“อาเซียน” ยังไกล Stagflation “ท่องเที่ยว-ส่งออก” ฟื้นตัว

อาเซียน

สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลก นำมาซึ่งความเสี่ยงที่หลายประเทศจะเข้าสู่สภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ หรือ “stagflation” ซึ่งเป็นสภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูงเกิดขึ้นพร้อมกันกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย กระทั่งกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง แต่นักวิเคราะห์มองว่า “อาเซียน” เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องและยังห่างไกลจากสภาวะ stagflation

ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ (อาเซียน) กำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากที่หลายประเทศยกเลิกหรือผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอย่างการท่องเที่ยวและการส่งออก กลับมาคึกคัก

โดยประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของอาเซียนมีแนวโน้มการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สูงกว่าอัตราเงินเฟ้ออย่าง “ฟิลิปปินส์” ที่ไตรมาส1/2022 จีดีพีขยายตัวถึง 8.3% สูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค.อยู่ที่ 5.4%

เช่นเดียวกับ “อินโดนีเซีย” ที่ไตรมาสแรกที่ผ่านมาจีดีพีขยายตัว 5.1% ส่วนเงินเฟ้อในเดือน พ.ค.อยู่ที่ 3.55% ใกล้เคียงกับ “เวียดนาม” จีดีพีขยายตัว 5.03% และอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.86% ขณะที่จีดีพีของ “มาเลเซีย” ก็ขยายตัว 5% ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย.ซึ่งอยู่ที่ 2.27%

สำหรับ “สิงคโปร์” และ “ไทย” แม้ว่ามีอัตราเงินเฟ้อจะโตแซงหน้าจีดีพี แต่เศรษฐกิจ ก็ยังคงมีแนวโน้มขยายตัว โดยจีดีพีของ “สิงคโปร์” ในไตรมาส 1/2022 ขยายตัวที่ 3.7% ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อเดือน เม.ย.อยู่ที่ 5.4% เป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ของจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจสิงคโปร์ชะลอตัว ขณะที่เงินเฟ้อของ “ไทย” ในเดือน พ.ค.พุ่งขึ้นถึง 7.1% ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการบริโภคภายในประเทศ และเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของจีดีพีที่ในไตรมาส 1/2022 โตเพียง 2.2%

โดยอาจสะท้อนว่าภูมิภาคอาเซียนยังคงมีความเสี่ยงต่อภาวะ stagflation ต่ำกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก “คูน โกห์” หัวหน้าฝ่ายวิจัยเอเชียของธนาคารเอเอ็นแซด (ANZ) ในสิงคโปร์ ระบุว่า “ปัจจุบันยังไม่มีการพูดถึง stagflation กันมากนัก เนื่องจากหลายประเทศได้ทำให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น พร้อมกับผ่อนคลายข้อจำกัดและเดินหน้าเปิดเศรษฐกิจ”

ทั้งนี้ แรงหนุนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจอาเซียนฟื้นตัวต่อเนื่อง คือ ภาคท่องเที่ยว โดยหลายประเทศมีปริมาณนักท่องเที่ยวกลับมาเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยตัวเลขจากคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์ (STB) ในเดือน พ.ค.พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจำนวน 418,310 คน ขณะที่ประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2022 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยช่วง 5 เดือนแรกรวมกว่า 1.33 ล้านคน

นอกจากนี้ ประเทศผู้ส่งออกของอาเซียนยังได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าที่สูงขึ้นในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างเช่น น้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียและมาเลเซีย ยางพาราจากไทยและมาเลเซีย และถ่านหินของอินโดนีเซีย ขณะที่ “เวียดนาม” ก็กลายเป็นฮับการผลิตแห่งใหม่แทนที่จีนที่มีปัญหาหยุดชะงักจากนโยบาย Zero Covid

พร้อมกันนี้หลายประเทศก็มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนเพื่อรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น อย่างมาเลเซียที่ประกาศตั้งงบประมาณ 630 ล้านริงกิต เพื่อช่วยประชาชนรายได้น้อยท่ามกลางราคาสินค้าที่สูงขึ้น และสิงคโปร์ที่จัดงบฯ 1,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ด้วยเป้าหมายเดียวกัน ส่วนว่าที่ประธานาธิบดี “บองบอง มาร์กอส” ของฟิลิปปินส์ก็มีแผนกำหนดราคาข้าวเพื่อลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อเช่นกัน

“เฟรเดอริก นอยมันน์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียของธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ระบุว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เราเห็นในขณะนี้ คือ การกลับมาเปิดตัวอีกครั้ง สภาพแวดล้อมการเติบโตมีความแข็งแกร่ง และมีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยที่อาเซียนมีความยืดหยุ่นสูงมาก”