดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” นายเทรดเวลล์กล่าว และว่า

การเติบโตของตลาดซูเปอร์ยอชต์ทั่วโลกในอนาคตจะมาจากภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ใกล้กับพัทยาและอ่าวไทย

ดึงเรือยอชต์เข้า 200 ลำในปี’69

ทั้งนี้ คาดว่าจะดึงดูดซูเปอร์ยอชต์เข้ามาในภูมิภาคดังกล่าวนี้มากกว่า 200 ลำภายในปี 2569 ซึ่งจะสามารถสร้างเม็ดเงินอย่างน้อย 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเรือยอชต์ 1 ลำ กระจายเข้าสู่เศรษฐกิจในประเทศโดยตรงและเป็นเพียงจุดเริ่มต้น หากเรือยอชต์สามารถอยู่ได้ตลอดทั้งฤดูกาล เรือแต่ละลำจะใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ไม่นับการใช้จ่ายของแขกผู้เช่าเหมาลำ)


ทั้งนี้ เรือซูเปอร์ยอชต์ (คือเรือที่มีความยาวมากกว่า 30 เมตรขึ้นไป) ปัจจุบันประกอบด้วยเรือยอชต์ประมาณ 5,600 ลำ โดยเรือยอชต์ขนาดใหญ่กว่า 70-90 เมตร มีอัตราการเติบโตสูงสุดตามสัดส่วนของจำนวนเศรษฐีที่ร่ำรวยระดับโลกที่เพิ่มขึ้น ส่วนตลาดเช่าเหมาลำเรือยอชต์ทั่วโลกมีมูลค่า 10,910 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 และคาดว่าจะเติบโตที่อัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ 25.6% ตั้งแต่ปี 2563-2571