ไทยเที่ยวไทย มั่นใจทะลุเป้า “เราเที่ยวด้วยกัน” ปัจจัยหนุนไฮซีซั่นปลายปี

ท่องเที่ยว
สัมภาษณ์

การท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือ Domestic Tourism กลายเป็น “ความหวัง” ในการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของประเทศ แม้ว่าภาพรวมจะอยู่ในภาวะชะลอตัวจากมาตรการเคอร์ฟิวและล็อกดาวน์ประเทศเช่นกันก็ตาม

จากรายงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ปี 2563 มีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยราว 80 ล้านคน-ครั้ง (ปี 2562 มีจำนวน 160 ล้านคน-ครั้ง) มีรายได้สะสมจากการท่องเที่ยวกว่า 4 แสนล้านบาท ปี 2564 มีจำนวนคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 53 ล้านคน-ครั้ง มีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยกว่า 2 แสนล้านบาท และตั้งเป้าสำหรับปี 2565 นี้ไว้ที่ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้กว่า 6.5 แสนล้านบาท

ไม่หวั่นโลว์ซีซั่นปัจจัยบวกเพียบ

สำหรับปี 2565 นี้ “ชัยพฤกษ์ ทองคำ” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงภาพรวม แนวโน้ม รวมถึงแผนในการกระตุ้น “ไทยเที่ยวไทย” หรือการท่องเที่ยวภายในประเทศ ไว้ดังนี้

“ชัยพฤกษ์” บอกว่า ตลาดโดยรวมของการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือ ไทยเที่ยวไทย ตอนนี้ตัวเลขปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก แม้ว่าในช่วงไตรมาส 3 นี้จะเริ่มเข้าสู่โลว์ซีซั่น แต่การที่รัฐบาลต่อโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “ทัวร์เที่ยวไทย” ไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2565 ทั้ง 2 โครงการนี้จึงเป็น “ปัจจัยบวก” สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงโลว์ซีซั่นนี้ ทำให้เชื่อว่าจะได้เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวคนไทยเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

“ผมได้รับข้อมูลจากเอเย่นต์ทัวร์หลายแห่งว่า ขณะนี้ลูกค้าที่เป็นกรุ๊ปเหมาเริ่มกลับมาค่อนข้างเยอะแล้ว ซึ่งธรรมชาติของธุรกิจในช่วงหน้าโลว์ซีซั่นนั้นส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้ากลุ่มคอร์ปอเรต หรือลูกค้ากลุ่มองค์กรจะจัดอบรม ประชุม สัมมนา ให้พนักงาน และส่วนใหญ่เป็นแพ็กเกจ 2 วัน 1 คืน ตลาดนี้ค่อนข้างดี”

“ชัยพฤกษ์” บอกด้วยว่า นอกจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “ทัวร์เที่ยวไทย” ที่เป็นปัจจัยหนุนสำคัญแล้ว การประกาศผ่อนคลายให้คนไทยเปิดแมสก์ได้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไปยังช่วยทำให้บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวมีความสุขมากยิ่งขึ้นด้วย

“โดเมสติก” ขับเคลื่อนธุรกิจ

“ชัยพฤกษ์” บอกอีกว่า แม้ว่าขณะนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากขึ้น แต่ยอมรับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประคองตัวอยู่ได้เพราะตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศ (domestic demand) เป็นขาหลัก

โดยจะเห็นว่าในแต่ละช่วงเวลาจะมีการสลับปรับเปลี่ยนพื้นที่การขายให้สอดรับกับพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยว เช่น หน้าฝนจะขายตลาดคอร์ปอเรต หรือประชุม สัมมนา ในตลาดระยะใกล้ ๆ อาทิ พัทยา หัวหิน เพชรบุรี กาญจนบุรี ฯลฯ

หากเป็นกลุ่มลูกค้าที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวช่วงสุดสัปดาห์ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ก็จะเน้นขายเขาใหญ่ หรือจังหวัดใกล้ ๆ อย่างนครสวรรค์ สุโขทัย รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวในภาคอีสาน หรือถ้าเป็นโปรแกรมเที่ยว 1 วัน หรือวันเดย์ทริป ก็จะขายจังหวัดใกล้ ๆ เช่น อัมพวา สมุทรสาคร ฯลฯ ส่วนในช่วงฤดูหนาวจะขาย น่าน เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ฯลฯ

“ตอนนี้ในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ มีการรีวิวสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อกระตุ้นการเดินทางในช่วงที่คนไทยส่วนใหญ่ยังรอเดินทางออกต่างประเทศ”

ไตรมาส 4 นี้คึกคักแน่นอน

“ชัยพฤกษ์” ย้ำว่า โดยรวมแล้วสำหรับไตรมาส 3 ปีนี้สถานการณ์ของการท่องเที่ยวภายในประเทศไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และจะทวีความคึกคักขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้เป็นต้นไป เนื่องจากธุรกิจเริ่มเข้าสู่ “ไฮซีซั่น” ซึ่งปกติจะเป็นช่วงที่คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศสูงที่สุดเพราะอากาศหนาว

