ชี้ “โลว์ซีซั่น” ไตรมาส 3 คนไทยวางแผนเที่ยวต่างจังหวัด

ท่องเที่ยวไทย

ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการออกเดินทางในไตรมาสหน้า (ไตรมาส 3/2565) ที่สำรวจโดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

โดยสุ่มตัวอย่างจากกลุ่มมีรายได้มากกว่า 10,000 ต่อเดือน จำนวน 740 คน กระจายในทุกภูมิภาคของประเทศ ระหว่าง 20 พฤษภาคม-10 มิถุนายน 2565 พบว่าในช่วงไตรมาส 3/2565 ซึ่งเป็นโลว์ซีซั่นนี้ ประชาชนร้อยละ 63 มีแผนออกเดินทางไปต่างจังหวัด และร้อยละ 19 ยังไม่ได้ตัดสินใจ

ในจำนวนกลุ่มที่มีแผนเดินทางนั้นพบว่า ร้อยละ 54 พร้อมเดินทางในเดือนกรกฎาคม ร้อยละ 51 มีแผนเดินทางเดือนสิงหาคม และร้อยละ 19 มีแผนเดินทางในเดือนกันยายน

โดยเหตุผลในการเดินทางไปต่างจังหวัดประกอบด้วย ร้อยละ 58 ไปท่องเที่ยวพักผ่อน ร้อยละ 20 ไปทำบุญ/งานบุญ ร้อยละ 15 กลับบ้าน/เยี่ยมญาติ และร้อยละ 15 ทำงาน ประชุม/สัมมนา และร้อยละ 48 วางแผนเดินทางวันเสาร์และอาทิตย์ ร้อยละ 45 เดินทางวันหยุดนักขัตฤกษ์/วันหยุดพิเศษ และร้อยละ 25 เดินทางวันจันทร์-ศุกร์

สำหรับจุดหมายปลายทางของการเดินทางนั้น ภาคใต้ ได้รับความนิยมมากที่สุด (31%) รองลงมาคือ ภาคตะวันออก (21%) ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (17%) กรุงเทพฯ (14%) ภาคกลาง (13%) และภาคตะวันตก (9%)

“ในกลุ่มที่มีแผนเดินทางในช่วงโลว์ซีซั่น 3 เดือนนี้คือ ตั้งแต่กรกฎาคม-กันยายน 2565 ระบุว่า ร้อยละ 58% มีแผนพักค้างคืน 4-5 วัน โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 46 มีแผนเข้าพักในรีสอร์ต/บังกะโล ร้อยละ 31% พักโรงแรม ร้อยละ 17 พักบ้านญาติ ร้อยละ 15 พักบ้านเช่า/คอนโดฯให้เช่า ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ หรือ 41% จองที่พักผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊กลดราคา รองลงมาคือ จองผ่าน OTA หรือ Online Travel Agent และโทรศัพท์จองตรงกับโรงแรม”

ผลการสำรวจยังระบุถึงพฤติกรรมการท่องเที่ยวด้วยว่า คนไทยส่วนใหญ่นิยมเที่ยวจังหวัดใกล้เคียง หรือจังหวัดที่ใช้เวลาไม่นานในสัดส่วนเท่ากับการเที่ยวข้ามภาค (48%) ส่วนคนที่นิยมเที่ยวในจังหวัดตัวเองมีเพียงแค่ 18% เท่านั้น

ผลสำรวจพบว่า ในส่วนของรูปแบบการเดินทางนั้น คนไทยส่วนใหญ่ (57%) ยังนิยมเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว รองลงมาคือ เครื่องบิน (21%) รถโดยสารประจำทาง (8%) รถเช่า (3%) และรถไฟ (3%)

สำหรับกลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจวางแผนเดินทางท่องเที่ยว (19%) นั้นพบว่ามีปัจจัยหลักดังนี้ 1.ราคาสินค้าและค่าครองชีพที่สูงขึ้น (94%) 2.ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น (91%) 3.การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (89%) 4.รายได้ที่ลดลง (56%) และ 5.ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น (55%)

นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาโรงแรมทั่วประเทศมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 34% โดยภาคใต้สูงที่สุดคือ 39% ตามด้วยภาคตะวันตก 36% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 34% กรุงเทพฯ 32% ภาคเหนือและภาคตะวันออก 31% และภาคกลางต่ำที่สุดคือ 28%

ขณะเดียวกันยังพบว่าธุรกิจโรงแรมร้อยละ 92 กลับมาเปิดให้บริการแล้ว แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80% มีรายได้ยังไม่ถึงครึ่งเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด