“ไทยไลอ้อนแอร์” โฟกัสบินในประเทศ โอดน้ำมันพุ่ง-วอนรัฐช่วยดูแล

นันทพร โกมลสิทธิ์เวช
สัมภาษณ์พิเศษ

“ไทยไลอ้อนแอร์” หนึ่งในสายการบินโลว์คอสต์ที่มาแรงมากในช่วงก่อนวิกฤตโควิด ไต่ระดับส่วนแบ่งการตลาดขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2-3 มาตลอดในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่เปิดให้บริการในเมืองไทย ด้วยฝูงบินกว่า 30 ลำ ให้บริการผู้โดยสารกว่า 10 ล้านคนต่อปี โดยมีเส้นทางบินภายในประเทศและเส้นทางสู่จีนสร้างรายได้หลัก

แต่ประเด็นที่น่าจับตา คือ “ไทยไลอ้อนแอร์” เป็นสายการบินที่แบกตัวเลข “ขาดทุน” จำนวนมากนับตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อปลายปี 2556 ซึ่งประเด็นนี้ผู้บริหารยืนยันมาตลอดว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะเป็นเรื่องปกติสำหรับการลงทุน ซึ่งเป็นช่วงของการขยายธุรกิจ

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นันทพร โกมลสิทธิ์เวช” ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ถึงนโยบายทิศทางการทำการตลาด รวมถึงมุมมองต่อธุรกิจการบินหลังจากที่รัฐบาลไทยประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบไว้ดังนี้

คาด มิ.ย.การเดินทางใน ปท.ลด

“นันทพร” บอกว่า หลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยในส่วนของ “ไทยไลอ้อนแอร์” นั้นเห็นแนวโน้มของปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

สำหรับเดือนมิถุนายนนี้ประเมินว่าตลาดผู้โดยสารในประเทศยังมีแนวโน้มออกเดินทางอยู่ แต่อาจเห็นจำนวนผู้โดยสารเริ่มลดลงบ้างเล็กน้อย เนื่องจากสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายใต้โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 4 เมื่อ 31 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา รวมถึงเริ่มเข้าสู่โลว์ซีซั่นของการเดินทางท่องเที่ยว

“เดิมคิดว่าแนวโน้มการเดินทางภายในประเทศเริ่มจะชะลอตัวในเดือนพฤษภาคม แต่ก็ไม่ชะลออย่างที่คิด อาจเพราะมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่าง ๆ สิ้นสุดเดือนพฤษภาคม ทำให้นักท่องเที่ยวรีบออกเดินทางเพื่อใช้สิทธิจากมาตรการดังกล่าว”

จับตา “น้ำมัน” ปัจจัยลบ

“นันทพร” บอกด้วยว่า สำหรับธุรกิจการบินของไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ยังมีปัจจัยบวกสำคัญจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ค่อย ๆ คลี่คลาย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ กลุ่มเยี่ยมญาติ ให้กลับมาเดินทางอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบที่ต้องจับตาเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้นทุนการปฏิบัติการบินสูงขึ้น รวมไปถึงการที่เข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่นของภาคการท่องเที่ยวที่ต้องปรับตารางเที่ยวบินในแต่ละจุดหมายปลายทางให้เหมาะสม

โดยปัจจุบันราคาน้ำมันมีสัดส่วนสูงถึง 40% ของต้นทุน จากเดิมที่อยู่ในระดับประมาณ 30% แต่เมื่อพิจารณาจากบัตรโดยสารแล้วราคาไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก

“เมื่อราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง ทำให้สายการบินต้องมีการวางกลยุทธ์การแข่งขันให้รอบคอบ การแข่งขันจึงไม่ดุเดือดนัก รวมถึงต้องหาพาร์ตเนอร์ที่ดีในการทำการตลาด”

สำหรับไทยไลอ้อนแอร์จะเน้นจัดกิจกรรมทางการตลาดระยะสั้นเพื่อกระตุ้นการเดินทาง ขณะเดียวกัน จะเสนอราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนและไม่ทำให้เจ็บตัว เนื่องจากสายการบินมีต้นทุนที่ต้องแบกรับในช่วงโควิด-19 มาหลายปี ซึ่งเชื่อว่าทุกสายการบินน่าจะคิดคล้ายกัน เพราะสายการบินได้รับผลกระทบหนักมานานกว่า 2 ปี

เร่งขยายเส้นทางระหว่าง ปท.

สำหรับในภาพรวมนั้น “นันทพร” ประเมินว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้สายการบินในประเทศไทยจะขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศมากขึ้น โดยเลือกเส้นทางที่มีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้า-ออก โดยคำนึงถึงทั้งในด้านดีมานด์จากฝั่งผู้โดยสารและระมัดระวังเรื่องราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับตลาดการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากสายการบินสามารถประสานงานด้านมาตรการการเดินทางกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสามารถทำการตลาดได้ง่ายและราคาบัตรโดยสารไม่สูงมากนัก

“ตอนนี้นอกจากเส้นทางบินในภูมิภาคอาเซียนแล้ว หลายสายการบินยังจับตาการผ่อนคลายมาตรการเข้า-ออกพรมแดนของญี่ปุ่น ซึ่งเชื่อว่าจะเห็นการผ่อนคลายมาตรการตามลำดับ และจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปญี่ปุ่นมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4”

โฟกัสเส้นทางบินในประเทศ

“นันทพร” บอกอีกว่า สำหรับไทยไลอ้อนแอร์นั้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ยังคงให้ความสำคัญกับตลาดการเดินทางในประเทศเป็นหลัก โดยปัจจุบันสายการบินได้เปิดบินเส้นทางบินในประเทศครบทุกจุดบินแล้ว รวมถึงมีการเปิดเส้นทางบินใหม่ คือ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-น่าน เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังเตรียมพิจารณาเพิ่มความถี่เที่ยวบิน โดยพิจารณาจากช่วงเวลาและปัจจัยอื่นประกอบ ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาไทยไลอ้อนแอร์มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 80% และเส้นทางที่มีอัตราบรรทุกเฉลี่ยสูง เป็นเส้นทางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อุดรธานี อุบลราชธานี เป็นต้น

ขณะที่เส้นทางบินระหว่างประเทศนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาเปิดเพิ่ม หลังจากที่เปิดเส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-จาการ์ตา (อินโดนีเซีย) ไปแล้ว ปัจจุบันมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 75-80% โดยส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารขาเข้า และล่าสุดเตรียมเปิดเส้นทางบินกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-มุมไบ ประเทศอินเดีย ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายนเป็นต้นไป

“เชื่อว่าในอนาคตน่าจะสามารถขยายเส้นทางไปยังประเทศอินเดียได้เพิ่มอีก รวมถึงเส้นทางอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ ไทเป ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้”

วอนรัฐช่วยดูแลสายการบิน

“นันทพร” ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมด้วยว่า แม้ว่าผู้ประกอบการสายการบินทุกรายจะกลับมาให้บริการและขยายเส้นทางการบินอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แต่ผู้ประกอบการยังต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอยู่ อาทิ สนับสนุนการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบิน รวมถึงประเด็นการขยายมาตรการลดอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินไอพ่นลิตรละ 0.20 บาทไปจนถึงสิ้นปีนี้ เป็นต้น

เพราะแม้สายการบินจะเริ่มกลับมาบินแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจะมีกำไรในทันที ทุกวันนี้บางไฟลต์ยังขาดทุน จึงอยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลื่อนและลดค่าใช้จ่ายไปอีกสักระยะหนึ่ง