เมื่อผู้เล่นรายใหญ่บุก NFT เอื้อต่อใคร ศิลปินรายใหญ่ หรือหน้าใหม่?

บนสมรภูมิรบอันดุเดือดของงานศิลปะบนตลาด NFT ที่ตัวศิลปินต่างสร้างผลงานจนประสบความสำเร็จ หลายคน Transform สู่งานดิจิทัลแบบเต็มตัว จนเกิดสังคม ศิลปิน(Artist) และนักสะสม(Collector) หน้าใหม่ ที่เข้ามาซื้องานเก็บสะสม-เก็งกำไร เพิ่มขึ้นทุกวัน

เมื่อตลาดใหญ่ขึ้น เปิดทางให้ผู้เล่นรายใหญ่หลายวงการ ทั้งศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ ต่างกระโดดร่วมวงแข่งขัน สร้างความคึกคักให้กับตลาดมากขึ้น แต่การเข้ามาของรายใหญ่ทุนหนา จะพังโครงสร้าง และเอื้อต่อรายใหญ่ จนกระทบต่อโอกาสศิลปินหน้าใหม่โนเนมหน้าหรือไม่? สุดท้ายทุนนิยมจะครองตลาดหรือเปล่า? ในเมื่ออีกด้านของความสำเร็จ มีศิลปิน NFT หลายคนที่ล้มหายตายจากไป

ฟังมุมมองจาก Gumpoong กำปุ๊ง-ปองณภัค ฟักสีม่วง ศิลปิน NFT ช่างภาพแนว Cinematic ที่เริ่มจากการเป็นศิลปินหน้าใหม่ จนสร้างตัวตน เป็นที่รู้จักจากภาพถ่ายกรุงเทพในมุมมองและเฉดสีที่แปลกตา และสามารถขายงานได้บน NFT

NFT เอื้อต่อศิลปินยุคนี้ยังไงบ้าง

มันเป็นโอกาสของศิลปิน ทั้งการนำเสนอศิลปะและตัวตน ล่าสุดพอได้เจอศิลปินคนหลายๆ คน เค้าค่อนข้างมีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น เหมือนมันไม่มีอะไรมากั้นเค้ากับศิลปะอีกต่อไปแล้ว ว่างานมันจะมีมูลค่ามั้ย หรือเมื่อก่อนทำงานแล้วไม่มีใครเห็น มันอิสระด้วยความที่เราทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องมีคนมาเป็นเอเจนท์ นายหน้า ที่จะมาชี้นิ้วบอกเราว่าควรทำแบบไหนอะไรบ้าง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวศิลปินหมดเลย

ก่อนจะมี NFT กรอบของศิลปินหลายคน น่าจะเป็นสังคม ประเทศ ตัวกลาง ที่ไม่เปิดโอกาสให้นำเสนอสิ่งที่คิดจริงๆ เวลาคนทำงานศิลปะเค้าต้องมีตัวแทน ตอนนี้วิธีการขายมันเปลี่ยนไปจากเดิม แต่ก่อนประเทศไทยไม่มองศิลปะเป็นเรื่องจำเป็นอยู่แล้ว แต่เมื่องานมันออกไปสู่ประชาคมโลก บนออนไลน์ ความหลากหลายมันเกิดขึ้น ทั้งความหลากหลายในความชอบ หลากหลายแนวคิด ตัวงานศิลปะทุกแขนง ตัวศิลปินก็ไม่ต้องตีกรอบให้ตัวเองอีกต่อไป เค้าสามารถสื่อสารกับคนที่ชอบงานเค้าได้โดยตรงเลย

ข้อเสียของ NFT

ข้อเสียมันมีทุกวงการแหละ หนึ่ง เพราะมันอยู่ในโลกดิจิทัล แน่นอนคือสนามเด็กเล่นของแฮ็กเกอร์ การก็อปผลงาน บางคนเซฟงานไปลงเลย แต่มันก็ไม่ใช่ไม่มีวิธีแก้ไขหรือป้องกัน อยู่ที่ว่าเค้าเข้าใจหรือศึกษาพื้นที่ตรงนี้มากน้อยแค่ไหน เราสามารถรับมือกับมันได้

