ปัญหาจำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่องเรียกได้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังของ “ญี่ปุ่น” ที่ยังคงมองไม่เห็นทางออก และกลายเป็นต้นตอของปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกมาก หนึ่งในนั้นคือปัญหาบ้านที่ไร้ผู้อยู่อาศัย กระทั่งกลายเป็น “บ้านร้าง” จำนวนมากทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีมากกว่า 10 ล้านหลังในปี 2023
นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า “สถาบันวิจัยโนมูระ” คาดว่าปริมาณที่อยู่อาศัยในญี่ปุ่น ปี 2023 จะเพิ่มขึ้นเป็น 65.46 ล้านยูนิต เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 62.41 ล้านยูนิตในปี 2018 ตามข้อมูลของกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารญี่ปุ่น
ขณะที่สถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติญี่ปุ่นประมาณการว่า ปี 2023 ญี่ปุ่นจะมีจำนวนครัวเรือนราว 54.19 ล้านครัวเรือน ส่งผลให้จำนวนครัวเรือนญี่ปุ่นมีน้อยกว่าปริมาณที่อยู่อาศัยราว 11.27 ล้านยูนิต กลายเป็นที่อยู่อาศัยส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นจาก 8.49 ล้านยูนิตในปี 2018
อย่างไรก็ตาม จำนวนบ้านร้างยังถือว่าเพิ่มขึ้นไม่เร็วนัก เพราะจำนวนครัวเรือนของญี่ปุ่นยังคงขยายตัว แต่เป็นไปในรูปแบบใหม่ที่ต่างไปจากในอดีต คือผู้คนจำนวนมากแยกออกไปตามลำพัง โดยไม่แต่งงานหรือไม่มีครอบครัว ซึ่งการอยู่คนเดียวมากขึ้นของคนญี่ปุ่นกำลังสร้างความเสี่ยงที่จะทำให้ปริมาณบ้านร้างพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต
“เคน มิอุระ” ศาสตราจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโต ชี้ว่า “เมื่อจำนวนครัวเรือนหยุดเติบโต จำนวนที่อยู่อาศัยส่วนเกินอาจเพิ่มสูงขึ้นเป็น 20 ล้านยูนิต หรือ 30 ล้านยูนิตได้ในไม่ช้า” ซึ่งสถาบันวิจัยโนมูระก็คาดว่าบ้านร้างในญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นถึง 23.03 ล้านหลัง ภายในปี 2038
ปัญหาที่อยู่อาศัยเกินความต้องการ ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัยของญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมก่อสร้างที่อยู่อาศัยมาต่อเนื่อง
กระทั่งในช่วงศตวรรษ 2000 มีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ในญี่ปุ่นมากกว่า 1 ล้านยูนิต/ปี แม้ว่าสัญญาณจำนวนประชากรญี่ปุ่นลดลงจะแสดงให้เห็นมากขึ้น แต่การสร้างบ้านหลังใหม่ยังคงเดินหน้า เนื่องจากความต้องการในตลาดยังคงมีสูง
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความไม่นิยมซื้อบ้านมือสองของชาวญี่ปุ่น ส่งผลให้มีบ้านมือสองซื้อขายในตลาดญี่ปุ่นเพียง 14% ถือว่าน้อยมากหากเทียบกับตลาดของ สหราชอาณาจักรที่มีการขายบ้านมือสองในตลาดมากถึง 90% และสหรัฐ 80%
จากการสำรวจในปี 2018 พบว่ามีบ้านเก่าราว 7 ล้านยูนิต จากทั้งหมด 53.6 ล้านยูนิตในญี่ปุ่น ที่ไม่มีความแข็งแรงเพียงพอต่อการรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว และขณะเดียวกันบ้านเก่ามากถึง 34.5 ล้านยูนิตที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประหยัดพลังงาน
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่อุตสาหกรรมสร้างบ้านหลังใหม่ของญี่ปุ่นยังคงเดินหน้าต่อแม้ว่าจำนวนประชากรจะหดตัว ขณะที่บ้านเก่าจำนวนมากถูกทิ้งร้างหลังเจ้าของเดิมเสียชีวิต การรื้อถอนจึงเป็นทางออกในการลดปริมาณบ้านร้างของญี่ปุ่น
“อากิระ ไดโด” หัวหน้าที่ปรึกษาของโนมูระระบุว่า “รัฐบาลจำเป็นต้องหันมาส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เชี่ยวชาญด้านการรื้อถอนบ้านมากขึ้น” ในช่วงต้นปีนี้ รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งยังได้พิจารณาจัดเก็บภาษี เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของสินทรัพย์เร่งรื้อถอนบ้านที่ไร้ผู้อยู่อาศัย หลังจากที่บ้านร้างมากมายกลายเป็นแหล่งทรุดโทรมที่ทำลายความสวยงามของเมือง