“โอเปกพลัส” เล็งลดผลิต ทุบซ้ำ…เศรษฐกิจโลก

โอเปกพลัส
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

การประชุมรัฐมนตรีน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัสที่กำหนดจะมีขึ้นในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ กลายเป็นการประชุมที่ต้องจับตามองมากที่สุด หลังจากนักวิเคราะห์พากันคาดหมายว่า “โอเปกพลัส” ซึ่งเป็นการรวมตัวเป็นพันธมิตรกันระหว่าง กลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก หรือโอเปก กับประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มที่สำคัญ โดยเฉพาะ “รัสเซีย” อาจมีมติให้ปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มลง ระหว่าง 5 แสน ถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเกินกว่านั้น ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1% ของอุปทานทั่วทั้งโลก

เหตุผลของซาอุดีอาระเบียก็คือ ในเวลานี้อุปทานน้ำมันกำลังล้นตลาด ในขณะที่ดีมานด์มีแนวโน้มที่จะอ่อนลง เพราะสภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวม

การปรับลดในระดับดังกล่าวถือเป็นการลดกำลังการผลิตที่มีนัยสำคัญต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่กำลังอ่อนตัวลงเรื่อย ๆ เพราะผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจต่อเนื่องจนกลายเป็นภาวะถดถอยในอีกไม่นาน

การดึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้สูงขึ้น เป็นเป้าหมายของความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ซึ่งผลักดันโดย “ซาอุดีอาระเบีย” พี่ใหญ่ของกลุ่มโอเปกซึ่งเป็นชาติที่ผลิตน้ำมันได้มากที่สุดในโลก นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า ซาอุดีฯต้องการให้น้ำมันดิบกลับมาทรงตัวอยู่อย่างมีเสถียรภาพ เหนือระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง หลังจากลดลงอย่างต่อเนื่องถึงประมาณ 25% เมื่อเทียบกับระดับราคาสูงสุดในเดือนมิถุนายน

หากโอเปกพลัสมีมติเช่นนั้นจริง ก็จะถือเป็นการพลิกผันในเชิงนโยบายครั้งใหญ่ เพราะหลังจากการปรับลดอุปทานครั้งหลังสุดเมื่อราวต้นปี 2020 ที่ราคาน้ำมันโลกดิ่งเหวเพราะการแพร่ระบาดของโควิดแล้ว โอเปกพลัสก็หันมาใช้นโยบายเพิ่มกำลังการผลิตรายเดือนอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว โอเปกพลัสไม่เคยเพิ่มผลผลิตขึ้นได้ตรงตามประกาศก็ตามที

หากมีการปรับลดการผลิตลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันก็จะถือว่าเป็นการปรับลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดเป็นต้นมา

การปรับลดกำลังการผลิตลงมากในระดับดังกล่าว มีแนวโน้มก่อให้เกิดความเสี่ยงใหม่ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวเร็วขึ้นและรุนแรงขึ้น ในขณะที่นานาประเทศพากันขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อซึ่งเกิดจากปัญหาระดับราคาของพลังงานอยู่ในเวลานี้

ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกาโดยตรงอีกครั้ง หลังจาก “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ เพิ่งเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่่อกรกฎาคมที่ผ่านมา หวังกดดันให้ซาอุดีฯเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันขึ้น เพื่อให้ราคาลดลง ทางหนึ่งเป็นการสนองตอบต่อการเรียกร้องของผู้บริโภคทั้งในสหรัฐอเมริกาและในประเทศอื่น ๆ ในอีกทางหนึ่งก็เป็นการลดทอนรายได้จากน้ำมันของรัสเซีย ทำให้สถานะทางเศรษฐกิจของรัสเซียอ่อนแอลง เป็นการบีบทางอ้อมให้ประธานาธิบดี “วลาดิมีร์ ปูติน” หาทางยุติสงครามในยูเครนพร้อมกันไปด้วย

นักวิเคราะห์บางส่วนชี้ว่า หากเป็นการปรับลดกำลังการผลิตในขั้นต่ำสุดคือ 500,000 บาร์เรลต่อวัน อาจทำให้ระดับราคาในตลาดน้ำมันมีเสถียรภาพมากขึ้นได้ แต่หากขึ้นไปถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือมากกว่านั้น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง

เพราะในเวลานี้แม้ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้อ่อนตัวลงก็จริง แต่ในเวลาเดียวกัน ปริมาณน้ำมันดิบที่สต๊อกอยู่ในคลังน้ำมันก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ตลาดพลิกกลับได้ในทันที

อย่างไรก็ตาม แม้โอเปกพลัสจะมีมติปรับลดกำลังการผลิตลงจริง แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีปัจจัยประกอบบางประการที่ไม่รู้กันแน่ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งขีดความสามารถในการผลิตน้ำมันในอนาคตของรัสเซีย ที่นักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่าการผลิตน้ำมันของรัสเซียอาจลดลงเรื่อย ๆ อยู่แล้ว อันเป็นผลจากการแซงก์ชั่นของตะวันตกที่ทำให้ระบบการผลิตขาดเทคโนโลยีที่จำเป็นในการคงการผลิตให้อยู่ในสภาพเดิมได้ ยิ่งอียูเพิ่มความเข้มข้นในการแซงก์ชั่นมากขึ้นในตอนปลายปีนี้ ก็จะยิ่งทำให้กำลังการผลิตของรัสเซียลดลงไปได้อีก

นั่นทำให้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดเช่นกันว่า หากมีมติให้ปรับลดการผลิตลงจริง โอเปกพลัสจะยึดตัวเลขการผลิตใดเป็นฐาน เพราะที่ผ่านมาปริมาณน้ำมันดิบที่ออกสู่ตลาดจริงกับปริมาณการผลิตที่โอเปกพลัสประกาศออกมา แตกต่างกันอยู่ไม่น้อย

ตัวอย่างเช่น โควตาการผลิตของรัสเซีย 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ข้อมูลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) แสดงให้เห็นว่าในความเป็นจริง รัสเซียผลิตน้ำมันป้อนตลาดได้เพียง 10 ล้านบาร์เรลเท่านั้น ขณะที่มีสมาชิกอีกหลายประเทศที่ไม่สามารถผลิตน้ำมันได้ตรงตามโควตาเช่นเดียวกัน

ดังนั้น หากจะให้ส่งผลต่อตลาดจริง ๆ ก็หนีไม่พ้นที่ “ซาอุดีอาระเบีย” ต้องประกาศลดการผลิตของตนลงอย่างมีนัยสำคัญนั่นเอง