การสร้างจุดเด่น คาแรกเตอร์งาน ที่ทำให้ขายงานได้ เป็นที่สนใจของนักสะสมและหลายๆ คน

ส่วนตัวปุ๊งทำภาพถ่ายแนว Cinematic มาก่อนที่จะรู้จัก NFT ไม่เคยคิดว่าจะทำมันเป็นเงิน พอเจอวิกฤตโควิดสองปีที่แล้ว เราถึงมาคิดว่าจะหาเงินจากภาพถ่ายที่ชอบได้ยังไง แต่เราลืมความคิดนั้นไป ว่าเราจะทำมันเพื่อเงิน พอมันมาเจอ NFT เลยรู้สึกว่า เออ มันทำได้ ต่อยอดได้ มันเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ปุ๊งยังอินอยู่กับมัน เพราะเราไม่ได้ Force ว่าต้องหาเงินจากสิ่งนี้ แค่ทำมันขึ้นมา เราชอบงานตัวเองมาก ยิ้มกับมัน เราก็กล้าเอามาโชว์คนอื่น พอได้รับฟีดแบ็กที่น่าพอใจหรือไม่ชอบ เราก็ไม่สนใจ เราสนใจแค่คนที่ชอบงานเรา ตรงนั้นแหละพาไปสู่การสร้างรายได้

การพรีเซนท์ตัวเอง คอนเนคชั่นใน Community องค์ประกอบสำคัญให้ประสบความสำเร็จ

ทุกคนก็น่าจะพูดเรื่องตัวเองได้ดีอยู่แล้ว ส่วนคอนเนคชั่น ใน NFT คือ Community ก่อนหน้านี้ปุ๊งไม่ชอบคอมเมนต์อะไรในโซเชียล แต่พอมาอยู่ในนี้ เวลาชอบงานใคร ก็จะบอกให้เค้ารู้ เพราะเรารู้ว่ามันต้องการกำลังใจ เมื่อไหร่ที่มีคนชมงานเรา มันเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ เราเองก็อยากให้คนอื่นรับรู้เหมือนกันว่างานเค้าดีนะ หลายคนที่ไม่แน่ใจว่างานตัวเองมันดีมั้ย พอมีคนการันตี มันมีคนที่เชื่อมั่นตัวเองมากๆ และคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง บางคนก็ไปเชื่อคำในแง่ลบ ถ้าเราชอบงาน หรือรู้สึกอะไรก็บอกกล่าวเค้าไปดีกว่า ถ้าคำชมมันสร้างกำลังใจ หรืองานคุณมันทำให้รู้สึกแบบนี้ๆ เค้าจะมองว่างานศิลปะของเค้ามันหน้าที่แล้ว

ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเยอะ รายใหญ่ก็เยอะ กระทบศิลปินโนเนมมั้ย หรือหน้าใหม่ แล้วระยะยาวตลาด NFT เอื้อต่อใครกันแน่

กระทบมั้ย ขึ้นอยู่กับจิตใจของศิลปินเลยนะ ว่าจะปล่อยให้มันมากระทบมั้ย เพราะมันเอื้อต่อคนที่พยายาม และมีประสบการณ์มาพอสมควร ประสบการณ์ก็สร้างได้ด้วยการอยู่กับมัน ศึกษา เรียนรู้ ทำงานศิลปะ วงการนี้มันพิเศษตรงที่ ไม่ว่าคุณเป็นใคร วงการไหน เป็นใคร พอเข้ามาทำอยู่บน NFT มันไม่ได้มีแค่ความสวยงาม หรือชื่อเสียงความดังแล้ว ส่วนตัวปุ๊งเองก็เป็นหน้าใหม่ตอนเข้ามาแรกๆ รู้สึกว่าเรามีดีอะไรใส่ไปให้หมด ไม่ต้องกั๊ก แล้วพยายามตามหาคนที่ชอบงานเราให้เจอ

