ปฏิบัติการใหญ่จาก “สหรัฐ” ตัดมือ-เท้าอุตสาหกรรม “ชิป” จีน

สหรัฐ ชิป
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

คำประกาศล่าสุดของสหรัฐอเมริกา เรื่องจำกัดการส่งออกชิปเซมิคอนดักเตอร์ให้กับจีน ถูกมองว่าเป็นมาตรการที่จะทำให้อุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์ของจีนซวดเซอย่างหนัก และยังอาจเป็นสัญญาณว่าสหรัฐไม่ต้องการกลับไปรื้อฟื้นสัมพันธ์กับจีนอีก เพราะมาตรการรอบนี้นับว่าเข้มข้นกว้างขวางกว่ายุค โดนัลด์ ทรัมป์ โดยพุ่งเป้าไปที่ชิปขั้นสูง เนื่องจากสหรัฐเกรงว่าจะถูกจีนนำไปใช้ทางทหาร หรือออกแบบอาวุธล้ำสมัย

ประเด็นหลัก ๆ ที่ประกาศออกมา ก็อย่างเช่น 1.บริษัทใดก็ตามที่ต้องการส่งออกชิปขั้นสูงไปจีน โดยเฉพาะชิปที่จะใช้ผลิตแอปพลิเคชั่นสำหรับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะต้องมาขอใบอนุญาต 2.บริษัทอเมริกันจะถูกจำกัดอย่างหนักในการส่งออกเครื่องจักรให้กับบริษัทจีนที่ผลิตชิปบางอย่างที่ซับซ้อน

3.แม้แต่บริษัทต่างชาติที่ผลิตชิปที่เกี่ยวข้องกับ AI หรือซูเปอร์คอมพิวเตอร์ โดยใช้เครื่องมือหรือซอฟต์แวร์ อเมริกันในการออกแบบและกระบวนการผลิต จะต้องได้รับใบอนุญาตหากต้องการส่งออกไปจีน

“อบิชูร์ พราคาช” ผู้ก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคตระบุว่า ปฏิบัติการล่าสุดของสหรัฐเป็นสัญญาณแสดงว่า วอชิงตันไม่ได้พยายามจะกลับไปซ่อมแซมความสัมพันธ์กับจีน แต่กลับแสดงออกชัดเจนว่าสหรัฐพร้อมจะทำอะไรมากกว่านี้ในสิ่งที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน

พราเนย์ โคทัสตานี ประธานโครงการเทคโนโลยีขั้นสูงทางภูมิศาสตร์การเมือง สถาบันตักศิลา อินเดีย ชี้ว่า AI ควอนตัมคอมพิวเตอร์และชิปเซมิคอนดักเตอร์เป็นอุตสาหกรรมที่จีนกำหนดให้เป็น “ชายแดน” ด้านเทคโนโลยีที่จีนเล็งจะเพิ่มความสามารถการผลิตภายในประเทศ แต่มาตรการใหม่ของสหรัฐจะทำให้ความฝันของจีนเรื่องนี้มีความยากลำบากสุดขีด โดยเฉพาะเรื่องชิป

“ตอนนี้สหรัฐเปลี่ยนเป้าหมายจากการนำหน้าจีนเรื่องอุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์ ไปเป็นการปฏิเสธไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีชิปขั้นสูง ดังนั้น ภาคการผลิตชิปของจีนจะซวนเซ” โคทัสตานีกล่าว และว่าการถูกตัดขาดเช่นนี้หมายถึงว่าจีนจะต้องกลับไปเสียเวลาในการเรียนรู้เพื่อจะผลิตชิปในประเทศ ซึ่งจะมีต้นทุนสูง และได้ชิประดับล่างที่ไม่น่าเชื่อถือ ทั้งที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับเทคโนโลยีจากบริษัทอเมริกันและญี่ปุ่น

ชิปเป็นสินค้าที่ตกอยู่ในมือบริษัทไม่กี่แห่ง และบริษัทอเมริกันยังมีอิทธิพลสูงต่อบริษัทผลิตชิปที่ไม่ใช่สัญชาติอเมริกัน จะเห็นว่าถึงแม้ปัจจุบันทั้ง TSMC ของไต้หวันและซัมซุงของเกาหลีใต้จะครองส่วนแบ่งตลาดชิปรวมกัน 80% ของโลก แต่บริษัทเหล่านี้จะไม่สามารถผลิตชิปขั้นสูงได้เลยหากไม่อาศัยเครื่องมือ หรือเทคโนโลยีของอเมริกันไปตลอดกระบวนการผลิต

ดังนั้น เมื่อสหรัฐออกมาตรการห้ามส่งออกชิปที่ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีอเมริกันให้กับจีน จึงเท่ากับว่าทั้ง TSMC และซัมซุงไม่สามารถส่งออกชิปให้จีนด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมมาตรการของสหรัฐจึงส่งผลสะเทือนทั่วโลกและเล่นงานจีนได้ และก็เป็นเหตุผลว่าทำไมราคาหุ้นบริษัทเหล่านี้ร่วงลง

ขณะเดียวกัน ภายใต้ประกาศนี้ ประเทศอื่น ๆ จะตกอยู่ใต้แรงกดดันเช่นกัน โดยจะต้องไม่ส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์บางอย่างให้กับจีน บริษัทต่าง ๆ จะต้องได้รับใบอนุญาตหากจะส่งออกเครื่องจักรไปให้โรงงานผลิตชิปของจีน หากโรงงานนั้นผลิตชิปหน่วยความจำ หรือชิปควบคุมการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านการประมวลผลข้อมูลดิจิทัล ขนาด 16 และ 14 นาโนเมตรหรือต่ำกว่า

ผู้เชี่ยวชาญของบริษัทอัลไบรต์ สโตนบริดจ์ กล่าวว่า หากพูดอย่างเบา ๆ บริษัทจีนต้องกลับไปสู่ยุคหินในการผลิตชิป จะมีผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ทั้งสองฝ่าย โดยในส่วนของผู้บริโภคอเมริกันก็จะต้องซื้อสินค้าแพงขึ้น

ด้าน “เหมา หนิง” รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ได้ออกมาวิจารณ์มาตรการนี้ว่า เป็นการละเมิดกฎการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่จะทำให้สหรัฐโดดเดี่ยวและส่งผลร้ายต่อสหรัฐ เป็นการกระทำที่จะรักษาอำนาจผูกขาดด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งไม่เพียงแต่ทำลายสิทธิอันชอบธรรมและผลประโยชน์บริษัทจีน แต่บริษัทอเมริกันจะได้รับผลกระทบเช่นกัน


“การที่สหรัฐใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการค้าและเศรษฐกิจมาเป็นอาวุธ จะไม่สามารถหยุดความเจริญก้าวหน้าของจีนได้”