ธนาคารกลางอังกฤษประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.75% มากสุดในรอบ 30 ปี

ธนาคารกลางอังกฤษ BOE
AP Photo/Frank Augstein, File

ธนาคารกลางอังกฤษ ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3% เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 30 ปี เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงถึงปี 2566

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 เอพี รายงานว่า ธนาคารกลางอังกฤษ หรือ BOE ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี ในวันนี้ ตามติดจากการประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และอีกหลายธนาคารกลางทั่วโลก เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และนโยบายเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของนางลิซ ทรัสส์ อดีตนายกรัฐมนตรี

ธนาคารกลางอังกฤษขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของอังกฤษมาอยู่ที่ 3% หลังจากเงินเฟ้อในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี และทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ คาดการณ์ถึงแนวโน้มที่ท้าทาย และเศรษฐกิจถดถอยระยะยาว เนื่องจากคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงไปจนถึงปีหน้า

แอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ กล่าว ถ้าเราไม่ทำอะไรเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ มันจะยิ่งแย่ลง และไม่มีผลลัพธ์ที่ง่ายในแง่นี้… แม้ธนาคารกลางไม่ควรเพิ่มดอกเบี้ยหลักมากเกินไป แต่ด้วยความไม่แน่นอนที่รออยู่ข้างหน้า ผู้กำหนดนโยบายจะ “ตอบสนองอย่างแข็งขัน” หากจำเป็น

การตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่รัฐบาลของลิซ ทรัสส์ ประกาศลดหย่อนภาษี 4.5 หมื่นล้านปอนด์ (5.2 หมื่นล้านดอลลาร์) จุดชนวนให้เกิดความวุ่นวายในตลาดการเงิน ผลักดันต้นทุน ส่งผลให้นางทรัสส์ออกจากตำแหน่งหลังจากผ่านไปเพียง 6 สัปดาห์

ในแถลงการณ์ของธนาคารกลางอังกฤษ ระบุว่า ราคาพลังงาน อาหาร และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่สูงขึ้น กำลังกระทบกระเทือนประชาชน ครัวเรือนมีการใช้จ่ายน้อยลงในสิ่งอื่น ๆ นี่หมายความว่าขนาดของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรเริ่มลดลง

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 ติดต่อกันของธนาคารกลางอังกฤษ และมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2535 และธนาคารกลางพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อ หลังจากเริ่มเชื่อว่าการขึ้นราคาเป็นผลมาจากปัจจัยระหว่างประเทศที่อยู่นอกเหนือการควบคุม

การตอบสนองของพวกเขาจึงทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นได้ชัดว่าเงินเฟ้อฝังตัวอยู่ในเศรษฐกิจ ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น และค่าจ้างสูงขึ้น

รัฐบาลอังกฤษพยายามปกป้องผู้บริโภคด้วยการจำกัดราคาพลังงาน แต่หลังจากความวุ่นวายที่เกิดจากนโยบายเศรษฐกิจของลิซ ทรัสส์ ซึ่งกระทรวงการคลังได้จำกัดราคาไว้ที่ 6 เดือน แทนที่จะเป็น 2 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2566

ขณะเดียวกัน ราคาอาหารพุ่งขึ้น 14.6% ตลอดปีจนถึงเดือน ก.ย. นำโดยราคาอาหารหลักที่พุ่งสูงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ ขนมปัง นม และไข่

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุ ส่งผลให้ราคาผู้บริโภคพุ่งกลับมาที่ 10.1% สูงสุด ตั้งแต่ต้นปี 2525 และเท่ากับระดับล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม

สมาพันธ์ค้าปลีกอังกฤษ (British Retail Consortium) ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของราคาชาแบบถุง นม และน้ำตาล หมายความว่าแม้แต่ชาที่ ราคาเป็นมิตร ซึ่งคนทั่วประเทศหันไปหาเมื่อพวกเขาต้องการพักจากแรงกดดันในชีวิตประจำวันก็ยังมีราคาแพงขึ้น

เฮเลน ดิกคินสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาพันธ์ค้าปลีกอังกฤษ กล่าวว่า ขณะที่ต้นทุนซัพพลายเชนบางส่วนเริ่มลดลง แต่สิ่งนี้ไม่ได้ชดเชยด้วยต้นทุนพลังงาน ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับผู้ค้าปลีกและครัวเรือน