วงดนตรี หนัง เริ่มเข้ามาแจมวงการ NFT

ตอนนี้ NFT มันกลายเป็นเทรนด์ ไม่ว่าจะเพราะคอนเทนต์ หรือคนที่สนใจจริงๆ คนเราจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่ติดตาม สนใจสถานการณ์ยุคสมัย มันก็เป็น Process หนึ่งของเค้าที่จะต่อยอด อยู่ได้ในวงการ เพิ่มความหลากหลายในสิ่งที่เค้าทำ ซึ่ง NFT ก็เป็นทางเลือกใหม่ที่เพิ่มเข้ามา บางคนอาจจะลองตลาดนี้เพราะเห็นว่ากำลังบูม มันเกิดอะไรขึ้น เค้าคงอยากสัมผัสด้วยตัวเอง เหมือนอย่างบริษัทวีซ่า ซื้อคริปโตพังก์ แล้วก็ลงทวีต เค้าได้ยอดเอ็นเกจจากคนที่ทำ NFT เป็นการขยายตลาด ศิลปินบางคนอาจมีชื่อในประเทศเค้า หรือมีชื่อในวงการนั้นๆ แต่พอมาลง NFT ปุ๊บ ทุกอย่างมันกระจายออกไป มันก็ต่อยอดให้เค้าได้เยอะ

เป็นไปได้มั้ย ที่สุดท้ายพื้นที่ตรงนี้จะถูกกินรวบจากทุนนิยม

พอเราเข้ามาอยู่วงการนี้ เราแทบไม่นึกถึงคำว่าทุนนิยมเลย ระบบนี้ที่เค้าสร้างความ Decentralize (การกระจายอำนาจ) มันเป็นแนวคิดที่ไม่ได้เอื้อต่อระบบพวกนี้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้บอกว่ามันจะเป็นไปไม่ได้ เพราะมันอิสระมากๆ

แต่ทุนหนากว่า มีเงินในการทำงานมากกว่า

อันนั้นมันเป็น Fact ถ้าคุณมีทุนในการ Developer สามารถจ้างทีม พอคุณมีทีม ทำงานไม่เหนื่อย แถมได้งานที่ดีออกมา มันก็อาจจะเอื้อต่อคนพวกนี้มากกว่า แต่คนที่ไม่ได้มีทุนมาก เค้าจะรู้ว่าเค้าเสียเปรียบตรงไหน ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่นำมาขายบน NFT ต้องใช้ทุนทั้งหมด ทุนเยอะกว่า มีโอกาสมากกว่าก็อาจจะจริง แต่ไม่ได้เสมอไป

สามารถหาจุดบาลานซ์ได้มั้ย ที่ทำให้ภาพรวมไปด้วยกันทั้งวงการ ศิลปินทุกคน

เรามองว่าทุกวันนี้มันบาลานซ์ของมันอยู่แล้ว แต่ถ้าพูดถึงเรื่องทุน ในวงการ NFT ช่วงก่อนหน้านี้ก็จะมีการทำ DAO เหมือนการระดมทุนเพื่อวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ สมมติปุ๊งไม่ได้ตั้งจุดประสงค์ไว้ แล้วทำงาน NFT ออกมา คนที่มาซื้อไปก็สามารถมีสิทธิโหวตได้ว่าจุดประสงค์ของ DAO นี้จะให้ปุ๊งเอาเงินไปทำอะไร

โลก NFT ลดทอนความ Pure คุณค่างานศิลปะลงไป

ปุ๊งไม่รู้ว่าความเพียวของศิลปะคืออะไร นิยามไม่ถูกด้วยซ้ำ พออยู่ในยุคปัจจุบันมันค่อนข้างหลากหลาย ปุ๊งว่ามันอยู่ที่วิธีการของแต่ละคนมากกว่า พอมันหลากหลาย พอคนกระโดดเข้ามา มันเป็นปกติที่เค้าอยากให้คนเห็น อยากมีพื้นที่บน NFT มันทำให้สิ่งที่เค้าคิดว่าไม่สามารถทำได้ในโลกจริง เค้าสามารถทำได้บนโลกเสมือนนี้ บางทีความ Pure ของศิลปะ มันอาจจะเป็นเรื่องคุณค่า ซึ่งวิธีการให้ค่ามันก็มีเยอะ งานฉาบฉวยที่อิงกระแสก็มีคุณค่าได้ เพราะศิลปะมันคือการบันทึกเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์อยู่แล้ว งานศิลปะมันมีคุรค่าหมด แล้วแต่ใครจะมอง ถ้าศิลปินเห็นค่ามัน มันก็กลับมาที่ Community พอ Community เห็นค่า มันก็ไปได้

