ทำความรู้จัก มอร์ริส จาง บิดาแห่งอุตสาหกรรมชิปไต้หวัน ที่เผชิญหน้าผู้นำจีนในเวทีเอเปค

การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สื่อทั่วโลกเพิ่งรับทราบ หลังการประชุมสิ้นสุดไปแล้ว นั่นคือ การพบกันระหว่างผู้แทนไต้หวัน กับประธานาธิบดีจีน ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น นับแต่ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งจีนตอบโต้ด้วยการ “ปิดล้อม” ไต้หวันเพื่อซ้อมรบใหญ่

ผู้แทนของไต้หวัน ที่เข้าร่วมประชุมเอเปคในชื่อ “จีน-ไทเป” คือ นายมอร์ริส จาง วัย 92 ปี ผู้ก่อตั้งบริษัท ทีเอสเอ็มซี ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รายใหญ่ที่สุดของไต้หวันและของโลก

เขาแถลงสรุปผลการประชุมกับสื่อไต้หวัน และสื่อไทยบางสำนัก รวมถึงบีบีซีไทยว่า มีโอกาสได้พบปะและพูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในที่ประชุมเอเปค

“ผมได้แสดงความยินดีต่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กับความสำเร็จในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 … ต่างฝ่ายต่างยินดีและพูดคุยกันด้วยมารยาท”

“ทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันบอกผมว่า ถ้ามีโอกาสพบผู้นำจีน ก็ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงที่จะหารือ หรือเข้าไปทักทาย” นายจาง อธิบาย

อีกหนึ่งการประชุมสำคัญของนายจาง คือ การเดินหน้าโครงการโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในรัฐแอริโซนาของสหรัฐฯ ซึ่งเขาได้หารือถึงเรื่องนี้กับ นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ​ ที่เดินทางเข้าร่วมการประชุมเอเปคแทนประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พ.ย. นายจาง ประกาศว่า โรงงานแห่งใหม่ของทีเอสเอ็มซีในรัฐแอริโซนา จะผลิตชิปขั้นสูงที่สุดของทางบริษัท คือ ชิปขนาด 3 นาโนเมตร

“ชิปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สำคัญมาก” มอร์ริส จาง ผู้ก่อตั้งบริษัท ทีเอสเอ็มซี ประกาศระหว่างการแถลงข่าวในกรุงไทเปของไต้หวัน “ผู้คนเพิ่งตระหนักถึงความสำคัญของมันเมื่อไม่นานมานี้ และล้วนอิจฉาอุตสาหกรรมผลิตชิปของไต้หวัน”

ชิปเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง เป็นชิ้นส่วนสำคัญสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้า ตั้งแต่สมาร์ทโฟน ไปจนถึงเครื่องซักผ้า แต่ด้วยกระบวนการผลิตที่ยากและซับซ้อน ทำให้ทั่วโลกมีผู้ผลิตที่ค่อนข้างจำกัด และเทคโนโลยีผลิตชิปที่ ทีเอสเอ็มซี จะนำไปใช้กับโรงงานในสหรัฐฯ คือ เทคโนโลยีผลิตชิปขนาด 3 นาโนเมตร ที่ถือว่าเป็นเทคโนโลยีล้ำหน้าที่สุดของ ทีเอสเอ็มซี

นายจางเข้าร่วมเวทีเอเปค แทนประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน

ที่มาของภาพ, EPA

เมื่อปี 2563 ทางบริษัทได้ทุ่มเงินกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิปแห่งแรกในแอริโซนา ซึ่งคาดว่าจะสร้างงานขั้นสูงกว่า 1,600 ตำแหน่ง โดยสายการผลิตคาดว่าจะเริ่มขึ้นในช่วงปี 2024

ในส่วนของการสร้างโรงงานในสหรัฐฯ นั้น นายจางยอมรับว่า ต้นทุนการผลิตชิปในสหรัฐฯ จะสูงกว่าไต้หวันกว่า 50% เป็นอย่างต่ำ

“ตามประสบการณ์ของผม (ต้นทุน) น่าจะสูงกว่าเดิม 50% แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการย้ายฐานการผลิต”

หลังมีข่าวการนำเทคโนโลยีการผลิตชิปที่ล้ำหน้าที่สุดของ ทีเอสเอ็มซี ไปยังโรงงานในสหรัฐฯ, บริษัท เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ อิงค์ ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ มภิมหาเศรษฐีรวยที่สุดอันดับ 5 (ตามการจัดอันดับของฟอร์บส์) ได้ทุ่มเงินกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซื้อหุ้นบริษัท ทีเอสเอ็มซี

ทำความรู้จักมอร์ริส จาง

เว็บไซต์ คอมพิวเตอร์ ฮิสทรี (ComputerHistory.org) ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์คอมพิวเตอร์ในสหรัฐฯ ลงข้อมูลประวัติของนาย มอร์ริส จาง ดังนี้

