อุตสาหกรรมการบินของไทยพลิกฟื้น ผู้โดยสารโต 30%

รูปปั้นยักษ์ ประจำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
A traditional Thai statue is pictured wearing a face mask at Suvarnabhumi Airport in Bangkok. (Photo by Jack TAYLOR / AFP)

สนง.การบินพลเรือนเผย ไตรมาส 2 ผู้โดยสารสายการบินในไทยเพิ่มขึ้นกว่า 30% เส้นทางระหว่างประเทศโต ผู้โดยสารเพิ่มกว่า 60% จับตาสายการบินเตรียมเพิ่มค่าตั๋วตามราคาน้ำมันที่พุ่งสูง

วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองเศรษฐกิจการบิน ฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมกิจการการบินพลเรือน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เผยแพร่รายงานสถิติการขนส่งทางอากาศไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2565 โดยระบุว่า ในไตรมาสที่ 2/2565 ประเทศไทยมีจำนวนผู้โดยสารรวมอยู่ที่ 16.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.27 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 31.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา

โดยผู้โดยสารในประเทศเพิ่มขึ้นจำนวน 2.69 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 21.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 และผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจำนวน 2.58 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 63% จากไตรมาสที่ 1

รายงานชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสาร เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางทางอากาศตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา

ขณะที่ปริมาณเที่ยวบินในไตรมาสที่ 2 มีปริมาณเที่ยวบินทั้งสิ้น 131,359 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 21,206 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้น 16.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยเป็นเที่ยวบินในประเทศจำนวน 96,296 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสที่ 1 และเที่ยวบินระหว่างประเทศจำนวน 35,063 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 27.5% จากไตรมาสก่อนหน้า

คาร์โก้ เติบโตต่อเนื่อง

ด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศในไตรมาสที่ 2 ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 โดยในไตรมาสที่ 2 มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศทั้งสิ้น 323.49 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.49 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1

โดยเป็นปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศภายในประเทศจำนวน 7.22 ล้านตัน ลดลง 20.9% จากไตรมาสที่ 1 และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศจำนวน 316.27 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.21% จากไตรมาสที่ 1

ราคาน้ำมันพุ่งสูง

จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ย่อมส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินงานของสายการบิน เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงมีสัดส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับต้นทุนทั้งหมด

โดยสายการบินเต็มรูปแบบมีสัดส่วนต้นทุนเชื้อเพลิงอากาศยานสูงถึง 25.9% ในขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำมีสัดส่วนค่าเชื้อเพลิงอากาศยานสูงถึงร้อยละ 30.8%

ในไตรมาส 2/2565 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 166.7 เหรียญต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นราว 53.2% จากปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น อาจจะยังไม่ส่งผลกระทบไปยังผู้โดยสารในทันที เนื่องจากสายการบินยังคงรักษาระดับค่าโดยสารตามกลไกการตลาดและการแข่งขัน แต่ในท้ายที่สุดเพื่อให้สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น สายการบินจะต้องปรับอัตราค่าโดยสารให้สูงขึ้นสอดคล้องกับต้นทุนที่เปลี่ยนไป

เงินบาทอ่อนค่า

ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่มีแนวโน้มของค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (ปัจจุบัน ณ เวลาที่เผยแพร่รายงานข่าวนี้อยู่ที่ 36.65 อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปี)

การอ่อนค่าของเงินบาทนี้จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวจากต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวสามารถแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐให้เป็นเงินบาทไทยในจำนวนที่มากขึ้น