มีคนที่ประสบความสำเร็จและล้มหายตายไปใน NFT

เราก็ไม่สามารถพูดได้ เพราะเราไม่ได้อยู่ใน Position เค้า ไม่รู้ว่าเค้าทำอะไรบ้าง แต่วงการนี้มันเหมือนวิ่งมาราธอน ถ้าใครออกสตาร์ทเร็วเกินไป มันก็เหนื่อยง่าย วิ่งไม่ไหว หรือสภาพร่างกายไม่พร้อมจะวิ่งในระยะยาว เค้าน่าจะมีอย่างอื่นที่รู้สึกว่ามันน่าสนใจ หรือตั้งใจเข้ามาเพราะเรื่องเงิน แต่เค้ายังทำเงินไม่ได้ซักที ก็อาจจะออกไป บางคนหมดกำลังใจ เป็นศิลปินใน NFT มันต้องใจแข็ง ทุกอย่างไม่มีอะไรที่เราคาดเดาได้ ไม่มีใครสอนมาด้วยซ้ำ ใครมีแรงก็ทำต่อไปเรื่อยๆ ใครหมดแรงจะพัก แต่กลับมาคุณอาจเหนื่อยมากกว่าเดิม เพราะมีศิลปินใหม่ๆ เข้ามาทุกวัน Collector หน้าใหม่เกิดขึ้นทุกวัน มันต้อง Active ตัวเองตลอด และเขาใจเทรนด์มัน

มองอนาคตระยะยาวของ NFT ทั้งในมุมศิลปิน และ คริปโต

ใน NFT ART ศิลปินที่น่าสนใจจะมีเยอะขึ้น มีอะไรน่าสนุก แต่วงการนี้มันจะขึ้นๆ ลงๆ เหมือนฟุตบอล ที่ทีมรักแพ้ยับเยินเราก็ยังรักเค้าอยู่ เราก็เผื่อใจว่า มีช่วงลงของมัน อยู่ที่ความเชื่อด้วย ก็เหมือนศาสนา ฟุตบอล แต่ในความเชื่อนั้นมันก็มีประวัติศาสตร์ให้เราศึกษานะ ถ้ารู้สึกอยากได้อะไรประกอบการตัดสินใจ ประวัติศาสตร์บอกเราได้ ไม่ว่าจะการลงทุนกับบิตคอยน์ หรือ Ethereum เราดูได้ว่าแต่ละปีมันเป็นยังไง

เสน่ห์ของภาพถ่ายแนว Cinematic

Cinematic ทั่วไป ส่วนตัวปุ๊งมองว่ามันคือความ Surreal แต่เสน่ห์ของมันคือ บางทีเราถ่ายภาพสถานที่ตรงหน้า แล้วไปทำให้มันดูเหมือนไม่ใช่ตรงนี้ มันเหมือนเป็นการก้าวข้ามจินตนาการบางอย่างไป ที่คนมักยึดติดกับสิ่งที่เป็นอยู่ ว่ามันต้องเป็นอยู่แบบนี้ของมัน เสน่ห์ของมันคือการอินสไปร์คนได้ เค้าสามารถคิดออกนอกกรอบได้กว่าที่เคยทำ เหมือนช่วงที่ปุ๊งเป็นสถาปนิก ปุ๊งไม่สามารถทำอะไรนอกกรอบได้ ดีไซน์มันนอกกรอบได้ แต่มันต้อง Funtional การที่เราจะเปลี่ยนสีต้นไม้เป็นชมพู ม่วง มันเป็นไปไม่ได้ เราเลยใช้ภาพถ่ายเป็นการทดลอง ลองว่าถ้ามันเป็นสีนี้ล่ะ มันจะดูเป็นยังไง