  • มอร์ริส จาง หรือ จาง จงโหมว นักธุรกิจชาวไต้หวัน-อเมริกัน ที่เริ่มทำธุรกิจในสหรัฐฯ ก่อนสร้างอาณาจักรเซมิคอนดักเตอร์ในไต้หวัน เขาเป็นผู้ก่อตั้ง และอดีตประธานบริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง คอมปานี หรือ ทีเอสเอ็มซี ถือเป็นผู้ก่อตั้งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แห่งไต้หวัน
แม้เกษียณอายุแล้ว แต่นายจาง ยังทรงอิทธิพลอย่างมากในไต้หวัน

ที่มาของภาพ, Reuters

  • ปี 2474 – มอร์ริส จาง เกิดที่เมืองหนิงโบ ทางตะวันออกของจีนในปี 2474 ปัจจุบัน จึงมีอายุ 92 ปีแล้ว เขาเติบโตในชีวิตครอบครัวฐานะปานกลาง ที่ต้องใช้ชีวิตผ่านช่วงสงครามมาถึง 3 ครั้ง คือ สงครามกลางเมืองในจีน สงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น และสงครามโลกครั้งที่ 2
  • ช่วงสงครามกลางเมืองในจีน ในปี 2491 นายจาง วัย 17 ปี กับครอบครัวจึงได้ย้ายไปอยู่ฮ่องกง ก่อนไปอยู่ในสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา, นายจาง เข้าศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้สำเร็จ แต่เรียนได้เพียงปีเดียว เขาก็ย้ายไปที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอที โดยศึกษาจบสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท และยังได้ปริญญาเอกอีกใบ สาขาวิศวกรรมเครื่องกลจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
  • นายจาง เริ่มทำงานที่แรกในบริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์ของ ซิลเวเนีย ก่อนย้ายไปทำงานต่อในบริษัท เทกซัส อินส์ทรูเมนส์ (2501 – 2526) ไต่เต้าจนเป็นผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม และรองประธานฝ่ายเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมด แต่ด้วยภาวะแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้เขาถูกลดตำแหน่ง และตัดสินใจลาออกในที่สุด
  • ปี 2527 รัฐบาลไต้หวันชักชวนนายจาง กลับมาริเริ่มองค์กรวิจัยด้านอุตสาหกรรม ซึ่งต่อมาเขาได้ก่อตั้งบริษัท ทีเอสเอ็มซี ในปี 2530 ที่เขาเรียกว่า “โรงหล่อซิลิคอน” เป็นโรงงานที่ใครก็ตามสามารถเข้ามาผลิตแผงวงจรได้
  • “ในอาชีพของผม ผมพยายามทำตามสิ่งที่ผมสนใจ มากกว่าไปในที่เงินจะอยู่” มอร์ริส จาง กล่าวกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์คอมพิวเตอร์

โอกาสสร้างโรงงานในไทย

ช่วงต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวนิคเคอิ เอเชีย รายงานว่า บริษัท โซนี กรุ๊ป เตรียมตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในไทย เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสร้างซัพพลายเชนที่ยืดหยุ่น โดยจะลงทุนเป็นเงินกว่า 2,500 ล้านบาท

โรงงานที่จะสร้างขึ้นในพื้นที่ภาคกลางของไทย จะใช้ผลิตเซนเซอร์สำหรับใช้บ่งบอกสิ่งกีดขวางในรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือรถไร้คนขับ และคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างโรงงานได้ในช่วงต้นปี 2568

เซมิคอนดักเตอร์กำลังขาดแคลนทั่วโลก

ที่มาของภาพ, Getty Images

เมื่อสร้างเสร็จแล้ว จะทำให้ขนาดการผลิตของโซนีในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 70% และเกิดการจ้างงานเพิ่มอีก 2,000 ตำแหน่ง และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในฐานะฐานการผลิตชิปของไทย

ในโอกาสที่ผู้ก่อตั้งบริษัทเซมิคอนดักเตอร์อันดับ 1 ของโลกจากไต้หวันเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค บีบีซีไทยจึงสอบถามว่า แล้วมีโอกาสที่บริษัท ทีเอสเอ็มซี จะสร้างโรงงานเพิ่มในไทย หรือในสมาชิกเอเปคอื่น ๆ อีกหรือไม่

นายจาง ตอบเพียงว่า “ทางบริษัท กำลังพิจารณาความเป็นไปได้หลายแห่ง แต่อันที่จริง การไปสร้างโรงงานในแอริโซนา ก็ถือเป็นสมาชิกเอเปคอยู่แล้ว และสร้างโรงงานในญี่ปุ่น ก็เป็นสมาชิกเอเปคเช่นกัน”

“แน่นอนที่ทางบริษัท พิจารณาที่อื่น ๆ ด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่ขอลงรายละเอียด” ส่วนโรงงานในรัฐแอริโซนานั้น นายจาง ระบุว่า จะมีพิธีเปิดในวันที่ 6 ธ.ค. นี้ โดยได้เชิญรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เข้าร่วมด้วย