“ตอนนี้โจทย์ของการท่องเที่ยวเราไม่ว่าจะเป็นโรงแรม หรือบริษัททัวร์ คือพนักงานให้บริการไม่เพียงพอ พนักงานที่หันไปทำอาชีพอื่นแล้วไม่กลับมา ทำให้ธุรกิจต้องใช้เวลาในการทำเทรนนิ่งอีกสักระยะ ขณะที่นักท่องเที่ยวเริ่มมาแล้ว ประเด็นนี้ถือว่ายังเป็นปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก”

วอนช่วยผู้ประกอบการ “ตัวเล็ก”

อย่างไรก็ตาม สมาคมอยากนำเสนอให้รัฐให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการในทุกเซ็กเตอร์ด้านการท่องเที่ยวให้สามารถกลับมาฟื้นและช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้ต่อไปเหมือนในอดีต เช่น สนับสนุนในลักษณะให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ยในช่วง 1-2 ปีแรก หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

และสนับสนุนธุรกิจในภาคขนส่งอย่างรถบัสนำเที่ยว เพราะว่ารถบัสเป็นพาหนะหนึ่งที่คนไทยและต่างชาติใช้บริการ โดยปัจจุบันรถบัสยังกลับมาให้บริการได้แค่ประมาณ 10-20% เท่านั้น ส่วนใหญ่ยังจอดอยู่ ซึ่งในจำนวนที่ยังจอดอยู่นี้กว่าจะนำกลับมาให้บริการได้ ผู้ประกอบการต้องใช้งบฯไม่ต่ำกว่า 5 แสนต่อคัน หากไม่มีสินเชื่อด้านซ่อมบำรุง เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยก็จะไม่มีรถบัสรองรับ

“ตอนนี้ควรจัดหาซอฟต์โลนให้กับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอี รวมทั้งออกแคมเปญที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างทั่วถึงจริง ๆ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร บริษัททัวร์ ไกด์ รถบัส ฯลฯ”

รวมถึงยืดอายุการต่อใบอนุญาตจาก 2 ปี เป็น 5 ปี หรือเป็นระยะยาว เพื่อช่วยผู้ประกอบการทั้งในด้านต้นทุนการดำเนินงาน และความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ เหมือนยืดอายุพาสปอร์ตจาก 5 ปี เป็น 10 ปี เป็นต้น

“น้ำมัน” ทุบมู้ดเที่ยวในประเทศ

นอกจากนี้ปัจจัยที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดอีกเรื่องในขณะนี้คือ ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นทุกประเภท เพราะเป็นปัจจัยที่ส่งผลระยะยาวต่อการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เช่น คนอยากไปเที่ยวกลับมาเช็กยอดน้ำมันเพิ่มขึ้น 2 เท่า ก็คิดแล้วว่าอยากไปครั้งที่ 2 หรือ 3 อีกไหม หรือจะเก็บเงินไปเที่ยวต่างประเทศเลยดีกว่า

“จริง ๆ เราควรลดราคาน้ำมัน เพื่อให้ต้นทุนการเดินทางถูกลง เป็นการช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ไม่เช่นนั้นคนก็จะแห่ไปเที่ยวต่างชาติ หรือต้องมีอะไรดึงดูดมากขึ้น เพราะตอนนี้ต่างประเทศในแต่ละประเทศก็ทำโปรโมชั่นเรียกนักท่องเที่ยวไปเยือนอยู่เช่นกัน เราน่าจะต้องทำอะไรที่ดึงดูดทั้งคนต่างชาติให้เข้ามาและกระตุ้นให้คนไทยเกิดการเดินทางมากขึ้นด้วย”

มั่นใจทะลุเป้า 160 ล้านคน-ครั้ง

ต่อคำถามว่า คาดว่าปีนี้การท่องเที่ยวภายในประเทศจะบรรลุเป้าหมาย 160 ล้านคน-ครั้ง ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้หรือไม่ “ชัยพฤกษ์” บอกว่า ส่วนตัวมองว่าเรามีโอกาสสูงมากที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

โดยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมานั้นมีจำนวนคนไทยเที่ยวในประเทศไปแล้วกว่า 60 ล้านคน-ครั้ง และเชื่อว่าในช่วงไตรมาส 3 นี้หลังจากรัฐบาลปลดล็อกทุกอย่าง ทำให้การเดินทางกลับสู่ภาวะปกติ พร้อมทั้งมีแคมเปญสนับสนุนต่อเนื่องจะทำให้มีจำนวนคนออกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และเชื่อว่าในช่วงปลายปี หรือตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วง “ไฮซีซั่น” ของการเดินทางทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศจะทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวของประเทศไทยคึกคัก ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศกันสบายใจขึ้นแน่นอน