สทท.ชงรัฐอัดฉีดสายการบิน เพิ่มไฟลต์-บินชาร์เตอร์ชิงนักท่องเที่ยว

สทท.ชี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยก้าวสู่ Tourism War Game ทั่วโลกแข่งขันช่วงชิงนักท่องเที่ยว แนะรัฐฉีดยาแรงปลุกดีมานด์ อัดฉีดงบฯซับซิไดซ์สายการบินอินเตอร์เพิ่มไฟลต์เข้าไทย พร้อมหนุนเอเย่นต์ทัวร์ในต่างประเทศจัดชาร์เตอร์ไฟลต์ช่วยขนนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกแรง เผยเป็นความท้าทายใหม่ที่ทั้งภาครัฐ-เอกชนต้องร่วมกันดันเป้านักท่องเที่ยวปีนี้ทะลุ 12 ล้านคน ผ่านจุดเป็นจุดตายของผู้ประกอบการทั่วประเทศ

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยกำลังก้าวสู่ภาวะการแข่งขันเพื่อช่วงชิงนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือเรียกว่า Tourism War Game ซึ่งหลายประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษกิจด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่างเร่งออกกลยุทธ์ทุกรูปแบบมาดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเช่นกัน

ยืนเป้านักท่องเที่ยว 12 ล้านคน

ทั้งนี้ เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นกลไกในการฟื้นเศรษฐกิจประเทศอย่างรวดเร็ว ใช้ทุนน้อย และกระจายรายได้สู่ประชาชนได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม การทยอยผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศอย่างสมดุลและสอดรับกับสถานการณ์ในแต่ละเดือนของไทยในช่วงที่ผ่านมาทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในครึ่งปีแรกได้มาถึง 2 ล้านคน

“ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวของเราเผชิญกับสงครามโควิด-19 แต่ขณะนี้มีแนวโน้มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น แต่เราก็มาเจอกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรง แต่ก็กระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อ ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวทั้งสิ้น” นายชำนาญกล่าว

ตารางนักท่องเที่ยวต่างชาติ

และว่า สำหรับปีนี้ สทท.ยืนยันว่ารัฐบาลต้องร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้เข้ามาให้ได้ไม่ต่ำกว่า 12-16 ล้านคนตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้ เพื่อรักษาการจ้างงานและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้เป็นฐานที่จะทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สามารถอยู่รอดได้

วอนทุกส่วนร่วมขับเคลื่อน

ขณะเดียวกัน ขอเสนอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน โดยมองว่าประเด็นดังกล่าวนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ การท่องเที่ยว
แห่งประเทศไทย (ททท.) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เท่านั้น แต่เป็นความท้าทายใหม่ที่ทั้งภาครัฐ เอกชนทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวงต้องผนึกกำลังกันออกแบบเครื่องมือพิเศษแบบ booster shot และขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันด้วย

อาทิ กระทรวงวัฒนธรรมมาช่วยเรื่อง soft power เติมเสน่ห์ให้กับการท่องเที่ยว กระทรวงการคลัง มาช่วยเรื่อง soft loan ช่วยเติมทุน กระทรวงแรงงานมาช่วยสร้าง soft skill เติมความรู้ กระทรวงดิจิทัลฯ มาช่วยเรื่องพัฒนา software/platform/big data เติมสมองส่วนกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ททท. และ สทท.นั้นต้องจับมือกันทำฮาร์ดเซลเพื่อเติมลูกค้า

ชี้ตลาดเปิด-โอกาสสูง

ด้านนายวิชิต ประกอบโกศล รองประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และที่ปรึกษาสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า การปลดล็อกหรือผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศส่งผลในธุรกิจภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกเดือน โดยพบว่าในครึ่งแรกที่ผ่านมา (มกราคม-มิถุนายน 2565) ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 2 ล้านคน

“ความหวังของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากเราเปิดประเทศเต็มรูปแบบและปลดล็อกมาตรการสำหรับสถานการณ์ประกอบการในประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้เชื่อว่าโอกาสในการกลับมาของนักท่องเที่ยวมีสูงมาก” นายวิชิตกล่าว

และว่า โดยคาดว่าในไตรมาส 2 นี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 3 ล้านคน และเพิ่มเป็น 4.5-5 ล้านคนในไตรมาส 4 และหากโชคดีจีนผ่อนคลายมาตรการเดินทางในช่วงปลายปีจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสรับนักท่องเที่ยวจีนด้วย ดังนั้น โอกาสที่จะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามา 12 ล้านคน จึงไม่ใช่ปัญหา

อุ้มแอร์ไลน์เพิ่มไฟลต์-ชาร์เตอร์

นายวิชิตกล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาหลักของตลาดนักท่องเที่ยวขาเข้าคือ เที่ยวบินขาดแคลน นักท่องเที่ยวที่สนใจมาประเทศไทยไม่สามารถเดินทางได้ ดังนั้น จึงเสนอให้รัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณสำหรับทำโปรโมชั่นร่วม (joint promotion) กับสายการบินต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสายการบินในการเพิ่มเที่ยวบินเข้าประเทศไทย

รวมถึงสนับสนุนงบฯบริษัทนำเที่ยวในต่างประเทศจัดเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (charter flight) เพื่อนำนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งการสนับสนุนเที่ยวบินชาร์เตอร์ไฟลต์ดังกล่าวยังทำให้สามารถเข้าพื้นที่ได้ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง อีกยังเป็นการช่วยกระจายนักท่องเที่ยวและรายได้สู่เมืองรองตามเป้าหมายได้อีกด้วย

“ดัชนีเชื่อมั่น” แนวโน้มดี

รองศาสตราจารย์ผกากรอง เทพรัตน์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยไตรมาส 2/2565 ของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พบว่า ผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว โดยในไตรมาสที่ 2/2565 อยู่ที่ระดับ 53 สะท้อนสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากเมื่อเทียบกับปี 2562

และคาดว่าในไตรมาส 3/2565 สถานการณ์ท่องเที่ยวจะดีขึ้นกว่าไตรมาส 2/2565 โดยมีค่าดัชนีคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวอยู่ที่ระดับ 62

นอกจากนี้ ยังพบว่าในไตรมาส 2/2565 สถานประกอบการเปิดบริการน้อยกว่าไตรมาส 1/2565 กล่าวคือเหลือเพียงร้อยละ 86 เนื่องจากราคาวัตถุดิบและค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก ประกอบกับหมดระยะของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และโครงการ “คนละครึ่งเฟส 4” ส่งผลให้ประชาชนชะลอการใช้จ่ายอีกครั้ง

ขณะที่ในส่วนของการจ้างงานนั้นในช่วงไตรมาส 2/2565 จำนวนการจ้างงานของผู้ประกอบการที่เปิดกิจการขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยธุรกิจโรงแรมร้อยละ 20 คาดว่ามีความต้องการแรงงานเพิ่มในไตรมาส 4/2565 และมีการเปิดบริการร้อยละ 92 ขณะที่ร้อยละ 80 ของโรงแรมทั้งหมดมีรายได้เข้ามาไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสภาวะปกติ โดยมีอัตราการเข้าพักในภาพรวมทั่วประเทศอยู่ที่ร้อยละ 34

“ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐมีนโยบายการเดินทางเข้าประเทศที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยให้สะดวกมากที่สุด” รองศาสตราจารย์ผกากรองกล่าว