“เกราะชิป” พิทักษ์ไต้หวัน

บริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์​ แมนูแฟคเจอริง คอมปานี หรือ ทีเอสเอ็มซี เป็นผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ขั้นสูงคิดเป็นกว่า 50% ของทั้งโลก รวมถึงผลิตชิปให้บริษัทยักษ์ใหญ่ อาทิ แอปเปิล และ ควอลคอมม์

ความเป็นซัพพลายเออร์รายสำคัญของโลก ทำให้ผู้เชี่ยวชาญมองว่า หากจีนรุกรานไต้หวันทางทหาร จะก่อให้เกิดผลกระทบในระดับโลก และสายการผลิตอุปกรณ์สำคัญ ๆ จะหยุดชะงัก ถึงขั้นที่ซีเอ็นเอ็นระบุว่า “จะกระทบเกือบทุกชีวิตบนโลก” แต่ในขณะเดียวกัน การเป็นผู้ผลิตและส่งออกชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้ผู้สังเกตการณ์มองว่า การที่จีนยังไม่บุกไต้หวันในเวลานี้ แม้ความตึงเครียดจะยกระดับขึ้นต่อเนื่อง ก็เป็นเพราะอุตสาหกรรมชิปของไต้หวันด้วย

นายมอริส จาง เคยให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้กับสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสว่า “คนพูดเช่นนั้นคงเพราะบริษัทของเราผลิตชิปจำนวนมากให้กับโลก และคงช่วยให้บางประเทศไม่กล้าโจมตีไต้หวัน เพราะถ้าคน ๆ นั้น เล็งเห็นความสำคัญทางเศรษฐกิจ ผมคิดว่าเขาก็จะยับยั้งช่างใจ ไม่โจมตี”

ทีเอสเอ็มซี เป็นผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ขั้นสูงคิดเป็น 90% ของทั้งโลก

ที่มาของภาพ, Getty Images

แต่ถ้าเกิดสงครามระหว่างจีนและไต้หวันขึ้นจริง “บริษัท (ทีเอสเอ็มซี) จะถูกทำลาย ทุกอย่างจะพังพินาศ”

ดังนั้น ชิป จึงไม่ใช่ชิ้นส่วนสำคัญต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้นสำหรับไต้หวัน เพราะมันกลายเป็นสินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์ ในศึกช่วงชิงอิทธิพลระหว่างสหรัฐฯ และจีนด้วย

เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลไบเดนออกมาตรการแบนนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์จากจีน รวมถึงห้ามส่งออกอุปกรณ์ผลิตชิปไปให้จีน ถือเป็นการพุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมชิปของจีนโดยตรง

รัฐบาลจีนตอบโต้ว่า มาตรการของสหรัฐฯ “ไม่เพียงทำลายสิทธิทางกฎหมายและผลประโยชน์ของบริษัทจีน แต่กระทบต่อผลประโยชน์ของบริษัทสหรัฐฯ ด้วย”  รัฐบาลจีนไม่พอใจ เพราะกำลังผลักดันยุทธศาสตร์การพึ่งพาตนเองในอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ และหนึ่งในนั้นคือ เซมิคอนดักเตอร์ และคาดว่า จีนจะตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการออกมาตรการที่จะเป็นผลเสียต่อทีเอสเอ็มซี ซึ่งมีโรงงานอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้

ผู้แทน “จีน-ไทเป” พบ ผู้นำจีน ในเวทีเอเปค

ในการแถลงสรุปกับสื่อมวลชน หลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในกรุงเทพฯ นายมอริส จาง ยอมรับว่า ได้มีโอกาสพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน

“รำลึกถึงเมื่อครั้งได้พบกันที่ปาปัวนิวกินีเมื่อ 4 ปีก่อน ได้คุยกับผู้นำจีนว่า ปีที่แล้วผมเองก็ได้รับการผ่าตัดกระดูกสะโพก” นายจาง ระบุ

“ประธานาธิบดีสีก็บอกว่า ดูแล้วผมก็สดชื่นดี” แต่เมื่อสื่อมวลชนถามว่า แล้วการพบปะกันครั้งนี้ จะนำไปสู่การลดความตึงเครียดของสถานการณ์และการแข่งขันหรือไม่

“ผู้ร่วมประชุมจำนวนมากต่างก็คาดหวังต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค” นายจาง ตอบ พร้อมเสริมว่า เรื่องความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันนั้น เป็นปัญหาคนละส่วนกันกับที่ตนได้รับมอบหมาย

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ที่มาของภาพ, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

“ไม่ได้พูดสิ่งอื่นใดนอกจากนี้… เรื่องนี้ ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ได้สื่อสารไปหมดแล้ว”

ส่วนความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพนั้น ผู้ก่อตั้งบริษัท ทีเอสเอ็มซี ระบุว่า ประทับใจอย่างมากต่อการจัดประชุมเอเปคของไทย และขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว