ดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่า ขณะเฟดขึ้นดอกเบี้ยตามคาด

ดอลลาร์สหรัฐ
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่า ขณะที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยตามคาด เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ให้ลงมาอยู่ที่ 2% รองนายกฯสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เชื่อผลกระทบต่อไทยมีไม่มาก จับตากนง.จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบเดือนพ.ย.นี้หรือไม่

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงาน สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศิจกายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (03/11) ที่ระดับ 37.79/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (02/11) ที่ระดับ 37.57/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก

โดยดัชนีดอลลาร์ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 110.55 ภายหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% ตามคาด สู่ระดับ 3.75-4.00% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ตามที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดแถลงว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้ภาวะเงินเฟ้อที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ให้ลงมาต่ำกว่า 2%

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นไปตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 6 ในปีนี้ และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน หลังจากปรับขึ้น 0.75% ในเดือนมิถุนายน, กรกฎาคม และกันยายน พร้อมส่งสัญญาณว่าจะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม

ล่าสุดเครื่องมือ Fed Watch Tool บ่งชี้ว่านักลงทุนได้ปรับคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดในการประชุมเดือนธันวาคม โดยให้น้ำหนักที่ 56.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0.50 และที่ 43.2% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0.75 อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตาดูตัวเลขผู้ขอสวัสดิการการว่างงานที่จะประกาศในคืนนี้ (03/11) และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่จะประกาศในวันศุกร์ (04/11) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของเฟดต่อไป

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เชื่อว่า ผลกระทบต่อประเทศไทย จากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 0.75% นับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี จะมีไม่มากนัก ขณะที่ต้องติดตามว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมหรือไม่ ในการประชุมรอบปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งรัฐบาลจะไม่ได้เข้าไปแทรกแซง

ทั้งนี้ เชื่อว่า กนง.จะพิจารณาอย่างรอบคอบ จากทั้งสภาพคล่องภายในประเทศ เงินทุนสำรองในประเทศ รวมไปถึงอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสม เพื่อให้ประเทศไทยขณะนี้ซึ่งอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น โดยเฉพาะดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นมาตลอด การอุปโภคบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน รวมไปถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาเกินกว่าเป้าหมาย ซึ่งอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.78-38.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 38.00/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (03/11) ที่ระดับ 0.9834/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (02/11) ที่ระดับ 0.9899/01 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 46.4 ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 29 เดือน จากระดับ 48.4 ในเดือน ก.ย.

ดัชนี PMI ยังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของยูโรโซนยังคงหดตัว โดยหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ทั้งนี้ดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของคำสั่งซื้อใหม่และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9750-0.9839 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9754/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นอกจากนี้นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ในวันนี้ โดยมีการคาดการณ์ว่า BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งนี้

ซึ่งหากเป็นไปตามคาด ก็จะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดของ BoE ในรอบ 33 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2532 และจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 8 นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2564 หลังจากเงินเฟ้อพุ่งทะลุ 10% ในเดือน ก.ย. และระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (03/11) ที่ระดับ 147.17/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นที่ระดับใกล้เคียงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (02/11) ที่ระดับ 147.13/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทำเงินเยนแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.15-148.32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 146.39/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบริการขั้นสุดท้ายเดือนตุลาคมจากเอสแอนด์พี โกลบอล, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) และอัตราการว่างงาน ประจำเดือนตุลาคม

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.5/-8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -13.4/11.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