เจ้าพ่อชิปไต้หวัน TSMC เผชิญหน้า “สี จิ้นผิง” อีกครั้งเวที APEC

มอริส จาง

ปิดฉากอย่างสวยงามสำหรับการประชุมผู้นำความร่วมมือเขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ งานนี้ไม่ใช่แค่โชว์ความสำเร็จในฐานะภาพลักษณ์ประเทศเท่านั้น แต่ยังแฝงไว้ซึ่ง Soft Power ที่สร้างความประทับใจมากมายแก่ทั้งผู้นำเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 ชาติ

แต่หนึ่งในผู้แทนเขตเศรษฐกิจที่น่าสนใจคือ “ผู้แทนไต้หวัน” ซึ่งต่างจากชาติอื่นเพราะรัฐบาลไทเปไม่ได้ส่งตัวแทนการเมืองเข้าร่วมประชุม แต่บุคคลผู้ทำหน้าที่แทนประธานาธิบดี “ไช่ อิงเหวิน” คือ นายมอริส จาง ผู้ก่อตั้งบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Corp. หรือ TSMC ผู้ผลิตชิปเซตอันดับหนึ่งของโลก

การปรากฏตัวของนายจาง วัย 91 ปี นับว่าน่าจับตามองอย่างยิ่ง ในฐานะผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงชิปคอมพิวเตอร์ ชื่อของผู้แทนท่านนี้ทำให้ไต้หวันถูกหลายฝ่ายพูดถึงและจับตามองอย่างมาก แม้ว่าจะไม่มีธงชาติไต้หวัน หรือเลี่ยงไปใช้ชื่อว่า ผู้แทนไชนีส ไทเป (จีนไทเป) ก็ตาม โดยหลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจประชุมเอเปค นายจางจงโหมว หรือ “มอริส จาง” ได้ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจถึงทัศนะจุดยืนและการบรรลุภารกิจของไต้หวัน

นายจาง กล่าวถึงความประทับใจในการต้อนรับของรัฐบาลไทย ว่า เป็นการจัดประชุมที่สวยงามและรู้สึกอบอุ่นอย่างมาก โดยเฉพาะวัฒนธรรมไทยที่แฝงไว้ในทุกรายละเอียดของงาน ตลอดจนการนำเอาวัฒนธรรมมาผสมผสานกับแนวคิดสิ่งแวดล้อมอย่างลงตัว อีกทั้งการที่ผู้นำทุกเขตเศรษฐกิจสามารถเห็นพ้องกันในแถลงการณ์ นับเป็นหนึ่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของการประชุมในปีนี้

สัมพันธ์สามเส้า

ในระหว่างการหารือมีรายงานจากสื่อต่างประเทศว่า ประธาน TSMC ได้พบปะหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน โดยนายจางกล่าวว่า เขาได้แสดงความยินดีต่อผู้นำจีน ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นสมัยที่สามติดต่อกันด้วย เมื่อถามว่า การประชุมครั้งนี้มีส่วนช่วยลดความตึงเครียดและการแข่งขันของสองชาติหรือไม่ นายจางระบุว่า ผู้นำจำนวนมากเข้าร่วมการประชุมต่างแสดงความคาดหวังเป็นอันมากต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค ส่วนตัวเขากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีโอกาสพบปะกันหลายครั้ง

เมื่อวันก่อนขณะผู้นำจีนไปพักผ่อนในห้องรับรอง ทั้งสองฝ่ายได้ทักทายกัน หลังจากที่พบปะกันล่าสุดเมื่อประชุมเอเปค 4 ปีก่อนที่ปาปัวนิกินี “เราทั้งสองได้พูดคุย ต่างฝ่ายมีความยินดี ประธานาธิบดีสีได้แสดงความเป็นห่วงสุขภาพของผม เป็นการพูดคุยที่เปี่ยมด้วยมารยาท”

เมื่อถามว่า การประชุมครั้งนี้มีผลก้าวหน้ากว่าการประชุมปี 2018 หรือไม่ ผู้แทนจางให้ความเห็นว่า คงยากที่จะนำมาเปรียบเทียบกัน การประชุมครั้งนี้ไต้หวันมีโอกาสได้พบปะกับบุคคลต่าง ๆ มากกว่าในปี 2018 โดยเฉพาะผู้นำจากชาติอื่นที่มาร่วมประชุมเป็นครั้งแรก

เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา นายจางกล่าวว่า เขาได้มีโอกาสพบปะหารือกับนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งสองได้พบกันก่อนหน้าแล้วจากการประชุมแบบทวิภาคี รองประธานาธิบดีแฮร์ริสให้ความสนใจอุตสาหกรรม
ไมโครชิปเป็นพิเศษ ทั้งกล่าวยินดีต้อนรับที่บริษัท TSMC ไปตั้งโรงงานที่รัฐแอริโซนา ผู้แทนจางยังระบุอีกว่า บริษัทได้เรียนเชิญรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมพิธีเปิดโรงงานที่แอริโซนาในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ด้วย อีกทั้งยังเชิญกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมงาน TSMC Ground Alliance สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสองชาติ โดยรองผู้นำสหรัฐได้กล่าวย้ำถึงความตั้งใจของรัฐบาลวอชิงตันในการสนับสนุนไต้หวัน

ส่วนกรณีสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน ผู้แทนจางชี้แจงว่า ท่านเป็นผู้แทนภาคธุรกิจจึงไม่ได้เอ่ยถึงปัญหานี้เป็นพิเศษ แต่มีผู้นำหลายประเทศที่แสดงความคาดหวังต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคนี้ ท่านเห็นว่าข้อนี้น่าจะไม่มีปัญหา “นี่เป็นปัญหาที่ต้องแยกคนละส่วน ผมได้ทักทายประธานาธิบดีสี จิ้นผิงและแลกเปลี่ยนกันดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ไม่ได้พูดถึงประเด็นอื่น”
บทบาทเจ้าพ่อชิป

การมาร่วมวงประชุมของนายจาง ผู้ก่อตั้งบริษัทชิปเบอร์หนึ่งของโลก หลายฝ่ายให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการลงทุนของ TSMC ในกลุ่มเอเปค เจ้าพ่อชิปไต้หวันกล่าวว่า ทางบริษัทได้พิจารณาหลายแห่ง และความจริงการที่บริษัทไปตั้งโรงงานที่แอริโซนา สหรัฐอเมริกา ก็เป็นสมาชิกเอเปคอยู่แล้ว บริษัทเคยไปตั้งโรงงานที่ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็เป็นสมาชิกเอเปคเช่นกัน แน่นอนที่บริษัทยังคงพิจารณาที่อื่น ๆ ด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่ขอลงในรายละเอียด

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีทัศนะอย่างไรต่อความท้าทายในการขยายโรงงานในรัฐแอริโซนา ผู้แทนจางกล่าวว่า ท่านยังคงเห็นว่าต้นทุนในสหรัฐสูงกว่าในไต้หวัน ซึ่งมองว่าน่าจะสูงกว่า 50% เป็นอย่างน้อย แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการย้ายฐานการผลิตของ TSMC ไปยังสหรัฐ เพราะความจริงนี่เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของบริษัทเท่านั้น

และไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับบริษัทใดในสหรัฐ ในส่วนโรงงานของTSMC ยังคงเป็นเทคนิคการผลิตที่ก้าวหน้าที่สุด ซึ่งนี่มีความสำคัญและเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งยวดของสหรัฐ แต่เราก็ไม่ลืมที่จะพิจารณาถึงศักยภาพฐานการผลิตอื่นที่เกี่ยวข้องในชาติสมาชิกเอเปคแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ในฐานะคีย์แมนผู้แทนรัฐบาลไทเป นายจางกล่าวอย่างชัดเจนว่า บทบาทของเขาในการร่วมประชุมเอเปคคือการแสวงหาผลประโยชน์และศักยภาพทางธุรกิจร่วมกันกับบรรดาเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 ชาติ แต่เมื่อถูกถามว่า หากผลประโยชน์ชาติของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของไต้หวัน ไปขัดกับผลประโยชน์ของธุรกิจไต้หวันจะจัดการอย่างไร ผู้แทนจางกล่าวว่า ปัญหานี้ควรให้รัฐบาลไต้หวันเป็นผู้ตอบ เบื้องหลังปัญหานี้มีสมมติฐานมากมาย ในเวทีนานาชาติผลประโยชน์ร่วมกันเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการพิจารณา โดยไม่ใช่เป็นเพียงภาษาร่วมกัน หรือวัฒนธรรมร่วมกันเท่านั้น