
“การบินไทย” เผยสถานการณ์อุตสาหกรรมการบินเปลี่ยน รุกแก้แผนฟื้นฟูใหม่อีกรอบ ลดกรอบวงเงินใหม่เหลือ 2.5 หมื่นล้าน ชี้ต้องการใช้จริงเพียงแค่หมื่นกว่าล้าน ที่เหลือเก็บสำรองกันความเสี่ยง เตรียมยื่นศาลต้นเดือน ก.ค.นี้
วันที่ 28 มิถุนายน 2565 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ในฐานะคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับแผนฟื้นฟูใหม่ เนื่องจากโครงสร้างธุรกิจ (Business Model) และสภาวะแวดล้อมของอุตสาหกรรมการบินเปลี่ยนไป
- เปิดวิธีลงทะเบียน เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 มีขั้นตอนอย่างไร ?
- ทำความรู้จักบัตรวิสดอมกสิกรไทย ต้องรวยแค่ไหนถึงถือบัตรได้
- สนามบินเยอรมนีป่วน ! การบินไทยยกเลิกเที่ยวบินแฟรงก์เฟิร์ต-มิวนิก 26-27 มี.ค.
โดยประเด็นหลักของแผนดังกล่าวคือ ความจำเป็นในการใช้เงินใหม่ลดลงเหลือ 25,000 ล้านบาท จากแผนเดิมที่ทำไว้ที่ 50,000 ล้านบาท รวมถึงแผนการหารายได้ที่คาดว่าพลิกกลับมาได้เร็วขึ้น โดยบริษัทมีแผนจะยื่นแผนใหม่ต่อศาลล้มละลายกลางในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2565 นี้
ทั้งนี้ วงเงินใหม่ดังกล่าวนี้บริษัทประเมินว่า มีความต้องการใช้จริงเพียงกว่า 10,000 ล้านบาทเท่านั้น โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพื่อนำมาสร้างรายได้เป็นหลัก เช่น พัฒนาบริการบนเครื่องบิน ซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ พัฒนาด้านดิจิทัลเทคโนโลยี พัฒนาช่องทางการขาย เป็นต้น ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินสำรองกรณีฉุกเฉิน เผื่อจำเป็น หรือกรณีที่ต้องลงทุนเพิ่ม
โดยวงเงินใหม่ดังกล่าวจะเข้ามาในในรูปแบบการกู้และการเพิ่มทุนในช่วงปี 2566-2567 ซึ่งการเพิ่มทุนก็จะมีทั้งเพิ่มทุนจากเจ้าหนี้รายเดิม เพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นรายเดิม และเพิ่มทุนจากนักลงทุนใหม่
“การบินไทยมีมูลหนี้เยอะมาก และเจ้าหนี้มีจำนวนมากเช่นกัน เราจึงต้องพยายามดูแลเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นให้เหมาะสม ซึ่งเรายืนยันว่าแผนใหม่ที่เราจะยื่นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ดีกว่าแผนเดิมแน่นอน” นายชาญศิลป์กล่าว
นายชาญศิลป์กล่าวว่า เหตุผลที่ลดกรอบวงเงินใหม่ลงมาเท่าตัวนั้นเนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นตามลำดับ เมื่อรวมกับรายได้ที่เกิดจากการสินทรัพย์บางส่วนออกไป เช่น หุ้นในบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ บาฟส์ ขายหุ้นในสายการบินนกแอร์ ขายอาคารสำนักงานที่ไม่ใช้งาน ฯลฯ รวมมูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีเงินทุนสดเข้ามาหมุนเวียนเพียงพอในระดับหนึ่งแล้ว
“เดือนตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเปิด Test & Go เรามีรายได้รวมประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่ง 87% เป็นรายได้จากการให้บริการขายส่งสินค้า เดือนพฤษภาคม 2565 รายได้เราเพิ่มเป็นกว่า 5,200 ล้านบาท เดือนมิถุนายน 2565 มีรายได้กว่า 5,100 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 7,074 ล้านบาทในเดือนกรกฎคาคม 2565 นี้” นายชาญศิลป์กล่าว
และว่า จากแนวโน้มดังกล่าวนี้ ทำให้บริษัทมีแผนที่จะนำเครื่องบินเก่าที่อยู่ในแผนจำหน่ายออกไปมาซ่อมบำรุงให้กลับมาใช้งานได้เพื่อนำมาเสริมฝูงบินในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้อีกจำนวน 5 ลำ ประกอบด้วย โบอิ้ง 777-200 ER จำนวน 2 ลำ และแอร์บัส A330 อีกจำนวน 3 ลำ
ซึ่งจะทำให้การบินไทยมีจำนวนเครื่องบินในฝูงบินรวม 46 ลำ (ปัจจุบันมี 41 ลำ) เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต (Capacity) ทั้งเพิ่มความถี่เที่ยวบิน และเพิ่มเส้นทางบินใหม่รองรับปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารทั่วโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันเที่ยวบินของการบินมีอัตราการบรรทุกผู้โดสารเฉลี่ยประมาณ 80-90% การเพิ่มรายได้จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนเครื่องบินด้วย
“ในปี 2019 ก่อนวิกฤตโควิดการบินไทยให้บริการอยู่ประมาณ 70 เส้นทางบินทั่วโลก ปลายปีนี้เราน่าจะกลับมาให้บริการได้ประมาณ 55 เส้นทางบิน จำนวนฝูงบิน 46 ลำ ซึ่งในจำนวนนี้มีคาพาซิตี้คิดเป็นประมาณ 40% ของปี 2019 เท่านั้น โดยจะโฟกัสเส้นทางบินที่มีศักยภาพในการทำกำไรเท่านั้น” นายชายกล่าว
และว่า แนวทางดังกล่วนี้จะทำให้การบินไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกว่า 5 พันล้านบาทในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือนได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2565 นี้ และทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งขึ้น